Skip to main content
sharethis

โดยปกติ การเลือกตั้งทั่วไปแต่ละรอบมักจะมีผู้สมัครหน้าใหม่เบียดที่นั่งของ ส.ส. เก่าเข้ามาในสภาอยู่เสมอ ตามสถิติอยู่ที่ประมาณ 30% ของที่นั่งทั้งหมด

ซึ่งหากวัดกันตามจำนวน ส.ส. เขต 400 เขต ในการเลือกตั้งรอบนี้ก็จะมีส.ส.หน้าใหม่ (หรือ ส.ส.เก่าสอบตก) ประมาณ 120 คน

ในบางเขต ผู้สมัครหน้าเก่าได้รับการคาดหมายจากวงการเมืองว่า มีฐานเสียงที่หนาแน่น ขณะที่คู่แข่งเป็นหน้าใหม่โนเนม แต่เมื่อถึงวัดตัดสินจริง เหตุการณ์พลิกผัน หน้าใหม่โค่นเจ้าสนามได้สำเร็จ คอการเมืองมักจะเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า ศึกล้มช้าง..หรือ ช้างล้ม เพราะเป็นการล้มแบบเสียงดัง เหนือความคาดหมาย

สำหรับสนามภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ที่ถือกันว่า เป็นฐานการเมืองของพรรคไทยรักไทย โดยมี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองหลวง และเมืองบ้านเกิดของ หัวหน้าพรรคไทยรักไทยนั้น เป็นที่รับรู้กันว่า พื้นที่ตรงนี้ ได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่เป็นพิเศษจากตระกูลชินวัตรโดยตรง ระดับที่ คุณแดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ประกาศจะยึดพื้นที่หลายจังหวัดแบบเบ็ดเสร็จเลยทีเดียว

แต่ก็นั่นเอง..สัจธรรมของการเมือง ก็เช่นเดียวกับ การกีฬา มีแพ้ก็ต้องมีชนะ ไม่มีผู้ใดผงาดเหนือคู่แข่งขันได้ตลอดไป การเลือกตั้งใหญ่ 6 กุมภาพันธ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่อาจจะมีการพลิกล็อก หรือมีผลแพ้ชนะออกมาแบบที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายได้เช่นกัน

ปกติของการเลือกตั้งในยุคก่อน ที่หมายถึง ยุคก่อนจะมีการปฏิรูปทางการเมือง และใช้กลไกการเมืองใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รูปแบบของการเลือกตั้ง อ้างอิงจากปัจจัยส่วนตัวของผู้สมัคร ได้แก่
1. การเงิน หรือ น้ำเลี้ยง (และอัตราการยิงกระสุน)
2. วัฒนธรรมแบบเครือญาติ การรู้คุณและละอายต่อสัญญาบางประการ วัฒนธรรมแบบนักเลงท้องถิ่นหรือผู้นำท้องถิ่นที่สามารถจัดตั้งฐานคะแนนให้ เราเรียกปัจจัยกลุ่มนี้ว่า ระบบหัวคะแนน
3. ลักษณะเฉพาะของผู้สมัคร ได้แก่ความนิยมส่วนตัว ความนิยมในเรื่องคุณวุฒิวัยวุฒิ ไปจนถึง รูปร่างหน้าตา
4. การช่วยเหลือจากอำนาจรัฐ และ เจ้าหน้าที่ (บางคน-บางหน่วย)

ในยุคก่อน การเลือกตั้งแต่ละเขต ผู้สมัครจะบริหารทรัพยากรและเวลาของตนโดยอาศัยปัจจัยทั้ง 4 เป็นกุญแจสู่สภาผู้แทนราษฎร

แต่เมื่อมีการปฏิรูปทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 4 ปีก่อน วงการเมืองไทย เปลี่ยนไปจากเดิมตรงที่ มีปัจจัยพิเศษที่เป็น กุญแจสำคัญต่อความสำเร็จเพิ่มขึ้นมา ก็คือ

กลยุทธ์การเมืองระดับมหภาค ก็คือ นโยบายของพรรคการเมือง แคมเปญทางการเมือง และ กลยุทธ์ทางการตลาดที่นำมาใช้ในวงการเมือง

พรรคไทยรักไทย ซึ่งเดิมไม่มีฐานกลไกราชการในมือ ได้ใช้ ปัจจัยการเลือกตั้งรูปแบบใหม่เป็นหลัก ควบคู่กับปัจจัยเดิม ๆ ของการเมืองแบบเก่า จนทำให้สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

