สังคมไทย(ใหม่)หลังเลือกตั้ง...ในวันที่พอมีแสง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมกำลังวิ่งหนีความมืดพร้อมๆ กับคนหลายสิบ หลายร้อยคน...
ความมืดมันกำลังคืบคลานเข้ามา พร้อมๆ กับกลืนกินคนที่วิ่งหนีไม่ทันทีละคน สองคน
ผมพยายามจะสู้กับความมืดนั้น แต่ว่าในมือผมมีเพียงเทียนเล่มเล็กๆ เพียงเล่มเดียว ที่แสงจวนเจียนจะดับลง

และที่สำคัญ...ความมืดมันเข้ามาถึงปลายเท้าผมแล้ว . . . .

ผมสะดุ้งตื่น แล้วคิดขึ้นได้ว่า...วันนี้ผมมีงานต้องทำ

@#@#@#@#@

13.00 น.
โรงแรมเอเชีย

"สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คืออำนาจของประชาชนนั้นไม่ได้มีอยู่แค่วันเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐด้วย" รสนา โตสิตระกูล กล่าวก่อนเริ่มการเสวนา "สังคมไทยใหม่ เป็นไปได้" ณ โรงแรมเอเชีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา "นายกทักษิณฯ ก็เหมือนกับสารกัมมันตรังสี ที่มีพลังงานและประโยชน์มาก แต่ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบจากประชาชนเป็นเตาปฏิกรณ์เพื่อควบคุมพลังให้อยู่ในขอบเขต"

"รัฐมักจะบอกว่าปัจจุบันเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมคนถึงเป็นหนี้มากขึ้น" แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนนักแสดงแสดงความคิดเห็น "แทนที่เราจะไปแก้ไขปัญหาความยากจน เราน่าจะไปแก้ปัญหาความร่ำรวยไม่ให้คนรวยมากเกินไป และเน้นที่การแบ่งปันมากกว่า"

"อยากให้สังคมไทยกลับไปสู่ภาพในอดีตสมัยปู่ย่าตายาย ที่คนในสังคมยังยึดถือความมีสัจจะ ซื่อสัตย์ และความยุติธรรม แต่สังคมในปัจจุบันนี้กลับทำให้คนดีกลายเป็นคนโง่และเสียเปรียบ ในขณะที่คนคดโกงกลับเป็นคนฉลาดและมีฐานะ อีกทั้งภูมิปัญญาเก่าก็ถูกละเลย หันไปสนใจเทคโนโลยีแทน ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากเริ่มกลับมาสนใจภูมิปัญญาพื้นบ้านกันแล้ว" ดาวัลย์ จันทร์หัสดี ตัวแทนชาวบ้านแสดงความคิดเห็น "ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมืองมากขึ้น เพราะในหลายๆ ครั้งรัฐตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ โดยไม่ได้มองถึงความคิดเห็นของประชาชน เช่นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นต้น"

"ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้นมีความแตกต่างกับรัฐบาลอื่นๆ ตรงที่มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง และยอมรับการมีอยู่ของภาคประชาชน อีกทั้งยังฉลาดในการเข้าถึงทรัพยากรและประชาชน ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การเสนอทางเลือกในการมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ยังต้องสร้างองค์กรภาคประชาชนให้เข้มแข็งและหลากหลายขึ้น รวมทั้งต้องอดกลั้นต่อความซับซ้อนของนโยบาย รวมทั้งต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรให้ได้" กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงมุมมองต่อองค์กรภาคประชาชนในปัจจุบัน

กนกรัตน์ยังแสดงความเห็นในฐานะที่ใกล้ชิดกับนักศึกษาว่า "คนหนุ่มสาวหลายๆ คนก็มีความสนใจทางการเมือง แต่ไม่มีช่องทางในการแสดงออก จึงต้องระบายด้วยการจัดวงพูดคุยถึงปัญหาที่เขารู้สึก ซึ่งก็กลายเป็นเหมือนกับเป็นแค่ Group Therapy เท่านั้น"

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ตัวแทนจาก a day weekly แสดงความเห็นเสริมว่า "การเมืองและสภาพสังคมต่างจำกัดความฝันและความคิดของคนหนุ่มสาวด้วยกรอบต่างๆ อาทิเช่นระบบการศึกษาในปัจจุบัน เป็นต้น หากคนหนุ่มสาวตั้งคำถามกับกรอบที่มีอยู่ และทลายกรอบความคิดเหล่านั้น เยาวชนจะสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่"

ด้านอโณทัย ก้องวัฒนา ตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอินทรีย์ เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยพบว่า "ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อนที่จะพึ่งพาระบบ อย่างเช่นตอนที่รัฐบาลมีดำริจะสนับสนุนการปลูกพืช GMOs เครือข่ายนักธุรกิจเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับผลกระทบจึงเริ่มเคลื่อนไหว ซึ่งด้วยการร่วมมือขององค์กรต่างๆ สุดท้ายรัฐจึงทบทวนท่าที"

อโณทัยยังมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า "ปัญหาตอนนี้คือประชาชนยังไม่รู้และเข้าใจในปัญหาต่างๆ ที่เกิดในสังคม ซึ่งเราต้องค่อยๆ เข้าไปสร้างความเข้าใจอย่างอดทน"

"การเมืองภาคประชาชนเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจหลักและวิธีคิด และประชาชนต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการเมืองทุกระดับ โดยเริ่มจากตนเอง แล้วขยายต่อไปยังชุมชนและสังคม นอกจากนี้ต้องสร้างความเข้มแข็ง" ชัชวาล ทองดีเลิศ ตัวแทน NGOs แสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังพูดถึงการเลือกตั้งคราวนี้ว่า "กลยุทธ์การโหวตเพื่อถ่วงดุลย์นั้นถือเป็นกลยุทธ์เฉพาะหน้า ซึ่งเราต้องเลือกอย่างชาญฉลาดเพื่อเข้าไปถ่วงดุลย์ไม่ให้ลุกลามมากกว่านี้"

@#@#@#@#@

18.00 น. สยามสแควร์

ผมเดินฝ่าฝูงชนสีแดง-เหลืองอมชมพูอยู่ในสยามสแควร์ เพื่อหารถกลับบ้าน จนผมเดินผ่านไปถึงบริเวณ Center Point ผมก็พบกับป้ายผ้า "We Vote" ซึ่งดึงดูดความสนในกับผมพอสมควร

แต่ก็นั่นแหละ ผมก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

บังเอิญว่าผมเห็นอาจารย์กนกรัตน์ ที่เพิ่งเจอกันในวงเสวนาตอนบ่ายที่ผ่านมา ผมเลยเข้าไปถามอาจารย์ดู ว่างานนี้คืออะไรกันแน่...

"งานนี้เป็นโครงการรณรงค์การเลือกตั้งในกลุ่มวัยรุ่นของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ" อาจารย์เล่าให้ฟังถึงที่มาโครงการว่า "งานนี้เกิดขึ้นเพราะทาง กกต. ขอความร่วมมือให้ทางคณะฯ ทำโครงการรณรงค์เลือกตั้ง และทำสื่อรณรงค์ด้วย ซึ่งตรงนี้ a day weekly ก็เข้ามาช่วยด้วย" ว่าแล้วอาจารย์ก็ยื่นหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาดเดียวกับหนังสือแจกฟรีที่แนบใน a day weekly บ่อยๆ ซึ่งเมื่อดูแล้วก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มเล็กๆ นี้เป็นสื่อที่ "แนว" กว่าสื่อรณรงค์เลือกตั้งอื่นๆ ที่เคยเห็น

หลังจากนั้นอาจารย์ก็พาผมเดินดูบริเวณรอบๆ งาน ที่นอกจากจะมีซุ้มเลือกตั้งจำลองแบบที่การรณรงค์ทั่วไปมักจะมีแล้ว (แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ มีช่องสำหรับ "ผู้สมัครในอุดมคติ" ที่ผู้เข้าชมสามารถเขียนลักษณะของผู้สมัครที่ต้องการด้วย) ก็ยังมีงานศิลปะจัดวาง (Installation) ที่สื่อถึงเรื่องการเมือง (อาทิเช่น เกมส์ Tetris ที่ใช้ตัวกากบาทแทนบล็อก หรือแผ่นผ้าพร้อมกับสีทาบ้าน 15 สีตามจำนวนพรรค ที่ให้ผู้เข้าชมสามารถเข้ามาทาสีใส่แผ่นผ้าได้ ฯลฯ) ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้จะตระเวณแสดงไปที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ควบคู่กับการทำวิจัยในเรื่องนี้ รวมถึงจะมีการติดตามผลหลังเลือกตั้งไปแล้วอีกด้วย

เมื่อผมถามถึงผลตอบรับจากงานนี้ อาจารย์ตอบว่า "ก็ต้องถือว่าได้รับการตอบรับดีพอสมควร แต่ปัญหาหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือวัยรุ่นยังมองความสำคัญของการเลือกตั้งเป็นเพียงสิ่งที่ "ต้องทำ" เท่านั้น และวัยรุ่นยังมองการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพียงแค่วันเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งเราคงต้องสร้างความเข้าใจกับเยาวชนต่อไป"

แต่ภาพของคนรุ่นหนุ่มสาวที่ทยอยดูนิทรรศการต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย...ก็นับว่าไม่เลวละน่า

@#@#@#@#@

ผมรู้สึกว่า...ความมืดกำลังค่อยๆ กัดกินผม
แต่ฉับพลันนั้นเอง มีมือจากคนที่วิ่งหนีพร้อมๆ กับผมฉุดขึ้นมาจากเจ้าความมืดนั้น
เมื่อผมตั้งสติได้ ก็พบว่ามีคนหลายสิบคนที่ช่วยผมจากความมืดนั้น
"ส่งเทียนไขมา" เสียงๆ หนึ่งดังขึ้นจากหมู่คน ผมส่งเทียนที่จวนเจียนดับไปให้ตามนั้น
เทียนของผมถูกเอาไปรวมกับเทียนเล่มอื่นๆ จนแสงริบหรี่กลายเป็นแสงสว่างเหมือนคบเพลิง

หลังจากนั้น...ทุกคนก็หันหน้าเข้าหาความมืด พร้อมทั้งถือกองเทียนกองนั้น วิ่งเข้าพุ่งชนเจ้าความมืด!

...ผมสะดุ้งตื่นอีกครั้ง

ผมเองยังไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ผมฝันนั้นหมายความว่าอะไร แต่ผมรู้สึกว่า ความฝันกำลังจะบอกอะไรบางอย่างกับผม

แต่ที่แน่ๆ...มันไม่ใช่เวลาที่ผมจะมัวนอนหลับแล้ว

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท