ประชามติจากชายแดนใต้ "เราไม่เอาทักษิณ"

ศูนย์ข่าวภาคใต้

ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด ที่คนภาคใต้ยังคงจงรักภักดีต่อ "พรรคประชาธิปัตย์"

ขณะเดียวกัน กรณี "นายกฤษณ์ สีฟ้า" แห่งพรรคไทยรักไทย เบียดแทรกเอาชนะผู้สมัครคู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ "นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฐ" ในพื้นที่พังงา เขต 2 ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นเต้นอะไรกันมากมาย

ด้วยเพราะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า อานิสงส์แห่งการเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อคลื่นสิมามิ ในนามรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย โดยมิต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่า จะถูกใบแดงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ย่อมเป็นข้อได้เปรียบคู่ต่อสู้อย่างฉกาจฉกรรจ์อยู่ในตัว

เรื่องที่น่าตระหนกตกใจอย่างยิ่ง สำหรับคอการเมืองต่อผลการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ ก็คือ กรณีคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัดเยื่อใย "กลุ่มวาดะห์" แห่งพรรคไทยรักไทย ด้วยการเทคะแนนเลือก "พรรคประชาธิปัตย์" ชนิดท่วมท้น

จน "กลุ่มวาดะห์" กลุ่มการเมืองมุสลิม ที่ผูกขาดพื้นที่นี้มาเนิ่นนาน ตกอยู่ในสภาพสูญพันธุ์ทางการเมืองในพื้นที่นี้

โชคดีอยู่บ้าง ตรงที่ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" กับ "นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์" 2 แกนนำแห่ง "กลุ่มวาดะห์" ยังคงมีโอกาสได้ทำงานการเมืองในสภาต่อไปอีกสมัย

ทว่า ไม่ได้เดินเข้าสู่สภาจากฐานการสนับสนุนของผู้คนที่เป็นฐานเสียงดั้งเดิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เข้ามาในฐานะ "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ" สังกัดพรรคไทยรักไทย

ทำไม "กลุ่มวาดะห์" แห่งพรรคไทยรักไทย จึงสอบตกกราวรูด ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ โพลหลายสำนักระบุว่า ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทย ใน 3 จังหวัดนี้ จะได้รับเลือกถึง 8 ที่นั่ง จากทั้งหมด 11 เขตเลือกตั้ง

นั่นคือ จังหวัดปัตตานี เขต 1, 3, 4 จังหวัดนราธิวาส เขต 1, 3, 4 และจังหวัดยะลา เขต 2, 3 เขตที่เหลือจึงจะตกเป็นของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

ทว่า เมื่อนับคะแนนกันจริงๆ กลับปรากฏว่า ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์กวาดเรียบ

ยกเว้นก็แต่เฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส เขต 3 ที่ตกเป็นของผู้สมัครจากพรรคชาติไทย คือ "นายกูเฮง ยาวอหะซัน" ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นาน ถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บ ขณะที่คนขับรถเสียชีวิต อันเป็นที่มาของเสียงบอกเล่าว่า เป็นการเข้าวินจากคะแนนสงสาร เป็นคะแนนสงสารที่มาพร้อมกับกระสุนปืน

ดูเหมือน "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรี จะรับผลสะเทือนจากการเทเสียงให้กับพรรคคู่แข่งของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คราวนี้โดยตรง

ในฐานะ "หัวหน้าพรรคไทยรักไทย" ผู้นำพรรคคนนี้เคยประกาศว่า จะคว้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 20 ที่นั่ง

ถึงแม้ต่อมาจะลดเป้าลงเหลือ 15 ที่นั่ง ทว่า เป็นที่รับรู้กันอยู่นัยๆ ว่า ความหวังจริงๆ ของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การนำของ "กลุ่มวาดะห์" และอีกบางเขตเลือกตั้งของดินแดนด้ามขวานเท่านั้น

แน่นอน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ย่อมรู้สึกผิดความคาดหมายเป็นธรรมดา

ทว่า ในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ โดยรัฐบาลตัดสินใจตอบโต้กลุ่มผู้ก่อการ ในลักษณาการ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" จนผู้คนบาดเจ็บล้มตายสูญหายมากมายมหาศาล ตลอดช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา

ย่อมมีผลกระทบต่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะนายกรัฐมนตรี รุนแรงยิ่งกว่าผลกระทบที่มีต่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทยหลายเท่า

อันเห็นได้ชัดจากการเลื่อนการเดินทางลงไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 ออกไปโดยไม่มีกำหนด

เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มบ่มเพาะความรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงปี 2545 ต่อเนื่องปี 2546
อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภายหลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยุค "ร.ต.อ.ปุรุชัย เปี่ยมสมบูรณ์" รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ตัดสินใจยุบ "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" และ "กองกำลังพลเรือนตำรวจทหารที่ 43"

ผ่องถ่ายอำนาจจากกองทัพภาคที่ 4 และฝ่ายปกครอง มาอยู่ในมือ "ตำรวจ"

สมัยนั้น "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง มีการซักถามถึงกำลังของกลุ่มโจรก่อการร้ายในจังหวัดภาคใต้ว่า มีอยู่จริงเท่าไหร่

คำตอบของผู้บังคับบัญชาระดับสูง จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ก็คือ มีอยู่แค่ 50 -60 คนเท่านั้น เป็น 50 - 60 คน ที่ไร้พิษสงอีกต่างหาก

"ผมขอเดือนละ 10 ราย ก็แล้วกัน" เป็นคำสั่งเชิงนโยบายของผู้ใหญ่ในที่ประชุมรายหนึ่ง

ส่งผลให้ต่อมาเกิดกรณีอุ้มฆ่าที่เชื่อกันว่า เป็นฝีมือของตำรวจบางกลุ่ม และกรณีลักลอบเข้าบ้านของ "กลุ่มโจรนินจา" ที่เล่าลือกันในพื้นที่กันว่า เป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ

