Skip to main content
sharethis

ชิดชนก ราฮิมมูลา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กำเนิดขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขบวนการก่อการร้าย

ประวัติศาสตร์ของปัตตานี ตั้งแต่หลังสงครามระหว่างปัตตานีและสยาม เมื่อ พ.ศ. 2351 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยปัตตานีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และสยามได้ปกครองปัตตานี เริ่มตั้งแต่การแบ่งปัตตานี เป็นเจ็ดหัวเมือง (พ.ศ. 2351 - 2444) โดยที่ราชวงศ์มลายูมุสลิมยังมีสิทธิในการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งได้แก่
1. เมืองปัตตานี
2. เมืองยะลา (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยะลา)
3. เมืองยะหริ่ง (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)
4. เมืองระแงะ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส)
5. เมืองราห์มัน (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดยะลา)
6. เมืองสายบุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)
7. เมืองหนองจิก (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี)(รัตติยา สาและ, 2547,249)

ต่อมา พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูปการ ปกครองทั่วประเทศรวมทั้งภาคใต้ โดยทรงนำการปกครองระบบใหม่มาใช้ คือ "เทศาภิบาล" และได้ทรงยกเลิกระบบเจ้าเมืองในเจ็ดหัวเมืองมลายูปัตตานี ทรงใช้ระบบที่เรียกว่า "มณฑลเทศาภิบาลปัตตานี" แทน ทำให้สิทธิและอำนาจของบรรดาเจ้าเมือง (Raja) ทั้งเจ็ดหัวเมืองมลายูปัตตานีต้องสิ้นสุดลง

เมื่อ พ.ศ. 2452 อังกฤษและสยามได้ร่วมตกลงทำสัญญากำหนดเขตแดนระหว่าง British Malaya กับสยาม ซึ่งรู้จักกันในนาม The Anglo - Siamese Treaty 1909 ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดอธิปไตยของรัฐปัตตานีอย่างสิ้นเชิง และรัฐปัตตานีได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยอย่างสมบูรณ์

Tengku Abdul Kadir Kamaruddin เจ้าเมืองปกครองปัตตานีองค์สุดท้าย แสดงปฏิกิริยาไม่พอใจที่พระองค์จะต้องสูญเสียอำนาจ และถูกยุบตำแหน่งเจ้าเมือง ในที่สุด พระองค์ถูกจับกุมในข้อหาดื้อแพ่ง ต่อรัฐบาลไทย พระองค์ถูกนำไปกรุงเทพฯ และถูกนำไปขังคุกที่พิษณุโลก เป็นเวลา 10 ปี

แต่ด้วยอิทธิพลของ Sir Frank Swettenham ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้พยายามเจรจากับฝ่ายไทย ในที่สุด Tengku Abdul Kadir Kamaruddin ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยมีเงื่อนไขห้ามพระองค์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก พระองค์ติดคุก 2 ปี 9 เดือน ในปี ค.ศ. 1915 พระองค์ตัดสินใจลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่รัฐกลันตัน จนสิ้นพระชนม์ในปี 1933 ต่อมาบุตรคนสุดท้ายคือ Tengku Mahmud Mahyideen ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของบิดา ในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนปัตตานีต่อไป (Surin Pitsuwan, 1985,57-58)

ในช่วงที่ Tengku Abdul Kadir พำนักอยู่ที่รัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย พระองค์ได้แอบติดต่อกับพรรคพวกในเขตไทยอย่างลับ ๆ โดยยุยงส่งเสริม ให้พรรคพวกก่อความรุนแรงในภาคใต้ของไทย เช่น ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465 (Surin Pitsuwan,1985,57) Tengku Mahmud Mahyideen ก็เช่นเดียวกัน โดยร่วมมือกับผู้นำศาสนาในประเทศไทย และได้เผยแพร่แนวคิด การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวปัตตานีไปสู่เวทีระหว่างประเทศ

จากประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานีในอดีต เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมปัตตานี กับชาวมลายูมุสลิมในรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย มีความใกล้ชิดตั้งแต่อดีตมาแล้ว ถ้าพิจารณาจากสายสัมพันธ์ของราชวงศ์กลันตัน กับราชวงศ์ปัตตานี ยิ่งแยกไม่ออกจากกัน และความ
สัมพันธ์ของนักการศาสนาของทั้งสองฝ่าย ก็มีความผูกพันกัน นับตั้งแต่ศาสนาอิสลาม ได้แผ่ขยายเข้ามาสู่บริเวณแหลมมลายู

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายในการปกครองชาวไทยมุสลิม สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และการทำนุบำรุงศาสนา โดยทรงมีพระราชหัตเลขาที่ 3/78 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งเป็นหลักรัฐประศาสโนบายสำหรับผู้ปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี โดยกระทรวงมหาดไทย ได้นำไปปฏิบัติซึ่งมีหลักการดังนี้

1. การปฏิบัติที่มีความขัดแย้งกับอิสลาม ต้องยุติในทันทีและกฎข้อบังคับใหม่ใด ๆ ต้องไม่ขัดแย้งกับศาสนาอิสลาม

2. ภาษีที่เก็บจากคนมลายูมุสลิม ปัตตานีต้องไม่มากไปกว่าภาษีที่มีการเก็บในบรรดารัฐมลายู บริเวณชายแดนภายใต้อำนาจของอังกฤษ

3. ข้าราชการปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัตตานีต้องซื่อสัตย์ สุภาพ และคล่องแคล่ว ข้าราชการผู้ใดที่กำลังถูกภาคทัณฑ์ เพราะความผิดจากที่อื่น ต้องไม่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในปัตตานี (Ahmad Fathy al-Fatani,1994,77 ; ศูนย์ประสานงานปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมการปกครอง กระทรวง
มหาดไทย)

ถ้าพิจารณาจากรัฐประศาสโนบายข้างต้นนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่ต้องการแก้ปัญหาในเรื่องการปกครองตนเองของปัตตานีขณะนั้น เป็นแนวคิดที่มาจากกษัตริย์ ผู้เป็นนักชาตินิยม เจตนารมณ์ที่พระองค์ทรงยอมรับ และเห็นว่าปัตตานีย่อมได้รับการปกครองตนเอง เพราะพระองค์มีความพยามยาม ที่จะลดความตึงเครียดทางการเมืองกับปัตตานี

ดังนั้น นโยบายการสมผสานทางวัฒนธรรม และการสร้างชาติในเป็นปึกแผ่น จึงดำเนินไปอย่างระมัดระวังและรอบคอบ การเกิดความรู้สึกชาตินิยม ในหมู่ประชาชนในบริเวณรัฐตอนเหนือของมลายาและเขาเหล่านั้น มีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือ และสนับสนุนทางการเมือง ให้แก่เพื่อนร่วมศาสนา ที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทย เป็นการเตือนเจ้าหน้าที่ไทยว่า การปราบปรามชาติพันธุ์ และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอาจนำมาซึ่งการตอบโต้อย่างรุนแรง

สิ่งที่ควรกระทำที่ดีกว่า คือ การปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งความภักดี ความชอบธรรมของอำนาจ น่าจะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของตัวแทน และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

หลักการนี้ได้มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 เมื่อประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครอง ที่มีรัฐธรรมนูญและเป็นการสิ้นสุดของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน และนับตั้งแต่ปัตตานี ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ประชาชนในภูมิภาคปัตตานี เริ่มมีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

บรรดาผู้นำศาสนาและชนชั้นนำ มีความเชื่อว่าภายใต้ระบบรัฐสภา เขาคงจะได้รับชัยชนะจากรัฐบาล ในการที่จะรักษาการปกครองตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการทางศาสนา วัฒนธรรม และภาษา หลังจากที่แนวคิดในเรื่องประชาธิปไตย ได้แพร่หลายสู่สาธารณชน Tengku Mahmud Mahyideen ที่ลี้ภัยไปอยู่มลายาตัดสินใจจะกลับกรุงเทพฯ และท่านได้แจ้งต่อผู้นำคณะปฏิวัติหรือ "คณะราษฎร์" ว่าท่านและผู้นำมุสลิมท่านอื่นๆ ยินดีที่จะกลับมาอยู่ใต้การปกครองของไทย เพราะว่า "ปัจจุบันนี้มีรัฐธรรมนูญ" (Pridi Phanomyong,1974,10-11)

ชาวมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตกอยู่ในสภาวะความกดดัน ที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติของพัฒนาการทางการเมืองของไทย มีการต่อต้านรัฐบาล ที่พยายามจะรวบรวมพวกเขา เข้าไปรวมกับชาวไทยส่วนใหญ่ของประเทศ

โดยวิธีการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ในขณะนั้นชาวมลายูมุสลิม ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง อุปสรรคสำคัญสำหรับชาวมลายูมุสลิม ในการเข้าไปมีส่วนร่วม คือ ระดับของการไม่รู้หนังสือไทย อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตามแนวความคิดของ Tengku Mahmud Mahyideen ในเรื่องของการต่อสู้เพื่อปกครองตนเอง หรือไปสู่การเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ของปัตตานี ยังไม่ได้ยุติภายใต้ระบบการเมืองใหม่ของไทย เพราะรัฐสภาไทยไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง อำนาจส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คน โดยเฉพาะกลุ่มทหารที่พยายามจะทำให้รัฐสภาเป็นเพียง "ตรายาง" มากกว่าที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบายและบริหารประเทศชาติ

แม้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะนำปัญหาร้องทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชนก็ไม่ได้รับความสนใจหรือแก้ไข ทำให้ชาวมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นชัดเจน และผิดหวังอย่างมาก ที่ระบบการเมืองไทยล้มเหลว ในขณะที่การต้อสู้ของรัฐสภา จะเป็นไปในเรื่องของการเพิ่มอำนาจ และอิทธิพล เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และเพิ่มแรงกดดันไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ชาวมลายูมุสลิมถูกระดมให้เป็นทหาร มีการสอนภาษาไทย ศีลธรรมไทย ประวัติศาสตร์ไทย และความพยายามที่จะผสมผสานอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

สำหรับชาวมลายูมสุลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดินของหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งใช้นโยบาย "ชาตินิยมสุดขั้ว" โดยมีหลักการว่า "ประเทศไทยเพื่อชาติเชื้อไทย" นโยบายนี้เป็นที่รู้จักในนามของไทยรัฐนิยม อันมีความหมายว่าเพียงลักษณะวัฒนธรรมไทยเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตและให้เผยแพร่ในประเทศไทย มีการดำเนินการเพื่อรวมทุกชนเผ่าเชื้อชาติไทย และไม่ใช่ไทยเข้าสู่รูปธรรมทางการเมืองไทย ที่สามัคคี และเข็มแข็ง

ขบวนการนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของรวมเผ่าไทย (Pan Thai) ตามด้วยการเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางการรณรงค์ที่หนักหน่วง นั่นคือ ชื่อของประเทศเปลี่ยนจาก "สยาม" มาเป็น "ประเทศไทย" เมื่อ พ.ศ. 2482 (Ahmad Fathy al-Fatani,1994,8)

ภายใต้ขบวนการไทยรัฐนิยม คนมลายูไม่ได้รับอนุญาต ให้ใช้เครื่องแต่งกายตามประเพณี ไม่สามารถใช้ชื่อภาษามลายู - อาหรับ พร้อมทั้งไม่สามารถใช้ภาษาและอักษรยาวีของพวกเขา ตรงกันข้ามถูกบังคับให้ใช้เครื่องแต่งกายตามตะวันตก เช่น กางเกง และสวมหมวก (สำหรับผู้ชาย) และเสื้อผ้าแบบยุโรป และเสื้อสั้น (สำหรับสตรี) กิจการส่วนตัวและครอบครัวคนมุสลิม เช่น แต่งงานและการรับมรดก ที่เคยได้รับการยกเว้นจากกฎหมายไทย ได้ถูกยกเลิกไป

ด้วยจิตสำนึกถึงภัยอันตราย ที่จะมาคุกคามศาสนา และเชื้อชาติของตนเอง คนมลายูมุสลิมจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจ คือ ถ้ายอมจำนนต่อการปกครองของไทย นั่นหมายถึง การละทิ้งวัฒนธรรมประเพณี ที่ตนเองได้รักษาอย่างหวงแหนทั้งหมด และถูกผสมกลมกลืน แม้ว่าสมาชิกรัฐสภาที่เป็นมลายูมุสลิม และข้าราชการจำนวนเล็กน้อยที่เป็นมลายูมุสลิม ก็เป็นเป้าหมายที่จะถูกผสมกลมกลืน

เพราะฉะนั้น ทางเลือกที่เห็นก็คือ จะอยู่ภายใต้การปกครองของไทย และถูกผสมกลมกลืน หรือกลับไปตั้งขบวนการต่อสู้เพื่อปกครองตนเอง หรือต่อสู้เพื่อเอกราช มีการรณรงค์การต่อสู้ เพื่อเอกราชอีกครั้งหนึ่ง พลังชาตินิยมมลายู ถือกำเนิดอีกครั้ง หลังจากได้สงบอยู่ทศวรรษ

"ก่อการร้ายแยกดินแดน" กลับมาใหม่หรือ?

จากสถานการณ์ความรุนแรง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เริ่มปะทุขึ้นมาใหม่ในระยะเวลาไม่นานหลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าโจรก่อการร้ายและขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ หมดศักยภาพ หรือไม่มีขีดความสามารถ ที่จะคุกคามอำนาจรัฐได้อีกต่อไป คงเหลือแต่โจรมิจฉาชีพเท่านั้น จนเป็นที่มาของการยุบ พตท.43 และ ศอ.บต. ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2545

จากนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เกิดขึ้นเรื่อยมา เริ่มจาก 20 มิถุนายน 2545 ปล้นปืน 30 กระบอก จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติบางลาง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และปล้นอีก 2 กระบอกจากทหารที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เผาโรงเรียน 5 แห่งใน จังหวัดสงขลา วางระเบิด 2 แห่งใน จังหวัดปัตตานี ตามด้วยการยิงหัวคะแนนคนใกล้ชิด ส.ส. พรรคไทยรักไทย กลุ่มวาดะห์

ปี 2546 โจรนินจาออกมาอาละวาด ด้วยลักษณะของนักรบกองโจรที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี และมาถึง ปี 2547 มีการปล้นปืนจากค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อ 4 มกราคม และตามติดด้วยการปะทะจับตายคนร้าย 106 ศพ ในวันที่ 28 เมษายน ล่าสุดวางระเบิดที่ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 26 สิงหาคม มีคนตาย 1 และบาดเจ็บเกือบ 30 คน ที่สำคัญบรรดาผู้บาดเจ็บมีเด็กเป็นจำนวนหลายคน

ประเด็นที่น่าจะวิเคราะห์ควรจะเป็น "อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้นำไปสู่การปฏิบัติที่รุนแรงกว่าเดิมใช่หรือไม่? น่าจะพิจารณาดังต่อไปนี้
1. อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ของชนกลุ่มน้อยที่เสียดินแดน หรือถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าที่ใดในโลก คงสูญสิ้นไปยาก เช่น รัฐเล็ก ๆ ที่แยกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต หรือแม้กระทั่งอดีตรัฐต่าง ๆ ที่เคยอยู่รวมกันภายใต้อดีตประเทศยูโกสลาเวียก่อนที่จะแยกเป็นประเทศออกมา ผู้เขียนได้เคยกล่าวข้างต้นว่า ได้มีการจัดส่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ได้แปลเป็นภาษามลายูให้กับประธานของ PULO ประเทศซีเรีย ท่านได้ตอบจดหมายหลังจากที่ได้รับรัฐธรรม
นูญนั้น มายังนายทหารท่านหนึ่งสังกัดกองทัพภาคที่ 4 และภายหลังถูกนำมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มุสลิมนิวส์ เดือนกันยายน 2543 ซึ่งมีใจความสำคัญว่า "ผมได้เสนอรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น ให้แก่ Supreme Council ของ PULO ได้พิจารณาแล้วและได้มีการลงมติเป็นการชั่วคราวว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 นี้ สมควรอย่างยิ่งที่ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ จะต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดนี้ อย่างไม่มีข้อหลีกเลียง… หากผู้ใดก่อการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน ก็สามารถถือได้ว่าพวกนั้นเป็นพวกโจรก่อการร้าย… ดังนั้นกฎหมายสูงสุดของไทย รัฐธรรมนูญไทย ชาวไทยมุสลิมทุกคนควรจะยอมรับ ยกเว้นชาวปาตานี (หรือที่รู้จักกันในนาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีชาวมุสลิมมลายูอาศัยอยู่) ที่จะยังคงยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือฉบับไหน ๆ ของไทยไม่ได้ แต่จะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เพราะจังหวัดดังกล่าว เคยเป็นรัฐเอกราชมาเป็นเวลายาวนาน ถูกยึดมาด้วยกำลัง… อีกทั้งตามหลักของศาสนาอิสลามด้วยแล้วที่ว่า หากประเทศมุสลิมใดถูกบุกยึด ก็จำเป็นอย่างยิ่งต่อชาวมุสลิมทุกคนที่จะต้องทำการต่อสู้ฟัรดูอีน คือ เพื่อนำอิสรภาพ และความเป็นเจ้าของประเทศกับคืนมา"

