Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ห้วงเวลา 1 เดือน นับแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิ (สื่อมวลชนส่วนใหญ่สะกดด้วย ส เสือ เป็น สึนามิ) ถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ฝั่งอันดามันจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการกวาดล้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยแท้ เพราะหากพิจารณาบุคคลที่รัฐกล่าวหาว่า เป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนและทำการจับกุมในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ (ในช่วงปี 2547) ก็ยังไม่มากเมื่อเทียบกับยอดรวมที่รัฐจับกุมในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนว่า เหตุการณ์ความไม่สงบไม่ลดลง ซ้ำร้ายยังเพิ่มความถี่ขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการกุมตัวคือ จ.ยะลา นั้น มีทั้งการวางระเบิด ลอบยิงตำรวจ ครู ข้าราชการรัฐ ประชาชนคนธรรมดา ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากแทบทุกวัน จนนักสังเกตการณ์การเมืองหลายคนถึงกับวิตกว่า หากไม่นับเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว เหตุการณ์ปี 2548 อาจจะเข้มข้นมากกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

--------------------------

ปลายปีที่แล้ว หลัง การจับกุมครูของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา ได้ประมาณ 1สัปดาห์ กองบก.ประชาไท มีโอกาสจับเข่าคุยกับ "รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี" นักวิชาการจากศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รศ.ศรีสมภพ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงเวลา10 ปี
( พ.ศ.2536-2547) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยเข้าบริหารประเทศในปี 2544 จนถึงปัจจุบันนั้น ระดับความรุนแรงถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาฯ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47

"เมื่อเราพิจารณาว่าปี 2544 เป็นปีที่เกิดการถล่มตึก World Trade ในสหรัฐอเมริกาและหลังจากนั้นเกิดวิกฤตการณ์สงครามในอัฟกานิสถาน และสงครามในอิรักของสหรัฐอเมริกา ประการที่สองก็คือ ทำไมความรุนแรงที่ เกิดขึ้นมีระดับของความเข้มข้น (intensity) สูงขึ้นมากโดยเฉพาะในปี 2547 อะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดแนวโน้มใหม่ของความรุนแรงเช่นนี้ มีปัจจัยภายในและภายนอกอะไรที่อธิบายได้ ซึ่งตามมาด้วยข้อสังเกตประการที่สามก็คือมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่การปะทุขึ้นของความรุนแรงเป็นการแสดงออกซึ่งการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ เป็นการประกาศตัวตน(identity) ที่สะสมมาจากพลังอำนาจทางประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ทางวัฒน ธรรม รวมทั้งความผิดพลาดของนโยบายรัฐในห้วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ทำไมการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์จึงปะทุรุนแรงขึ้นในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เวลาอื่นก่อนหน้านี้และหลังจากนี้ ?"

ทั้งนี้เฉพาะปี 2547 ทั้งปี ความถี่ของความไม่สงบสูงกว่า ช่วง 9 ปีก่อนหน้านั้นเกือบ 2 เท่าตัว มี
ศูนย์กลางของความรุนแรงอยู่ที่ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะล่าสุดกรณีการสลายการชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ อ.ตากใบ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน

รัฐเชื่อว่า เหตุการณ์ความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพื่อต้องการสถาปนารัฐปัตตานี ทั้งนี้ขบวนการดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวมากว่า 10 ปี โดยมีแกนนำเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งทางการออกประกาศจับเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและมีการจับสมาชิกผู้ก่อการฯ เพิ่มเติมมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่รัฐพุ่งเป้าไปที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน (ซึ่งไม่เคยปรากฏเอกสารหลักฐานหรือคำแถลงใดๆ ต่อสาธารณะ) โดยอาศัยข้อมูลเก่า บวกกับคำให้การซัดทอดของผู้ต้องหาที่จับได้ก่อนหน้า ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่กลับเห็นว่า เหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ บ้างก็เป็นเรื่องแก้แค้นส่วนตัว หรือเพื่อตอบโต้การใช้อำนาจรัฐ ทั้งบางส่วนยังเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เองด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของ "สะแปอิง" ซึ่งรัฐระบุว่า มีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของรัฐปัตตานี และเพิ่มค่าหัวเป็น 10 ล้านบาทนั้น เป็นบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือ ทั้งในแง่การงานในโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ที่กำลังศึกษาและจบการศึกษาไปแล้วนับแสนคน และโดยบุคลิกของมูเด (ครูใหญ่) ซึ่งเป็นคนสมถะ เป็นนักการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียน การสอน เป็นหลัก ไม่น่าจะเป็นบุคคลในขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามข้อกล่าวหาของรัฐได้

เจ้าหน้าที่รัฐเองก็น่าจะเข้าใจสภาพดี เพราะในวันที่เข้าไปติดตามจับกุมนายสะแปอิงนั้น ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และการเพิ่มค่าหัวว่าที่นายกรัฐมนตรีปัตตานีคนนี้ถึง 10 ล้านบาท นัยว่า เพื่อจูงใจให้ผู้ทราบเบาะแสหรือแม้แต่ผู้ให้ความช่วยเหลือนายสะแปอิง กลับใจมาร่วม มือกับภาครัฐแทนนั้น ไม่อาจลบล้างความเคลือบแคลงใจของประชาชนต่ออำนาจรัฐได้
ความคลุมเครือคลางแคลงใจดังกล่าว นอกจากไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐซี่งย่ำแย่อยู่แล้ว ยังอาจจะผลักให้คนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้ร่วมอยู่ในขบวนก่อการร้าย ต้องเข้าร่วมขบวนการเนื่องจากเข้าใจว่า รัฐมีความอยุติธรรม กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เพียงเพื่อสร้างผลงานเอาหน้าหรือฉวยสถานการณ์ทำลายขั้วขัดแย้ง

มีผู้วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ 3 จังหวัดใต้จะยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ซึ่งเดิมเป็นจังหวัดที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยที่สุด เนื่องจากวิธีการเหวี่ยงแหของรัฐ ซึ่งจนถึงวันนี้เหตุร้ายในยะลายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันนี้มีเหตุวางระเบิดทำให้คนตายเจ็บกว่าครึ่งร้อย

ที่เขียนคงไม่ได้หมายความว่า จะให้เลิกแก้ปัญหาหรือไม่จับกุมผู้ก่อความไม่สงบมาลงโทษตามกฎหมาย แต่หากรัฐต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงใจ ก็จำเป็นต้องแยกมิตรแยกศัตรู แยกประชาชนออกจากผู้ก่อการร้าย ถึงจะมีโอกาสจัดการปัญหาได้อย่างแท้จริง

มิเช่นนั้น ไฟใต้ที่ยากจะมอดอยู่แล้วนั้น จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จนยากจะหวนคืนหาความ
สงบสุข

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net