Skip to main content
sharethis

"งานสำคัญของเราคือการเร่งฟื้นฟูให้ชีวิตที่ยังอยู่กลับมาใช้ชีวิตและสามารถทำมาหากินได้ดังเดิม"

เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2548 คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ได้จัดการประชุมทางวิชาการ "สมัชชา กป.อพช. วาระประชาชนเพื่อความเป็นไท" โดยได้มีการจัดเวทีสัมมนาวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากนโยบายรัฐและการประกาศวาระประชาชนเสนอสังคมใหม่ที่เป็นไปได้

ทั้งนี้ได้มีการนำประเด็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคใต้ กรณีซึนามิมาเป็นหนึ่งในหัวข้อการพูดคุยด้วย โดยได้มีการจุดเทียนไว้อาลัยแด่วิญญาณผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ได้กล่าวถึงบทบาทการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าร่วมทำงานกับทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาหลังเกิดเหตุการณ์ว่า

" หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในระยะแรก แน่นอนว่างานที่ต้องทำช่วงนั้นคือการช่วยเหลือ พวกเราส่วนหนึ่งก็เข้าไปร่วมทำงานกับคณะอาสาสมัครในเรื่อการค้นหาศพ ระบบข้อมูลคนหาย ฯลฯ บางส่วนก็ทำงานในแค้มป์ (ผู้ได้รับผลกระทบ) งานด้านการรับบริจาค การกระจายของบริจาค ... และบางส่วนก็เข้าไปในพื้นที่ ในหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างไกลที่นานมากกว่าความช่วยเหลือจะเข้าไปถึง ซึ่งชาวบ้านที่เป็นชาวประมงต้องช่วยกันเองไปก่อน เช่น ช่วยกันออกเรือไปดูว่ามีใครรอดเหลือลอยคอในทะเลก็รับกลับมาในฝั่ง..."

"ถึงตอนนี้แล้วงานช่วยเหลือ งานรับบริจาคมีเข้ามามาก สิ่งที่เราได้เรียนรู้และสำคัญมากคือ เราพบสิ่งมีคุณค่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ "พลังจากจิตใจอาสาสมัคร"ของคนในสังคมไทย อย่างไรก็ดีความช่วยเหลือที่เข้ามาบางครั้งมันมีความละเอียดอ่อนมาก เหมือนกัน เราพบบทเรียนมากมายจากการแก้ปัญหาใน"ระยะของความช่วยเหลือ" เช่น การบริจาคโดยการนำเครื่องบินบรรทุกมาม่าหมูสับไปโปรยลงในเกาะแห่งหนึ่งซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิม เป็นต้น"
ระยะหลังนี้เราจึงต้องเริ่มมาตั้งหลักคิดกันต่อยาวๆไปข้างหน้าว่า ยังมีภารกิจอีกมากมายที่ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร ชุมชนจะฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ และสามารถพึ่งตัวเองในระยะยาว ในขณะที่งานของส่วนอื่นๆได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนของรัฐเน้นเรื่องการชดเชยความเสียหาย แต่บทบาทของเรามองเรื่องการสร้างพลังชุมชน หรือคนในชุมชนให้สามารถดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดได้

เราได้เข้าไปทำงานกับชุมชน ชาวบ้านเองก็บอกแก่เราว่าในการให้ความช่วยเหลือแบบสงเคราะห์นั้นทำได้ในช่วงระยะแรก แต่ไม่ควรใช้กระบวนการแก้ปัญหาแบบช่วยเหลือเพียงด้านเดียวในระยะยาว เพราะการที่คนที่เคยดูแลครอบครัวและยืนหยัดด้วยตัวเองมาตลอด แต่ต้องมายืนเข้าแถวเพื่อรอรับของบริจาคนั้น ได้บั่นทอนศักดิ์ศรีของคนพอสมควร และไม่ควรปล่อยให้เกิดภาวะนี้นานมาก เพราะจะเป็นการสร้างภาวะกดดันในใจ ทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาว

"การทดแทนความเสียหาย ไม่ควรมองแค่ราคาของบ้าน1 หลัง หรือเรือ 1 ลำเท่านั้น แต่ต้องมองถึงสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยว่าเขาต้องการเพียงแค่ค่าชดเชย หรือต้องการที่จะก่อร่างสร้างตัว หรือสร้างครอบครัวกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง"

ดังนั้นงานสำคัญของเราคือการเร่งฟื้นฟูให้ชีวิตที่ยังอยู่กลับมาใช้ชีวิตและสามารถทำมาหากินได้ดังเดิม คำถามที่พวกเราจะลงไปทำงานกับชาวบ้านจึงแตกต่างกับคำถามในช่วงที่ผ่านมา เราจะไม่ไปตั้งคำถามเพียงแค่ว่า "มีอะไรเสียหายบ้าง ราคาเท่าไหร่" แต่เราจะถามว่า "ทำอย่างไรคุณจะกลับมาเริ่มต้นทำมาหากินได้ดังเดิม" ด้วย

เช่น ที่หมู่บ้านเกาะมา อ.กันตรัง จ.ตรัง เป็นหมู่บ้านชาวประมงที่เคยมีเรือประมงกว่า400ลำ ซึ่งหลังเหตุการณ์ซึนามิเรือประมงเสียหายไปกว่า200 ลำ เราถามว่าทำอย่างไรจึงจะออกหาปลาได้อีกครั้ง ชาวบ้านก็ช่วยกันออกความเห็นจนในที่สุดก็ได้แนวทางว่าจะเอาเรือที่เหลือออกหาปลาร่วมกันก่อน คนที่เหลือไม่ได้ออกทะเลก็ช่วยกันหาเครื่องมือซ่อมเรือ ....

ที่เกาะลิบง มีเรือประมงของหมู่บ้านชาวประมงในเกาะประมาณ 4 หมู่บ้านเสียหายจำนวนมาก ตอนนี้ชาวบ้านต้องไปรับจ้างเก็บขยะชายหาดเพื่อหาข้าวกินไปวัน ๆ เพราะไม่มีเรือออกทะเล และการที่จะหาเรือใหม่กันเองก็ต้องไปรุกป่าตัดไม้มาทำเรือจำนวนมาก และคงใช้เวลานานกว่าที่แต่ละครอบครัวจะกลับมาออกทะเลได้อีก ชาวบ้านจึงเสนอว่าอยากตั้งศูนย์/อู่ซ่อมเรือรวมกัน คือถ้ารวมกันทำก็จะสามารถสั่งซื้อไม้จำนวนมากจากมาเลเซียเข้ามาส่งให้ได้ ระดมช่างและเจ้าของเรือเองก็มาช่วยกันสร้างเรือด้วยกันได้ งานก็จะเสร็จเร็ว ชาวบ้านก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตทำมาหากินด้วยตัวเองได้เร็วขึ้น ซึ่งโครงการอู่เรือร่วมนี้จึงเกิดขึ้นด้วยชุมชนที่ต้องการสร้างตัวเอง และยืนหยัดต่อไปด้วยตัวเองได้
"ซึ่งตอนนี้ถ้าใครอยากช่วยเหลือแบบมีเป้าหมายให้ชุมชนซึ่งยังมีคนที่ยังมีชีวิตรอดเหลืออยู่ได้กลับไปยืนหยัดใช้ชีวิตข้างหน้าต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี ก็เข้าร่วมสนับสนุนโครงการอู่เรือรวมได้ เพราะเค้าต้องการเครื่องมือต่อเรือ เครื่องปั่นไฟ ศาลาเก็บไม้ หรือแม้แต่การบริจาคเป็นข้าวสารที่จะให้เค้ากินในระหว่างซ่อม-สร้างเรือใหม่ก็ได้...."

วราลักษณ์ ไชยทัพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net