Skip to main content
sharethis

จัดอยู่ในเมกะโปรเจ็กต์เด่นของเชียงใหม่สำหรับโครงการ Chiang Mai ICT City ที่นายกรัฐมนตรีคนเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมายมั่นปั้นให้เมืองล้านนาแห่งนี้เป็น "นครสารสนเทศ" ผลงานรอบ 1 ปีของโครงการนี้คืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด และก้าวในปีต่อไปจะเป็นอย่างไร "พลเมืองเหนือ" ประมวลมาให้ได้ติดตาม

เชียงใหม่ ICT City เริ่มต้นพร้อม ๆ กับจังหวัดภูเก็ต และขอนแก่น โดยมีหัวเรือใหญ่บัญชาการทุกเม็ดและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด นั่นคือ "หมอเลี๊ยบ" นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เปิดฉากนำร่องจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปี 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาขาแรกในภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เมืองแห่งนครสารสนเทศบรรลุตามเป้าหมาย พร้อม ๆ กับสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในภาคเหนือ ให้มีศักยภาพแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"หมอเลี๊ยบ" นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เจ้ากระทรวงไอซีที กล่าวในโอกาสครบรอบ 1 ปี ไอซีทีซิตี้เชียงใหม่ ในงาน "Chiang Mai ICT City Days" ที่จัดขึ้น ณ อาคารที่ทำการใหม่ของ SIPA เชียงใหม่ ในโครงการเชียงใหม่บิซิเนสปาร์ค จังหวัดเชียงใหม่ ว่า โครงการเชียงใหม่ไอซีทีซิตี้ เป็น ICT City ต้นแบบที่จังหวัดต่าง ๆ สามารถนำใช้เป็นแบบอย่างให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้มีการให้บริการ Metro LAN ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบและสร้างโดยใช้เทคโนโลยี IP Network บนใยแก้ว หรือ Optical Fiber Media : WDM ซึ่งบริษัท ทศท. คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นโครงข่ายสื่อสารข้อมูลสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และความเร็วสูงสุดถึง 100 Mbit มีข้อดีคือในอนาคตสามารถรองรับบริการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งสองความต้องการของผู้ประกอบการที่ความจำเป็นต้องใช้ระบบการสื่อสารข้อมูลขนาดใหญได้ ซึ่งขณะนี้ให้บริการครอบคลุมอาณาเขตอำเภอเมืองทั้งหมด ซึ่งมีรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตร และภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 นี้ จะขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่อีก 10 อำเภอ ภายในรัศมี 40 -50 กิโลเมตร

ด้านนางเครือวัลย์ สมณะ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในอนาคต ซึ่งตามแผนของ SIPA ตั้งเป้าให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางผลิตการ์ตูนแอนิแมชั่น ตามโครงการ "Northern Animation Studio" ขณะเดียวกันก็จะเร่งส่งเสริมและผลิตบุคลากรด้าน ICT ให้มากขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้บุคลากรด้าน ICT ของเชียงใหม่เริ่มมีการซื้อตัวกันมากขึ้น นั่นหมายถึงเริ่มมีบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

นพ.ภาณุทัต เตชะเสน กรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่าภายในปี 2548 นี้ จังหวัดเชียงใหม่จะเปิดโครงการ ICT Park ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านไอซีที ให้กับเด็กและเยาวชน โดยเน้นความทันสมัยด้านเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ซึ่งนอกจากเป็นการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนแล้ว โครงการดังกล่าวยังสามารถรองรับและตอบสนองอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แอนิเมชั่น มัลติมีเดียและเกมส์ของเชียงใหม่และภาคเหนือได้อีกด้วย เนื่องจากมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สนับสนุนความก้าวหน้าทางด้านนี้ เช่น Northern Animation Studio ซึ่งจะมี Motion Capture รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพเคลื่อนไหวของแอนิเมชั่นให้เสมือนจริงไว้ให้บริการ เพื่อเป็นการลดจุดอ่อนของแอนิเมชั่นในประเทศไทย

