เมื่อการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่ได้นำไปสู่ข้อเท็จจริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แถลงการณ์โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)

เป็นเวลากว่าหนึ่งอาทิตย์ ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยได้ประกาศว่าจะมีการสอบสวน เจ้าหน้าที่สามนายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 85 ศพ ที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ดังกล่าวถูกกล่าวหา ภายใต้การ " กระทำการด้วยความไม่ระมัดระวัง " ต่อการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต 78 ศพ ในระหว่างการจับกุม

การเสียชีวิตหมู่ที่นราธิวาสนี้สมควรที่จะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากหลาย ๆ ฝ่าย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า กลับไม่มีฝ่ายใดให้ความสนใจ อาจเป็นไปได้ที่ต่างรู้ดีว่า ในที่สุดแล้ว ผู้มีส่วนรับผิด
ชอบต่อการตายก็คงยังลอยนวลต่อไป AHRC ได้ทราบข่าวว่าหัวหน้าหน่วยสืบสวนชุดใหม่นี้ได้ประกาศออกมาแล้วว่า มันเป็นการเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสามจะถูกลงโทษหรือไม่ และหากถูกลงโทษก็จะเป็นเพียงการให้ออกจากราชการ เท่านั้น

อันที่จริง รัฐบาลไทยได้แสดงความไม่จริงใจตั้งแต่ต้น ต่อการสอบสวนถึงการตายที่นราธิวาส โดยแทนที่รัฐจะจัดให้มีการสอบสวนด้านตุลาการโดยคณะทำงานที่เป็นอิสระ เพื่อนำผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว รัฐบาลกลับตั้งคณะทำงานเพียงเพื่อศึกษาและทำรายงาน

ดูเหมือนว่ารัฐได้พยายามแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า การทำงานของคณะทำงานนี้ เป็นไปเพื่อความโปร่งใส ยุติธรรม เพื่อการดำเนินการอย่างเหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ การพยายามขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายและญาติพี่น้องได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง บัดนี้ความจริงก็ปรากฏชัดเจนขึ้น เมื่อรัฐไม่ได้เปิดเผยรายงานการสอบสวนทั้งหมดต่อสาธารณะ และมีเพียงเจ้าหน้าที่สามนายเท่านั้นที่อาจจะต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตั้งคณะทำงานสอบสวนด้านตุลาการที่เป็นอิสระ ตั้งแต่แรกที่มีการรายงานถึงโศกนาฏกรรมนี้ และได้ทักท้วงด้วยว่าการที่รัฐบาลปฏิเสธหรือยืดเวลาการสอบสวนด้านตุลาการจะส่งผลต่อการดำเนินคดีนี้ ขณะนี้ เป็นที่กระจ่างชัด และน่าเศร้าใจที่ว่ารัฐได้ใช้การปฏิเสธหรือยืดเวลาการสอบสวนด้านตุลาการจริง ๆ ทำให้หวังได้ยากยิ่งขึ้นว่า ผู้กระทำผิดจะได้รับการดำเนินคดีอันสมควรต่อการกระทำ

ผู้ที่ได้รับผลลัพธ์ของความล้มเหลวในครั้งนี้มากที่สุดคือครอบครัวของผู้เสียชีวิต ที่ในที่สุดคงต้องทำใจว่าความยุติธรรมคงไม่เกิดขึ้นกับคนรักของพวกเขา แต่อันที่จริง ความยุติธรรมที่ไม่เกิดขึ้นก็จะส่งผลต่อคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง ตั้งแต่การสังหารผู้คนกว่า 2,500 คน ในสงครามยาเสพติด ปี 2546 ความรุนแรงที่เกิดในภาคใต้ตั้งแต่ เมษายนถึงตุลาคม 2547 ทั้งหมดนี้ ในที่สุดจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงต่อไปอีกในอนาคต

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง คือ การเกิดขึ้นของหายนะภัยสึนามิ ซึ่งไม่ได้เพียงแค่ทำลายชีวิต บ้านเรือน และทรัพย์สินของผู้คนนับหมื่นนับแสน แต่ยังทำลายการรับรู้ต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ อื่นๆ ด้วย เหตุการณ์นราธิวาสถูกกลบฝังลงไปอันเนื่องจาก การนำเสนอข่าวรายวันต่อการฟื้นฟูหลังสึนามิ และการกระตือรือร้นหาเสียงของผู้คนในรัฐบาลเพื่อที่จะเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้

เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก ไม่เพียงแต่กับผู้เสียชีวิตและญาติพี่น้องเท่านั้น แต่รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดในประเทศไทยด้วย ที่ความล้มเหลวต่อการหาคำอธิบายต่อคำถามมากมายที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์นราธิวาส ได้ส่งผลให้เกิดคำถามอีกมากมายต่อความไม่สมบูรณ์ของงานด้านตุลาการและความยุติธรรม ดูเหมือนว่า สิ่งเดียวที่คณะทำงานสืบสวนข้อเท็จจริงได้ทำให้เห็นคือ การลอยนวลของผู้ต้องรับผิดชอบต่อการตาย ซึ่งมีความยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากกว่าระบบยุติธรรมในสังคม

ประเทศไทย ได้เป็นภาคีของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
( ICCPR ) นั่นหมายถึงว่า รัฐไทยจะให้การเคารพต่อกติกาดังกล่าว ใน ICCPR ข้อ 2 ได้ระบุว่ารัฐภาคีแต่ละรัฐรับที่จะให้ความมั่นใจว่า บุคคลใดก็ตามที่สิทธิหรือเสรีภาพของตนอันยอมรับแล้ว ณ ที่นี้ ถูกล่วงละเมิด ย่อมมีทางบำบัดแก้ไขอย่างเป็นผลจริงจัง โดยไม่ต้องคำนึงว่าการล่วง ละเมิดจะเกิดจากบุคคลปฏิบัติการตามหน้าที่ก็ตาม

แต่สิ่งที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้เรียนรู้ก็คือ กระบวนการสืบสวนสอบสวนและอำนาจตุลาการนั้น ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐที่จะให้เป็นไปแบบใดก็ได้ และเมื่อการสอบสวนข้อเท็จจริงและส่งฟ้องผู้กระทำผิดไม่สามารถทำได้จริง ความยุติธรรมอื่น ๆ ก็ไม่ต้องเอ่ยถึง

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียจึงขอเรียกร้องมายังผู้ที่ห่วงใยต่อประเด็นนี้อีกครั้ง โดย เฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกวุฒิสภา นักกฎหมาย ผู้ทำงานด้านสื่อ และผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้ช่วยกันติดตามและสร้างให้เกิดการอภิปรายกันในสังคมมากขึ้นต่อเหตุการณ์นราธิวาส และร่วม กันเรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานสืบสวนข้อเท็จจริงด้านตุลาการ มิฉะนั้น รากฐานของระบบยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนก็จะอ่อนแอ ส่งผลร้ายกับสมาชิกทุกคนในสังคมไทย ขอให้ในที่สุดความยุติธรรมได้บังเกิดขึ้นในสังคม

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท