Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากการที่นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนยาเอฟาไวเรนซ์ (Effavirenz) ที่รุนแรงมากในหนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 29 มกราคม 2548 หน้า 5 โดยระบุว่า "ในวันที่ 28 มกราคม 2548 โรงพยาบาลระยองไม่มียาที่จะสั่งจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขอเฉลี่ยยามาจากจังหวัดใกล้เคียงที่พอเหลืออยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากยานี้มีความจำเป็นต้องให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาอย่างต่อเนื่อง"

ประเด็นหลักของเรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. ทำไมจึงเกิดการขาดแคลน และประเด็นที่สำคัญกว่าประเด็นแรกคือ 2. แล้วรัฐบาลจะสามารถจัดหายาที่ขาดแคลนมาให้ทันกาล เพื่อรักษาชีวิตของผู้ติดเชื้อได้อย่างไรบ้าง

ประเด็นที่ 1 ทำไมจึงเกิดการขาดแคลน

จากข้อมูลที่ว่า "การขาดแคลนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบสต๊อกยาจาก 3 เดือนเป็น 5 เดือน" คำถามจึงมีว่าทำไมต้องเปลี่ยนระบบ ใครได้หรือเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ คำตอบที่ชัดเจนคือ ผู้ป่วยขาดแคลนยาดังเป็นปรากฎการณ์ปัจจุบันที่ชัดเจน รัฐต้องสต๊อกยาเพิ่มขึ้นเพื่อให้พอเพียงกับการหมุนเวียนยา นั่นคืองบประมาณที่จำเป็นต้องใช้เพื่อสต๊อกยาเพิ่มขึ้น บริษัทยาได้ประโยชน์โดยสามารถประหยัดค่าบริหารจัดการ ได้รับค่ายาจากสต๊อกที่เพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์ข้างต้นน่าจะเชื่อได้ว่าระบบที่เปลี่ยนนี้มาจากฝ่ายบริษัทยา และเนื่องจากยาตัวนี้เป็นยาที่ติดสิทธิบัตรของบริษัทเมอร์ค ซึ่งผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรนี้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการนำเข้าหรือผลิตเพื่อขาย จึงนำไปสู่การที่ผู้ซื้อจำเป็นต้องรับเงื่อนไขที่เสียเปรียบข้างต้น

ประเด็นที่ 2 รัฐบาลจะสามารถจัดหายาที่ขาดแคลนมาให้ทันกาล เพื่อรักษาชีวิตของผู้ติดเชื้อได้อย่างไร

การขาดแคลนยาสิทธิบัตรที่ประจักษ์เช่นนี้ เป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐบาลสามารถใช้ มาตรา 51 ของ พรบ. สิทธิบัตร ในการแก้ไขปัญหาด้วยการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลเพื่อผลิตยาชื่อสามัญ (Generic drug) ใช้ในประเทศ หรือนำเข้ายาเดียวกัน (Original drug) มาจากต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิตามสมควร นั่นคือ ถ้าจะบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาชื่อสามัญนั้น ขณะนี้มีบริษัทใดหรือองค์การเภสัชกรรมสามารถการผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้ได้ทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ คำตอบคือยังไม่มี โดยองค์การเภสัชกรรมกำลังวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีถ้าเช่นนั้นก็จำเป็นต้องนำเข้ายาเดียวกัน (Original drug) มาจากต่างประเทศหรือนำเข้าซ้อน แต่ก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะการขาดแคลนยาขณะนี้เกิดเนื่องจากบริษัทไม่มียา จึงเปลี่ยนระบบให้ไทยสำรองยา 5 เดือนแทน 3 เดือนในปัจจุบัน

ดังนั้นทางออกที่สำคัญคือ การที่รัฐบาลบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญมาจากต่างประเทศภายใต้ระบบของข้อตกลงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2546 ของกรรมาธิการทริปส์ตามย่อหน้า 6 ของปฏิญญาทริปส์และการสาธารณสุข 2544 ที่ว่า ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกที่ไม่สามารถผลิตยาได้เองจะไม่สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กรรมาธิการทริปส์หาทางออก ซึ่งข้อตกลงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2546 นี้เป็นทางออกที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกที่จะใช้ระบบนี้ในการนำเข้ายาติดสิทธิบัตรชื่อสามัญหรือส่งออกยาติดสิทธิบัตรชื่อสามัญด้วยการบังคับใช้สิทธินั้น จำเป็นต้องจัดหามาตรการทางกฎหมายรองรับ นั่นคือการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาเอฟาไวเรนซ์เพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญเอฟาไวเรนซ์ในขณะที่อุตสาหกรรมยาในประเทศยังไม่สามารถผลิตได้กระทำได้ทันที ขณะนี้มีบริษัทยาในต่างประเทศที่ผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้อยู่และพร้อมที่จะส่งให้ประเทศไทยได้ เช่น บริษัทยาในอินเดีย และแคนาดา เป็นต้น ประเด็นสำคัญคือ รัฐมนตรีสาธารณสุขสามารถออกประกาศหรือระเบียบการนำยาชื่อสามัญที่ติดสิทธิบัตรเข้ามาในประเทศ แจ้งความต้องการยานี้ต่อองค์การการค้าโลก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุมัติทะเบียนตำรับยาที่จะนำเข้า และสำนักโลกเอดส์ดำเนินการสั่งซื้ออย่างเร่งด่วน

ทั้งๆ ที่ ข้อตกลงเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2546 ของกรรมาธิการทริปส์จะออกมาปีกว่าแล้ว และหลายประเทศได้ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อใช้ระบบนี้ในฐานะผู้ส่งออก เช่น แคนาดา นอร์เวย์ และอินเดีย และหลายประเทศได้ใช้ประโยชน์จากระบบนี้เพื่อนำเข้ายาที่ขาดแคลน เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการเตรียมพร้อมนี้เลย แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลุ่มศึกษาปัญหายา สภาทนายความ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามเรียกร้องโดยผ่านเวทีประชุมสัมมนา 2 - 3 ครั้งแล้วก็ตาม ดังนั้น ขณะนี้ถึงเวลาที่จำเป็นที่รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ไม่มีเวลาที่จะยืดเยื้อต่อไปแล้วมิฉะนั้นการขาดแคลนยานี้จะรุนแรงและส่งผลเสียต่อชีวิตของผู้ติดเชื้ออย่างแน่นอน

ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net