Skip to main content
sharethis

จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานการณ์ผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติหลังประสบภัยพิบัติซึนามิในพื้น ที่ จ.พังงาและ จ.ระนองเมื่อวันที่ 11 - 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยทำการสำรวจ 3 พื้นที่หลักได้แก่ ต.เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งประสบภัยขั้นร้ายแรง อ.คุระบุรี จ.พังงา ในฐานะพื้นที่รองรับการเคลื่อน ย้ายของแรงงาน และพื้นที่ จ.ระนอง พื้นที่รองรับและศูนย์ส่งกลับ

สถานการณ์เบื้องต้นของแรงงานข้ามชาติ

พื้นที่ อ.ตะกั่วป่าเป็นพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในพื้นที่ของ จ.พังงาทั้งหมด โดยตัวเลขการขออนุญาตทำงานอย่างเป็นทางการของจำนวนแรงงานข้ามชาติมี5,139 คน คิดเป็นร้อยละ 22.67 ของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่มาขออนุญาตทำงานในจังหวัด (ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานที่ไม่ได้มาจดทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตทำงานอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ)

โดยกลุ่มดังกล่าว ทำงานอยู่ในกิจการประมงทะเลและต่อเนื่องจากประมงทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านน้ำเค็มซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นเป็น งานก่อสร้าง ภาคเกษตร และภาคบริการอื่น ๆ เช่น ขายของหน้าร้าน รับใช้ในบ้าน ลูกจ้างในบังกะโล

จากการสอบถามข้อมูลจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เชื่อได้ว่า มีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้แต่เดิมมีแรงงานข้ามชาติจากพม่า ทำงานอยู่ในพื้นที่เฉพาะบ้านน้ำเค็มไม่ต่ำกว่า 3,000 คน และหลังจากเกิดเหตุการณ์คาดว่า มีแรงงานที่เสียชีวิตมากกว่า 1,000 กว่าคน เนื่องจากขณะเกิดเหตุเป็นเวลาเช้าซึ่งแรงงานประมงส่วนหนึ่งกำลังหลับอยู่ในเรือหรือบ้านในบริเวณใกล้ ๆ ท่าเรือ ส่วนแรงงานภาคต่อเนื่องก็กำลังทำงานในพื้นที่ท่าเรือเช่นกัน

ส่วนในพื้นที่ทับละมุ อ.ท้ายเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกันและเป็นพื้นที่ที่มีการทำประมงทะเลขนาดใหญ่เช่นกัน ประมาณว่า มีแรงงานที่เสียชีวิตและสูญหายไปจากคลื่นยักษ์ประมาณ 1,400 กว่าคน โดยรวมคาดว่า 2 พื้นที่ประมงทะเลคือ บ้านน้ำเค็มและทับละมุ มียอดผู้เสียชีวิตรวม 2,500 คน

หลังจากเกิดเหตุการณ์ แรงงานจำนวนมากได้หลบหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขาในพื้นที่เขาหลัก มีบางส่วนที่กลับลงมาและเข้าไปพักอาศัยอยู่กับกลุ่มนายจ้างเดิมในชุมชน แต่ยังมีที่ปักหลักอยู่บนภูเขา และสวนยางพารา มีบางส่วนได้ทำการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น อ.คุระบุรี, จ.สุราษฎร์ธานี, จ.สงขลา ฯลฯ โดยไปพักอาศัยอยู่กับญาติหรือเพื่อน ในพื้นที่เหล่านั้นเพื่อหางานทำต่อไป ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งเคยเข้าไปอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุการณ์การขโมยทรัพย์สินในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยแรงงานข้ามชาติก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ทำการขโมย ทำให้ตำรวจจึงให้วิธีการกวาดจับแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ซึ่งในเรื่องการขโมยทรัพย์สินนี้จากการสอบถามข้อมูลในพื้นที่และการเช็คจากข่าว พบว่ามีแรงงานข้ามชาติเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย

อย่างไรก็ดีพบว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติเองก็แยกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้าไปขโมยของจริง ๆ กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ อยู่ในภาวะอดอยากและยากลำบาก ก็จะลงมาในพื้นที่ตอนกลางคืนเพื่อเก็บของหรืออาหารเพื่อไปประทังชีวิตตนเอง ส่วนกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ถูกจ้างวานโดยคนไทย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการจ้างให้ไปเก็บและขนของในบ้านที่คนไทยอ้างว่าเป็นบ้านของตนเอง กลุ่มที่สองคือนายจ้างเดิมบังคับให้ร่วมไปขโมยทรัพย์สิน

ผลกระทบของการจับกุมอย่างหนักก็คือ ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วย เหลือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือได้ ทำให้แรงงานและชาวบ้านในพื้นที่อยู่ในสภาวะหวาดกลัวซึ่งกันและกัน อันเป็นผลให้เกิดอคติต่อแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น และทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเสียสถานะทางกฎหมายที่มีอยู่ทั้งในเรื่องการทำงาน การอยู่อาศัย เนื่องจากแรงงานเหล่านี้บัตรประจำตัวได้สูญหายไปขณะที่ประสบเหตุคลื่นยักษ์ และไม่สามารถแสดงบัตรต่อเจ้าหน้าที่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีกลไกในการตรวจสอบเรื่องนี้เมื่อมีการจับกุมและส่งกลับ

