Skip to main content
sharethis

เจริญ คัมภีรภาพ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
==================================

"การค้นพบการนิติบัญญัตินั้น อันตรายยิ่งกว่าการค้นพบระเบิดปรมาณู" ข้อสังเกตจากปราชญ์เมธีทางกฎหมายคนหนึ่ง ที่เจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบในหลักการ ไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา

ข้ออธิบายเพิ่มเติมในอานุภาพของกฎหมายก็คือ เพราะรัฐสามารถนำกฎหมายไปบังคับกดหัวประชาชนในทุกอณูของสังคม ทั้งวันนี้ วันพรุ่งนี้ 10 ปี 100 ปี รวมตลอดถึงคนที่ยังไม่เกิด

"เพราะฉะนั้น การจะเขียนกฎหมายอะไรสักอย่างมาใช้ในสังคม เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก อย่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เขาเขียนนี้มันน่ากลัวมาก มันทำให้คนเป็นคนตายในทางเศรษฐกิจอย่างง่ายดาย" เจริญกล่าว

"ใครเป็น" และ "ใครตาย" จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ?

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แจงต่อคำถามข้างต้นว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเกิดขึ้นนี้ จะไปให้สิทธิพิเศษแก่คนที่อยู่ในเขต ให้ได้สิทธิที่คนอื่นไม่ได้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น สิทธิด้านภาษี สิทธิด้านแรงงาน (รายละเอียดเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่านประกอบข่าว) แต่คนอยู่นอกเขตก็ยังต้องทำตามกฎหมายต่อไป

"สรุปแล้วมันสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่คน ขณะเดียวกันก็สามารถทำลายประโยชน์ของอีกคนได้ ตรงจุดนี้มันจะไปกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แสดงว่าสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองคุ้มครอง ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ในเขตนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแก้กฎหมายการนิคมฯ เสียแล้ว แต่เป็นเรื่องที่จะทำให้ใครเกิดใครตายในทางเศรษฐกิจได้โดยง่าย" อาจารย์เจริญกล่าว

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า รัฐจะเอาเงินจากไหนมาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน และเงินภาษีอากรก็ได้จากภาษีทางตรง เก็บจากคนทั้งประเทศ จากคนยากคนจน กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ รัฐบาลกำลังเอาเงินจากคนยากคนจนไปใช้ หรือหากกู้เงินจากต่างประเทศ รัฐบาลก็เอาผลประโยชน์ของคนในอนาคตไปใช้กับกิจกรรมตรงนี้ แต่ผลตอบสนองไม่ได้ถึงมือประชาชน

ผลประโยชน์ของใคร เกี่ยวอะไรกับเอฟทีเอ?

นักวิชาการด้านกฎหมายยังตั้งข้อสังเกตประการสำคัญเกี่ยวกับผลประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจว่าเชื่อมโยงกับการเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) อย่างแยกไม่ออก เนื่องจากสิทธิต่างๆ ที่ร่างพ.ร.บ.นี้กำหนดขึ้นจะมีความเชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรียกร้องผ่านประเทศที่เป็นคู่เจรจาเอฟทีเอกับไทย นั่นหมายความว่า ประเทศไทยยังไม่ทันไปเจรจา ยังไม่มีประเด็นเจรจาโดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา แต่ก็จะดำเนินการเรื่องนี้รองรับก่อน

"กฎหมายนี้ครอบคลุมถึงฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมหมด เพราะจะโยกอำนาจไปให้เขตเศรษฐกิจบริหารจัดการ ในเขตเศรษฐกิจอาจมีการทำไร่จีเอ็มโอได้สบายมาก และร่วมทุนกับต่างประเทศทำการวิจัยหาประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย ตรงจุดนี้อาจเป็นทางออกให้ CEO เพื่อแลกกับ ผลประโยชน์เอฟทีเอโดยไม่กังวลว่าจะทำตามข้อเรียกร้องเขาอย่างไร" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