ในการเลือกตั้งรอบใหม่นี้ พรรคการเมืองคู่แข่งอื่น ๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อ นโยบายพรรค และ แคมเปญผ่านสื่อ เช่นเดียวกับ ไทยรักไทยในอดีต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับการเลือกตั้งในแต่ละสนาม ก็ยังต้องผสมผสานปัจจัยการเลือกตั้งเดิม ๆ เข้ามาด้วย

สำหรับพรรคไทยรักไทย ในวันนี้ แตกต่างจากเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน นั่นก็คือ พรรคไทยรักไทยกุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ จนทำให้มีข้อครหาว่า ได้ใช้กลไกของรัฐบาล หรือ ผ่านระบบราชการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งมากขึ้น

น้ำหนักของ การเลือก อาวุธ สำหรับการต่อสู้ในวงการเมืองของไทยรักไทยรอบนี้ จึงแตกต่างจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน

ภาพรวมของการเลือกตั้ง กุมภาพันธ์นี้ พบว่า ทุกพรรคการเมืองมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างไปจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

นี่คือพัฒนาการทางการเมืองในอีกระดับหนึ่ง

สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า คุณภาพของการเลือกตั้งรอบนี้ได้ยกขึ้นมาตามการพัฒนาการทางการเมืองไทย ก็คือ ปัจจัยชี้วัดในการใช้ระบบหัวคะแนน การใช้เงิน การหลบเลี่ยงการให้เงินซื้อเสียงโดยใช้วิธีให้มาเป็นสมาชิกพรรคแล้วให้สิ่งของตอบแทน อาจจะไม่ได้ผลในพื้นที่บางเขตอีกต่อไป
..............

เหลือเวลาอีกเพียงสัปดาห์เดียวก่อนการเลือกตั้ง พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังมี พื้นที่บางเขตที่แข่งขันกันดุเดือด สูสี หลายสนาม

พลเมืองเหนือ ขอคัดเลือกสนามเลือกตั้งสำคัญ ที่คาดว่า จะมีการแข่งขันดุเดือด หรือ เป็นพื้นที่ซึ่งอาจจะมีการพลิกผันในโค้งสุดท้าย มานำเสนอ

เขต 1 เชียงใหม่ ปกรณ์ ทรท. - เดือนเต็มดวง ปชป.

ตอนที่เริ่มลงสมัคร ดร.เดือนเต็มดวง หรือ ดร.แป้ง ถูกคาดหมายว่า คงเป็นเพียงไม้ประดับ เพราะฐานคะแนนของ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ แชมป์เก่า ซึ่งกุมอำนาจในเทศบาลนครเชียงใหม่เบ็ดเสร็จหนาแน่นเหลือเกิน เป็นเขตที่ พรรคไทยรักไทยวางใจในระดับ 100% ว่า นอนมาอย่างแน่นอน

ประเมินฐานคะแนนเบื้องต้นก่อนการแข่งขัน ปกรณ์ มีฐานในมีอประมาณ 30,000 เสียง จากจำนวนเต็มประมาณ 100,000 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ จะมีเสียงของสมาชิกพรรคบวกกับฐานของพันธมิตรเพียงประมาณ 10,000 เสียงเท่านั้น นั่นก็คือ ปกรณ์มีคะแนนแต้มต่ออยู่ ถึง 3 ต่อ 1

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะเอาจริงกับพื้นที่หัวใจไทยรักไทยเขตนี้เพราะมองเห็นจุดอ่อนของแชมป์เก่าในหลายประเด็น จึงได้ส่ง ดร.แป้ง ขึ้นเวทีที่มีสื่อมวลชนให้ความสนใจแทบทุกเวที อาทิ การถ่ายทอดสดของ ช่อง 11 และ รายการเสวนาของสถานี
โทรทัศน์ไอทีวี. ที่เชียวใหม่ ต่อจากนั้น ส่งเข้าร่วมเสวนารายการผู้หญิงมีดี(กรี) ของช่อง 3 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีสื่อหนังสือพิมพ์ติดตามรายงานหลายฉบับต่อเนื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น ดร.แป้ง ยังได้รับเลือกเป็น พรีเซนเตอร์จากผู้สมัครต่างจังหวัดเพียงคนเดียว ในแคมเปญ เลือกให้ถึง 201 เสียง ของพรรคประธิปัตย์ มีผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นในแคมเปญนี้ อีกหนึ่งก็คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 7