ซึ่งในระหว่างการลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็ได้มีการประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบแรงงานข้ามชาติ ทั้งในส่วนของสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งก็ให้คำตอบเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติที่สูญหายว่า สามารถจะทำให้ได้เลย หากแรงงานหรือนายจ้างเข้ามาแจ้ง เพราะตอนนี้มีบัตรประจำตัวของแรงงาน (บัตรแข็ง) ส่วนหนึ่งอยู่ที่สำนักงานจัดหางาน หากมีเลขสิบสามหลักก็สามารถมารับได้เลย

แต่ปัญหาหลักก็คือแรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถจำเลขสิบสามหลักของตนเองได้ ซึ่งจะต้องไปแจ้งที่อำเภอ เพื่อทำการยืนยันตัวบุคคลต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดทำใบแทนบัตรประจำตัวให้ชั่วคราวและจึงนำหลักฐานที่ได้ไปรับบัตรประจำตัวที่จัดหางานจังหวัด แต่ถ้าหากการจับกุมยังคงดำเนินไปอยู่ และความหวาดกลัวของแรงงานยังคงอยู่ก็ยากที่แรงงานจะสามารถไปรายงานตัวเพื่อขอทำบัตรประจำตัวใหม่ได้ ส่วนกลุ่มนายจ้างกลุ่มหนึ่งก็มีความประสงค์ที่จะทำบัตรอนุญาตทำงานให้แรงงานใหม่ แต่ก็ยังคงมีภารกิจของตนเองในเรื่องความเสียหายหลังเกิดภัยพิบัติอยู่

การส่งกลับ

หลังจากการเกิดเหตุการณ์ขึ้นมีการส่งกลับแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่ง โดยทั้งมีการสมัครใจและถูกจับกุม ทั้งนี้จากการสอบถามสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงาพบว่า มีการส่งกลับไปจริง โดยจะส่งไปที่ด่านชายแดนไทย-พม่าที่จังหวัดระนอง โดยในระยะแรกจะส่งผ่านศูนย์รองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ซึนามิที่ศูนย์รองรับหาดส้มแป้น ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดตั้งโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ทหาร สำนักงานจัดหางานและมูลนิธิศุภนิมิตร ซึ่งจะดำเนินการส่งต่อไปยังเกาะสองประเทศพม่าต่อไป

ศูนย์ดังกล่าวจะให้ความดูแลในเรื่องสุขภาพ และความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เบื้องต้น และประสานงานไปยังสตม. และเจ้าของเรือรับจ้างเพื่อจะดำเนินการจัดส่งแรงงานกลับบ้านต่อไป โดยทางศูนย์ยืนยันว่าแรงงานส่วนใหญ่อยากกลับบ้านโดยมีเหตุผลสองประการคือ อยากกับบ้านไปทำบุญให้แก่คนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่เสียชีวิต อีกส่วนหนึ่งอยากกลับไปพักผ่อนเนื่องจากหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก ซึ่งแรงงานเดินทางกลับผ่านศูนย์ส่วนใหญ่ จะเป็นคนในพื้นที่ทวาย และมะริด จะมีพื้นที่อื่น ๆ บางส่วน โดยทางมูลนิธิศุภนิมิตร จะให้ค่าเดินทางระหว่างการกลับบ้านห้าร้อยบาทต่อคน

ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ยังจับกุมและรีดไถเงินของแรงงานที่ได้รับผลกระทบและต้องการกลับบ้าน โดยข้อมูลที่ได้รับฟังมาคือ มีการยึดเงินของแรงงานไปทั้งหมดห้าหมื่นบาท แต่ทหารไปตามเอาเงินมาคืนให้แรงงานได้หนึ่งหมื่นบาท และแรงงานที่เดินทางกลับไปประเทศพม่าส่วนหนึ่งก็ถูกทหารพม่าบางส่วนข่มขู่เอาเงินจากแรงงาน

ปัญหาและความต้องการของแรงงาน

1.แรงงานส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค/การดูแลสุขภาพ นมผงสำหรับเด็ก
2.แรงงานกลุ่มที่บัตรประจำตัวสูญหายและต้องการทำบัตรใหม่
3.แรงงานต้องการทำบุญให้แก่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิต
4.แรงงานต้องการกลับไปทำงานเหมือนเดิม

แนวทางการแก้ไขปัญหา

1.จำเป็นต้องมีการหยุดการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่สามารถแสดงบัตรประจำตัวได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำการสำรวจฐานข้อมูลที่ชัดเจนต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น
2.จำเป็นต้องมีแนวนโยบายและแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในเรื่องของการช่วยเหลือเบื้องต้นและการพิสูจน์ตัวบุคคล รวมทั้งจัดทำเอกสารประจำตัวแรงงานข้ามชาติแทนบัตรเดิมที่สูญหายในระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบ
3.จะต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อบริหารจัดการช่วยเหลือและฟื้นฟูในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างเร่งด่วน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net