Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรียนบรรณาธิการ
ส.นักข่าวฯ ยืนยันทำข่าวโพลชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายบากบั่น บุญเลิศ กรรมการและโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า ไม่ให้นำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ออกเผยแพร่เพราะอาจจะเป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ถ้าหากหนังสือพิมพ์ฉบับใดยังคงกระทำการในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนกกต.จะดำเนินการตามกฎหมายนั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอยืนยันในความเห็นเกี่ยวกับการทำโพล 5 ประการว่า

๑. ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา ๓๙ และมีเสรีภาพในทางวิชาการและในการวิจัยตามมาตรา ๔๒ การทำโพลตามหลักวิชาการจึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๒ และการประกาศผลโพลย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓๙

๒. ถึงแม้ว่า กกต. จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๕ (๑) ในการออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ฯ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม ได้ก็ตาม แต่การออกประกาศของ กกต. ที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คือต้องเป็นไปตามมาตรา ๒๙ ซึ่งวรรคหนึ่งบัญญัติว่า "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้"

การที่ กกต. ห้ามทำโพลและประกาศผลของโพลนั้นย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในทางวิชาการตามมาตรา ๔๒ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา ๓๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ กกต. ห้ามทำโพลโดยเด็ดขาดนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งคือเวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันเลือกตั้ง ย่อมเห็นได้ว่ามิใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพ "เท่าที่จำเป็น" อันเป็นเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เพราะถึงแม้ กกต. จะมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม แต่การออกประกาศห้ามทำโพลถึงขนาดที่เป็นการห้ามโดยสิ้นเชิงนับตั้งแต่วันที่วันที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพที่เกินกว่าความจำเป็น ดังนั้นประกาศนี้ของ กกต. จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙

๓. นอกจากนี้แล้ว ถึงแม้รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๕ (๑) จะให้อำนาจแก่ กกต. ในการออกประกาศต่างๆ ได้ แต่ กกต. ก็มีอำนาจออกได้เพียงประกาศ "อันจำเป็น" แก่การปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น มิใช่มีอำนาจออกประกาศได้ทุกเรื่อง ซึ่งประกาศห้ามทำโพลและประกาศผลโพลนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้ง ไม่อาจเห็นได้เลยว่าเป็นประกาศ "อันจำเป็น" แก่การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งแต่อย่างไร ประกาศห้ามทำโพลของ กกต. จึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๕ (๑) อีกด้วย

๔. ประกาศต่างๆ ของ กกต. นอกจากจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายฉบับต่างๆ ด้วย ซึ่ง กกต. ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา ๔๕ (๕) ออกประกาศฉบับนี้ ซึ่งมาตรา ๔๕ (๕) บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังนี้... (๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด"

การออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๕ (๕) นี้ จึงต้องเป็นการออกประกาศที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการ "หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด" ซึ่งในการทำโพลที่เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่ได้มีเจตนา "จูงใจ" ให้มีการ "เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด" กกต. ย่อมไม่อาจที่จะอาศัยมาตรา ๔๕ (๕) ห้ามได้

การห้ามทำโพลและห้ามประกาศเผยแพร่ผลของโพลนอกจากจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว จึงยังเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ อีกด้วย

๕. ในต่างประเทศนั้น การทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องคะแนนนิยมหรือคะแนนเสียงของผู้สมัครเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย และการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนถ้าจะมีการห้ามการทำโพลจึงมักจะเป็นการห้ามเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนหน้าวันเลือกตั้งเท่านั้น เช่น ประเทศฝรั่งเศสมีการห้ามการทำโพลก่อนหน้าวันเลือกตั้ง ๑ สัปดาห์ หรือประเทศเยอรมันไม่มีห้ามการทำโพลเลย เพียงแต่ถ้าเป็นการทำโพลที่สอบถามผู้ลงคะแนนเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่าเอ็กซิทโพล จะมีแต่เพียงการห้ามมิให้มีการประกาศผลโพลก่อนหน้าเวลาปิดหีบเลือกตั้งเท่านั้น และที่สำคัญที่สุดคือ เนื่องจากการห้ามเหล่านี้เป็นเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องเป็นการห้ามโดยอาศัยกฎหมาย มิใช่การห้ามโดยการออกประกาศขององค์กรรัฐองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ก็จะเห็นได้ว่าตามมาตรา ๒๙ นั้น

"การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย...เท่านั้น" กกต. จึงไม่มีอำนาจในการออกประกาศห้ามทำโพลแต่อย่างใด

นายบากบั่น กล่าวว่า หากการจัดทำและการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยหนังสือพิมพ์เป็นไปโดยสุจริตใจ เหมาะสม และเคารพกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 48 ที่บัญญัติไว้ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกาของวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง" แล้วการเผยแพร่ผลการสำรวจดังกล่าวย่อมไม่มีปัญหา ต่างจากคำสั่งห้ามทำโพลโดยเด็ดขาดนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งของกกต. ซึ่งสมาคมนักข่าวฯและนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งสมาคมนักข่าวฯเคยเรียกร้องให้ กกต. ยกเลิกประกาศห้ามฉบับนี้โดยเร็วที่สุดมาแล้ว

"สมาคมเชื่อว่า สมาชิกของสมาคมจะไม่ละเลยบทบัญญัติ มาตรา 48 แห่งกฎหมายเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องให้กกต.ทบทวนมติเกี่ยวกับการทำโพลอีกครั้งซึ่งทางสมาคมฯจะติดตามให้มีการแก้ไขเรื่องนี้ต่อไปแม้ว่าการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม" นายบากบั่น กล่าว

4 กุมภาพันธ์ 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net