Skip to main content
sharethis

ประชาไท-20 มค.48 นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย(มพศ.) กล่าวถึงกรณีที่กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนมีประกาศห้ามชาวเกาะลันตาที่บ้านเรือนเสียหายจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเข้าไปสร้างบ้านในที่อยู่เดิม โดยทางรัฐจะจัดสร้างบ้านถาวรในที่อาศัยใหม่

"ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายไป เนื่องจากห่างจากที่ดินเดิมซึ่งเป็นที่ชายทะเลถึง 5 กม.ทำให้ขัดกับอาชีพประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ติดกับวัดไทยและสุสานจีน (ฮวงซุ้ย) แต่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ตอนนี้มีชาวบ้าน 9 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของทั้งหมดที่ประสบภัยได้ยืนยันว่าจะกลับเข้าไปอยู่ที่เดิม" นายจำนงค์ กล่าว

นายจำนงค์ กล่าวอีกว่าปัญหาการทำงานในพื้นที่หลังเหตุการณ์สึนามิคือ ในช่วงแรกๆ กลุ่มเครือข่ายประชาชนต่างๆเข้าไปในพื้นที่เพื่อรวมกลุ่มคน จนเมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ต่างก็ลงมาพยายามจัดการเองทุกอย่าง

ส่วนคนทำงานกลุ่มต่างๆที่ไม่ใช่ข้าราชการถูกกีดกันและกดดันให้ออกจากพื้นที่ เช่น มูลนิธิดวงประทีปซึ่งจัดตั้งศูนย์พักชั่วคราวก็พบความขัดแย้งกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือชาวบ้านที่เริ่มปลูกบ้านเองก็มีเจ้าหน้าที่จากอำเภอเข้ามาตรวจ และมพศ.เองก็ต้องยุบศูนย์ข้อมูล

ด้านนางศรีสุดา รักษ์เผ่า รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ไม่ทราบและไม่เคยเห็นประกาศห้ามฯดังกล่าวเลย แต่คาดว่า เป็นการห้ามตามนโยบายที่ไม่ให้อาศัยบริเวณที่สาธารณะ

เนื้อหาในประกาศ ระบุว่าห้ามรุกล้ำที่สาธารณะและห้ามปลูกสิ่งก่อสร้าง โดยอ้างตามพรบ.ป้องกับภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับชาวบ้านที่อาศัยในที่สาธารณะ แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นซึนามิ รัฐเสนอให้เงินครัวเรือนละ 3 หมื่นบาทเพื่อให้ย้ายออก และสำหรับครัวเรือนบนเกาะลันตา จะได้ 1 แสนบาท

ขณะที่ชาวมอแกนเตรียมคืนถิ่นกลับพื้นที่ริมทะเล ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
โดยในวันที่ 21ม.ค.เวลา 06.00 น. ชาวมอแกน 70 ครอบครัว รวมกว่า 300 ชีวิต ซึ่งขณะนี้พักอาศัยชั่วคราวที่อบต.คึกคัก จะเดินเท้ากลับสู่ภูมิลำเนาเดิมที่เคยอาศัยมากว่า 30 ปี

ก่อนหน้านี้ อบต.คึกคักแจ้งว่า ต้องการให้ชาวมอแกนที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทะเล ต.คึกคัก อำย้ายไปอยู่ที่ทุ่งพุเตียว จ.พังงา ซึ่งอยู่ไกลจากทะเลไปประมาณ 30 กม. ทำให้ขัดกับวิถีชีวิตของชาวมอแกนที่ทำมาหากินตามท้องทะเล

ชาวมอแกนจึงเรียกร้องว่าจะกลับเข้าสู่ที่อยู่อาศัย โดยจะเข้าทำการปักเขตจับจองพื้นที่เดิม และอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการ

พจศนา บุญทอง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มปะการังได้เดินทางกลับคืนถิ่นบริเวณแหลมปะการัง ซึ่งต่อรองกับกรมทางหลวงได้เรียบร้อยแล้วว่า พื้นที่เดิมที่ชาวบ้านเคยพำนักก็ให้เป็นที่อยู่อาศัยได้ และให้ชายหาดปะการังเป็นที่ต่อเรือเพื่อประกอบอาชีพได้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net