การส่งเสริม ดร.แป้ง ให้เป็นที่จับจ้องของสื่อรอบนี้ ได้ผลมากพอสมควร

เหตุพลิกผันในเขต 1 เชียงใหม่ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาขยะล้นเมืองเชียงใหม่ ที่เทศบาลฯรับผิดชอบ แม้จะไม่เกี่ยวกับปกรณ์ โดยตรง แต่ที่สุดแล้วคนเชียงใหม่ส่วนหนึ่งยังมองว่า นี่เป็นความรับผิดชอบของ บูรณุปกรณ์ อยู่นั่นเอง

ปัญหาขยะอาจจะทำให้ มีคนออกจากบ้าน เพื่อกาช่องคู่แข่งของ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ได้มากทีเดียว

คาดหมายว่า หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ประมาณ 70,000 คน
ผู้สมัครทั้งสองฝ่าย จะมีเสียงก้ำกึ่งแบบที่อาจต้องใช้ภาพถ่ายตัดสินเลยก็ได้
ฟันธง ! ... คู่นี้ ทีมรองมาแรงครึ่งหลัง มีพลิก ห้ามกระพริบตา

เขต 2 แพร่ ศิริวรรณ ปชป. - อนุวัธ ทรท.

เขต 2 เมืองแพร่ เป็นฐานที่มั่นทีสำคัญที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของ ประชาธิปัตย์ มีความแข็งแกร่งในระนาบเดียวกับ จังหวัด พิจิตร และ จังหวัดตาก ซึ่ง ปชป. ยึดครองยาวนาน

แต่รอบนี้ สัญลักษณ์สำคัญของการยึดครองภาคเหนือพรรคแม่พระธรณีฯ กำลังเป็นเป้าหมายของการโจมตี ... คำสั่งเดียวสั้น ๆ คือ ต้องตีให้แตก

มีน้ำเลี้ยงและทรัพยากรทุกชนิดผ่านมือ ประชา มาลีนนท์ โดยมีขุนพลการเมืองของพรรคที่ส่งตรงมาจาก ภูมิธรรม เวชยชัย อย่างน้อย 2 คนทำงานในพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อช่วย เสี่ยเอน อนุวัธ วงศ์วรรณ ผู้สมัครทายาทพ่อเลี้ยง ณรงค์ หาเสียง
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เสี่ยเอน ยังลงพื้นที่จับงานประเพณี งานชุมชน ลูกเสือชาวบ้าน อย่างต่อเนื่อง ดึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยรายใหม่ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 70,000 คน จากจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งทั้งหมด 120,986 คน ขณะที่แม่เลี้ยงติ๊ก -ศิริวรรณ ปราศจากศัตรูที่เคยมีฐานเสียงสำคัญจำนวนมาก แต่วันนี้ หลายคนเปลี่ยนขั๊วไปอยู่กับไทยรักไทย

ทำให้วันนี้ คอการเมืองวิเคราะห์กันว่า มาถึงนาทีนี้เสี่ยเอน - อนุวัธ เริ่มเป็นต่อแม่เลี้ยงติ๊กในระดับ 60 ต่อ 40 หลังจากที่ตามหลังมาตลอด

เป้าหมายเบื้องต้นของแม่เลี้ยงติ๊ก - ศิริวรรณ จะต้องรักษาเก้าอี้เอาไว้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คะแนน หลังจากการเลือกตั้งครั้งก่อนเคยทำได้ 50,010 คะแนน

ขณะที่เป้าหมายของ ไทยรักไทย ก็คือ ทำให้ได้ 60,000 แต้มเป็นอย่างน้อย
หนึ่งคือ ดึงมาจากฐานเก่าแม่เลี้ยง และสอง หามาใหม่
ฟันธง ! .. บางระจันรักษาที่มั่นไว้ได้หลายเดือน แต่เมื่อเจอทัพหลวง เห็นคราลำบาก

เขต 4 เชียงใหม่ กิ่งกาญจน์ ปชป.- วิทยา ทรท.

เขต 4 เชียงใหม่ ระหว่าง กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ กับ วิทยา ทรงคำเมื่อรอบที่แล้ว สู้กันสองรอบ แถมคะแนนห่างกันแค่ 5 พันแต้ม มารอบใหม่เป็นศึกล้างตา โดยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีกาประลองกำลังผ่านตัวแทนมารอบหนึ่งแล้วในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสันทรายหลวง ที่ฝ่ายไทยรักไทย ทำคัตเอาท์ โสภณ โกชุม คู่กับ วิทยา ทรงคำ และ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ หาเสียง ส่วนอีกฟาก นที ดำรงค์ นายกฯเก่า ที่ เจ๊แดง กิ่งกาญจน์ ให้ความสนับสนุน ผลปรากฏว่า ไทยรักไทยพ่ายแพ้ขาดลอย