"ในส่วน Motion Capture เครื่องที่จะนำมาแสดงที่ Northern Animation Studio จะเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ ที่นอกจากจะใช้กับอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นแล้ว ยังสามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท อาทิ การแพทย์ การกีฬา และการแสดง เป็นต้น"

เจาะ "นอร์ทเทิร์น แอนิเมชั่น สตูดิโอ"

Northern Animation Studio ว่า เป็นอีกโครงการสำคัญ เพื่อให้บริการกับสถานศึกษาต่าง ๆ ในการเรียนรู้ขบวนการสร้างซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น ซึ่งถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง นอร์ทเทอร์แอนิเชั่นสตูดิโอจึงจะเป็นศูนย์กลางที่มีเครื่องมือทันสมัยครบวงจนบทบาทหนึ่งให้สถานบันการศึกษาได้ใช้ในการพัฒนาบุคลากร อีกบทบาทหนึ่งเอกชนจะสามารถมาเช่าผลิตงานให้สมบูรณ์แบบได้ โดยจะต้องเริ่มจากการสร้างเอสเอ็มอีในภาคเหนือให้สามารถสร้างแอนิเมชั่น เป้าหมายคือการส่งออกสู่ตลาดโลก ซึ่งการทำแอนิเมชั่น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในราคาที่สูงมากและมีมาตรฐานที่ดีมาก ซึ่งกิจกรรมนี้ภายใต้โครงการ ICT Knowledge Park จะเป็นกลไกสำคัญที่จะให้บริการเครื่องมือการสร้างแอนิเมชั่นที่ทันสมัยแก่หน่วยงานต่าง ๆ"

TT&T เร่งวางโครงข่าย ADSL
ตั้งเป้าเพิ่ม 10,000 รายในปี 2548

นายสุรช ล่ำซำ ผู้อำนวยการสายการตลาดและบริการ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามเร่งดำเนินการวางโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่โดยเร็วที่สุด ขณะนี้สามารถวางโครงข่ายในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ และอำเภอรอบนอกบางส่วนได้ครบถ้วนแล้วและกำลังเร่งดำเนินการขยายโครงข่ายการให้บริการต่อไป

จังหวัดเชียงใหม่ มีลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ทีทีแอนด์ทีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในช่วงปลายปี 2546 ที่มีผู้ใช้บริการเพียงประมาณ 400 ราย และเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนกว่า 5,000 ราย ในปี 2547 โดยในปี 2548 คาดว่า จะมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจากจำนวนหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้บริการในพื้นที่ประมาณ 200,000 หมายเลขแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย

นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวว่า การสร้างซอฟต์แวร์ แอนิเมชั่น ซึ่งคาดว่าในระยะ 1 ปีนับจากนี้ จะสามารถผลิตบุคลากรด้านนี้ได้ทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน โดยคาดว่าจะแบ่งเป็นสัดส่วนบุคลากรของจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 300 คน แต่ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดในระยะ 5 ปีก็คือ จะต้องผลิตบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ให้ได้ถึง 5,000 คน ซึ่งในความเป็นจริงตลาดมีความต้องการบุคลากรด้านนี้มากถึง 10,000 คนในระยะ 5 ปี

1 ปีของการคิกออฟโครงการ เชียงใหม่ไอซีทีซิตี้ อาจกล่าวได้ว่าองค์ประกอบของการเป็นเมืองไอซีทีเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว ทั้ง "ICT Knowledge Park" มูลค่าเกือบ 362 ล้านบาท ต่อด้วยโปรเจ็กต์เร่งด่วนที่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในภาคเหนือ, โครงการจัดตั้ง Northern Animation Studio, โครงการจัดหา Infrastructure รองรับโครงการ E - government และโครงการผลิตบุคลากรด้านไอซีทีเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นอีกก้าวที่ต้องดำเนินการนับจากปีนี้เป็นต้นไป.

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net