นอกจากนี้ ขบวนการ BRN และ PULO ยังได้ทำการเผยแพร่แนวคิดแบ่งแยกดินแดนผ่านทาง Website อย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี แม้กระทั้งในช่วงระยะเวลา ของการใช้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับที่ 4 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลา ที่สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มดีขึ้น ในทุก ๆ ด้านซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ Website ของทั้งสองขบวนการได้มีการแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ในกรณีนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ภายใต้อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่นั้น สังคมไม่เปิดช่องทาง ให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างรุนแรง หรือในวงกว้างเนื่องจากเงื่อนไขทางสังคมอยู่ในสภาพที่ดีพอสมควร

2. ได้มีการยอมรับจากประธาน BERSATU ผ่านทางรายการวิทยุ บีบีซี เมื่อ 24 พฤษภาคม 2547 ว่าอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน คงจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ยากในยุคปัจจุบัน อาจทำได้เพียงทำอย่างไร ให้คนมลายูมุสลิม ได้มีส่วนในการปกครองตนเอง และรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ได้ และได้ปฏิเสธว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2547 ในเรื่องการปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม และเหตุการณ์ในวันที่ 28 เมษายน นั้น BERSATU ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

3. ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ มียุทธศาสตร์ร่วมกันคือ การกู้เอกราชปัตตานีแต่มียุทธวิธีต่างกัน และไม่ขึ้นต่อกัน สำหรับเรื่อยยุทธศาสตร์นั้นดูได้จากการเข้าร่วมลงนามร่วมกันของ 8 กลุ่มภายใต้ BERSATU และได้กำหนดให้มี "รัฐธรรมนูญประเทศมลายูอิสลามปัตตานี" ฉบับ พ.ศ. 2540 ส่วนยุทธวิธีที่แต่ละกลุ่มดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นแตกต่างกันไป เช่น PULO เน้นด้านประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยี BRN เน้นเรื่องมาตรฐานการศึกษาของชาวมลายูปัตตานี การแสวงหาแนวร่วมของ BRN จึงเน้นไปที่สถาบันการศึกษาเป็นหลัก ส่วน GMIP เน้นหนักด้านกองกำลังและศาสตราวุธ มีลักษณะเป็น militant group มากที่สุด แม้ว่าแต่ละกลุ่มจะมียุทธศาสตร์เดียวกัน แต่ทุกกลุ่มก็ไม่ขึ้นต่อกัน เช่น ในขณะที่ประธาน BERSATU ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบันแต่ผู้นำ PULO ออกมาโต้ตอบกับผู้สื่อข่าว บีบีซี ผ่าน Website ของตนว่า "ต้องการกู้เอกราชปัตตานีที่ถูกปล้นเอาไป ถ้าไม่กู้เอกราชแผ่นดินปัตตานีก็ไม่ใช่ PULO" แต่บางครั้งขบวนการต่าง ๆ ก็ทำงานประสานกัน เช่น มีการยอมรับการกระทำร่วมกันระหว่าง PULO กับ GMIP ผ่าน Website PULO เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ว่าได้ดำเนินงานร่วมกัน ในเหตุการณ์ลอบยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เมื่อ 24 ธันวาคม 2544 แต่ในระยะหลัง เกือบจะไม่มีการยอมรับว่า เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำของกลุ่มใด มีแต่การแสดงความชื่นชมต่อเยาวชน ที่เสียชีวิตในวันที่ 28 เมษายน ผ่านทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