นอกจากนี้เจริญ คัมภีรภาพ ยังกล่าวถึงการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีนัยสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า Geographical Politics หรือ ภูมิศาสตร์ทางการเมือง

ภูมิศาสตร์ทางการเมืองของเอเชีย เป็นที่ทราบกันดีว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีความยิ่งใหญ่ และสหรัฐอเมริกาไม่สามารถบังคับระบบค่าเงินหยวนของจีนได้ ทำให้กลุ่มประเทศทุนนิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่นซึ่งบริหารเศรษฐกิจในเอเชียแบบสอดคล้องกับสหรัฐฯ มองการเติบโตของจีนว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา อันตรายต่อกลุ่มทุนของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานการสร้างนโยบายเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นจึงเป็นพี่เบิ้มในการสร้างเงื่อนไขกำหนดทิศทางการพัฒนาในเอเชีย

นั่นหมายความว่า การทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจ ก็เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าและบริการทั้งหลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญมากกับประเทศจีน ทำให้การขยายตัวของจีนได้รับผลกระทบ ฉะนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงมีความสำคัญในแง่การบริหารยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพิเศษในเอเชีย โดยมีกลุ่มทุนนิยมบริหารยุทธศาสตร์นี้ผ่านประเทศไทย เพื่อปิดล้อมจีน หรือทำให้ขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนมีคู่แข่งที่สำคัญ

"อย่าลืมว่าการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษก็คือ การให้สิทธิพิเศษ ซึ่งก็คือการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดกำไรสูงสุด เกิดการแข่งขันในตลาดโลก โดยยืมมือประเทศไทย ซึ่งก็จะยิ่งชัดเจนว่าการเกิดขึ้นของนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นโดยความต้องการในบริบทสังคมไทย และอย่าลืมว่าโลเคชั่นของไทยมันเหมาะ เพราะตรงนี้มันมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กันหมด ทางใต้ก็เกี่ยวพันกับอ่าวมะละกา การคุมพลังงาน" อาจารย์เจริญ กล่าว

นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังมีสิทธิในการเฉือนที่ดินของรัฐ แล้วนำมาพัฒนาเพื่อนำไปจำหน่ายในหมวดที่การได้มาซึ่งที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังให้ผู้ที่ประมูล อสังหาริมทรัพย์ไปจาก องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศที่หาส่วนเกินในจุดนี้ โดยคำในกฎหมายใช้ว่า "อสังหาริมทรัพย์ซึ่งรวมถึงอาคารสถาน โบราณสถานต่าง ๆ" ที่อาจจะถูกนำมาใช้ประโยชน์แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

"กฎหมายนี้นำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในการแย่งชิงฐานทรัพยากร การโอนสิทธิหรืออนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมาจัดการนโยบายสาธารณะจะเกิดขึ้นอย่างมาก ปราศจากข้อจำกัด และตรวจสอบจากสังคม และกลไกตามกฎหมายที่เลวร้ายแบบสุด ๆ คือ ค่าโง่ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นอย่างมาก เพราะระบบควบคุมจะอาศัยตัว "สัญญา" ที่ไม่ได้มีรากมาจาก พรบ. ที่จัดตั้งองค์กรจัดการบริการสาธารณะ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์เชิงคุณค่าในเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นกรอบในการบริหารจัดการ แต่สถานะของ
เขตเศรษฐกิจนั้น จะทำหน้าที่เท่ากับเอกชน" ข้อสังเกตจากนักกฎหมายจุฬาฯ

แม้เป็นเพียงข้อสังเกตบางส่วนของนักวิชาการด้านกฎหมาย แต่เป็นคำถามสำคัญมากที่รัฐบาลต้องให้ความกระจ่างแก่สังคมไทย ที่ไม่ได้ร่วมคิด ร่วมสร้างในสิ่งที่รัฐบาลนำเสนออยู่นี้แต่อย่างใด

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net