เขตนี้ ส.ส. เก่า กับ ผู้ท้าชิงรายเดิม ต้องขับเคี่ยวกันอีกครั้ง อย่าลืมว่า พื้นที่เขต 4 เริ่มเป็นเขตเมืองขึ้นมามาก ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน กลยุทธ์บางประการที่เคยใช้ อาจจะใช้ไม่ได้ผล

เขตนี้ เดิมพันกันด้วย ความนิยมในตัวพรรค และ ตัวบุคคล เป็นปัจจัยหลัก
วิทยา จะโหนกระแสพรรคได้อีกต่อไปหรือไม่ ? ต้องติดตามด้วยใจจดจ่อ

กรอบ ..วิเคราะห์รวม หลายเขต

น่าน -เขตที่ต้องจับตามมองของเมืองน่าน ก็คือ เขต 1 ซึ่งเดิมเป็นของ คำรณ ณ ลำพูน ประชาธิปัตย์ มารอบนี้ขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ และส่ง สุกัญญา ณ ลำพูน ภรรยาลงแทน เจอกับ "เจ๊น้อย-สิรินทร รามสูตร" น้องสาวของ "พูนสุข โลหะโชติ" อดีต ส.ส. หลายสมัยที่การเลือกตั้งสมัยที่แล้วสวมเสื้อ "ชาติไทย" ลงชิงชัย ก่อนจะพ่ายให้กับ "คำรณ ณ ลำพูน" ขาดลอย แต่มาครั้งนี้ส่งน้องสาวสวมเสื้อ "ไทยรักไทย" ซึ่งมีกระแสตอบรับดีกว่า แถมมีคลังอาวุธส่งตรงมาจาก "ประชา มาลีนนท์" เข้าช่วย เขต 1 เมืองน่าน นี่ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของยุทธการกวาดล้างฐานที่มั่นประชาธิปัตย์ภาคเหนือ ...

เชียงราย - ต้องยอมรับว่าเขต 7 แม่สาย เชียงแสน เป็นเขตเลือกตั้งที่หนักที่สุดสำหรับสนามเชียงรายของไทยรักไทย ที่ครั้งนี้ยังส่ง "อิทธิเดช แก้วหลวง" ลงรักษาแชมป์เช่นเดิม ซึ่งต้องเจอกับ "วิทย์วัส โพธสุธน" จากพรรคชาติไทย ลูกชายของ "ประสิทธิ์ โพธสุธน หลานชายของ "ประภัทร โพธสุธน" เลขาธิการพรรคชาติไทย และมี สจ.ป้อม - สุวัฒน์ ตระกูลโรจน์ สจ.เขตเชียงแสน ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ซึ่งในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ว่ากันว่า "อิทธิเดช" ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งของภรรยา - พ่อตา คือบุญมา เตชะเจริญวิกุล เจ้าของโรงแรมวังทองแม่สายเท่าใดนัก ล่าสุดเพิ่งได้รับการช่วยเหลือจาก "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ตามมาด้วย "ยงยุทธ" ที่ต้องเข้ามาช่วยโดยปริยายในช่วงท้ายเท่านั้น

เขตนี้ ถ้า ไทยรักไทย เข้าไปช่วยก๊อกสองและสามไม่ทัน มีสิทธิ์ที่จะมีส.ส.ใหม่เข้ามาแทน

เชียงใหม่ - เขต 8 ที่มี "ผณิณทรา ภัคเกษม" จาก ทรท.เป็นแชมป์เก่า มีจุดอ่อนพื้นที่บนดอยที่ชาวบ้านไม่เคยเห็นหน้า อาจเสียเก้าอี้ให้กับ ปลัดเจี๊ยบ "ศุภชัย นิมมานเหมินท" อดีตปลัดอำเภอหลายพื้นที่ - เครือญาติ "ธารินทร์ นิมมานเหมินท์" อดีต รมว.คลัง จาก ปชป. เป็นคู่แข่งที่โพลสองสามรอบของไทยรักไทยเองก็ยอมรับว่ามีคะแนนเหนือกว่า "ผณินทรา" นอกจากนี้ยังมี "นรพล ตันติมนตรี" ว่าที่ผู้สมัครจากมหาชน/หลานชาย "อำนวย ยศสุข" เป็นตัวเบียดแทรก อย่างไรก็ตาม ไทยรักไทยแก้เกมด้วยการให้ รัฐมนตรีผู้ถนัดการเรียกประชุม เข้ามาช่วยแล้ว ทำคะแนนที่ได้มาจากกลไกพิเศษเพิ่มขึ้นมาก

เขตนี้ พร้อมจะออกได้ทุกหน้า

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net