4. เมื่อพิจารณาจากอุดมการณ์ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการสร้างความยุติธรรม ให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวมลายูมุสลิม และรักษาเอกลักษณ์วิถีชีวิต ปลดปล่อยประชาชนมาลายูมุสลิม ให้พ้นจากการถูกกดขี่ โดยจะมุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร แต่ทำไม่เหตุร้ายที่เกิดขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะหลัง เป้าหมายคือคนทั่วไป และส่วนใหญ่ก็คือประชาชนมาลายูมุสลิม ที่ต้องเสียชีวิต ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่น่าจะทำลายมวลชนของตนเอง แต่น่าจะเป็นขบวนการอื่น ๆ ที่ดึงเอาประเด็นการแบ่งแยกดินแดน หรือกู้เอกราชปัตตานี มาเป็นข้ออ้างเพื่อเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง หรืออาจจะใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับ Islamic militant groups ที่ก่อการทั่วไป ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ขณะนี้ โดยหวังผลสำเร็จ ที่การก่อเหตุร้ายที่รุนแรง โดยไม่ต้องคำนึงถึงบุคคล ที่จะได้รับผลกระทบ หรือเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้น

5. ข้อมูลจากงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้ทำการสอบถาม ความคิดเห็นจากประชาชน ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องจากรัฐบาล ในเรื่องของความเป็นธรรม ปัญหาความยากจน โอกาสในการศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ที่บกพร่องอย่างมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยปรากฏว่าประชานคนใด แสดงทัศนะว่าไม่รักแผ่นดินไทย ทุกคนส่วนใหญ่ต้องการอยู่กับรัฐไทย แต่ต้องการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของตนเอง และไม่ถูกกดขี่เท่านั้น

6. เมื่อมีการยุบ พตท.43 อำนาจในการปราบปรามอยู่กับตำรวจฝ่ายเดียว มีการกล่าวว่า ระยะ 2 ปี ที่ผ่านมามีคนถูกอุ้ม วิสามัญฆาตกรรมโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การสอบสวนที่ใช้การทารุณอย่างมาก มีคดีสีเทาเกิดขึ้นมากมาย มีนักศึกษาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า "เคยขับรถมอเตอร์ไซค์ ผ่านทหารชั้นประทวนคนหนึ่ง และถูกทหารนั้นเรียกให้หยุดตรวจ ทหารคนนั้นถามว่า จะไปไหนนักศึกษาคนนั้นตอบว่าจะไปปอเนาะ สิ้นเสียงของนักศึกษา ทหารคนนั้นเอาท้ายปืนฟาดที่ศีรษะอย่างแรง" นักศึกษาผู้นั้นระบายความรู้สึกว่า หลังจากวินาทีนั้น คิดอยู่อย่างเดียวว่า พวกเครื่องแบบอย่างนี้แหละ ที่สมควรฆ่าให้ตาย

กรณีของความเจ็บแค้นของญาติผู้ที่ถูกอุ้มหายไป หรือการจับโต๊ะครู และบุตรชาย รวมทั้งหมอท่านหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 ในข้อหามีส่วนพัวพันและเป็นสมาชิก J.I รวมทั้งการหายตัวไปของทนายความที่ชื่อ สมชาย นีละไพจิตร สามารถขยายแนวร่วม ให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุร้ายได้อย่างง่ายดาย ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม สามารถถูกนำมายุยงปลุกระดมเยาวชน ให้ก่อความรุนแรงได้ โดยไม่ต้องสังกัดขบวนการใด

หลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อ 28 เมษายน 2547 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ มีมติให้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 68/2547 เรื่องนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งแล้ว มีความก้าวหน้า เข้าใจสถานการณ์อยู่มากพอสมควร แต่ถ้าตราบใดยังไม่มีการปรับปรุงการหาข่าว แบบกล่าวหาคนทั่วไป โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน ไม่อบรมกิริยา
มารยาทของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ระดับชั้นประทวนลงมา ให้มีกิริยาที่สุภาพและไม่ป่าเถื่อน และมองประชาชนอย่างมิตร ถ้าประชาชนทำความผิด ก็ควรใช้กระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสม กับประเทศที่มีอารยธรรม ถ้าสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถทำได้ อีกกี่ร้อยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ก็แก้ปัญหาไม่ได้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net