อันนำมาสู่การล้อมกรอบรุมกระทืบตำรวจจนเสียชีวิต ด้วยเชื่อว่านี่แหละคือ "โจรนินจา" และการยิงตอบโต้ตำรวจ ระหว่างการล้อมจับผู้ร้ายในถิ่นนี้ จนนายตำรวจระดับผู้กำกับการถูกยิงเสียชีวิต

ท่ามกลางเสียงซุบซิบเซ็งแซ่ไปทั่วว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ มี "รัฐมนตรีว่าการ" กระทรวงใหญ่รายหนึ่ง ลงมาเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภาค 9 ให้นโยบายว่า…

"ถ้าเชื่อได้ 20 เปอร์เซ็นต์ คนไหนเป็นโจรก่อการร้ายให้ค้นได้ ถ้ามั่นใจว่า คนนี้เป็นพวกก่อการร้ายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ให้จัดการได้เลย"

เป็นเสียงเล่าลือที่ทำให้สายตาของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หันหลับไปมอง "นายวัน มูหะมัดนอร์ มะทา" ที่คนเหล่านี้เคยศรัทธา ด้วยสายตาเคลือบแคลง

แน่นอน หลังจากการประชุมในวันนี้ สิ่งที่ตามมา ก็คือ เหตุการณ์อุ้มไปรีดข้อมูลผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายคนถูกส่งกลับบ้านในสภาพเป็นศพ บางรายก็หย่อนกลับลงมาทางเฮลิคอปเตอร์

อันพัฒนามาสู่ความรุนแรงรายวัน หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มาจนถึงบัดนี้

ขณะที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ตัดสินใจใช้นโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน มึงบ้ามากูก็บ้าไป ใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง

ถึงกระนั้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรง อันเกิดจากปฏิบัติการฆ่ารายวัน ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้รัฐบาลจะส่งกำลังทหารลงมาจำนวนมาก รวมทั้งตั้ง "กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้นมาเป็นกลไกในการแก้ปัญหา ตามด้วยการทุ่มงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทมาให้ใช้

ทว่า แม่ทัพภาค 4 และรัฐมนตรีที่เข้าดูแลแก้ปัญหานี้ ก็ถูกปรับเปลี่ยนตัวคนแล้วคนเล่า

เหตุการณ์พุ่งสู่ความร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ออกปฏิบัติการบุกฐานตำรวจทหาร 11 จุด เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่ฝ่ายชาวบ้านถูกตอบโต้จากทหารและตำรวจตาย 108 ศพ

ในจำนวนนี้ 32 ศพ ถูกทหารถล่มยิงตายคามัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี

ตามมาด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุม เรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาหมู่บ้าน 6 คน ที่ตกผู้ต้องหามอบอาวุธให้โจรก่อการร้าย ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

คราวนี้ มีคนตาย 85 ศพ ในจำนวนนี้ 6 ศพ ถูกยิงตายในที่เกิดเหตุ ระหว่างสลายการชุมนุม อีก 78 ศพ เสียชีวิตจากความบกพร่อง ระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมจากหน้าโรงพักตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

นี่ยังไม่นับรวมคนบาดเจ็บ และพิการ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้นอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้ง 2 เหตุการณ์ส่งผลต่อความรู้สึกที่มีต่อ "รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" และพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะต่อนักการเมืองใน "กลุ่มวาดะห์" ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นมองว่า นอกจากจะไม่ปกป้องคนมุสลิมด้วยกันแล้ว ยังยืนอยู่ข้างรัฐบาลที่ทำร้ายคนในพื้นที่อีกต่างหาก

อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ เห็นได้จากการการประเมินของ "นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส

"นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด" ประเมินว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ และไม่โกรธที่รัฐตัดสินใจตอบโต้เด็ดขาด ยกเว้นกรณีล้อมปราบคนที่หลบเข้าไปอยู่ในมัสยิดกรือเซะ ที่มุสลิมบางส่วนรู้สึกสะเทือนใจ

แตกต่างจากเหตุการณ์ 85 ศพตากใบ ที่ล้วนแล้วมีแต่คนไม่พอใจ

"ลำพังมีคนตายในที่ชุมนุม 6 คน ยังพอรับกันได้ แต่อีก 78 ศพ ที่ตายระหว่างการขนย้าย เป็นสิ่งที่คนมุสลิมในพื้นที่รับไม่ได้" เป็นถ้อยเน้นย้ำของ "นายอับดุลเร๊าะห์มาน อับดุลสอมัด"

นี่คือ เหตุผลสำคัญที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เลือกพรรคไทยรักไทย และตัดสินใจลอยแพนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ ในสายของผู้นำศาสนารายนี้

ด้วยเพราะผู้เสียชีวิตแต่ละราย ล้วนแล้วแต่มีญาติพี่น้อง มีเพื่อนบ้าน มีคนมุสลิมในพื้นที่อีกมากมาย ที่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านอารมณ์ความรู้สึกว่า รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ

คำถามที่ตามมา ก็คือ นักการเมืองมุสลิมในพื้นที่หายไปไหน ทำไม ถึงไม่ออกมาปกป้องไม่ออกมาดูแลคนมุสลิม ซึ่งเป็นฐานส่งให้นักการเมืองเหล่านี้ได้เติบใหญ่อยู่ในปัจจุบัน

คำถามเหล่านี้ พุ่งตรงไปยัง "กลุ่มวาดะห์" ที่มี "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" เป็นแกนนำ

นอกจากเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว กรณีที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่ อย่างการอุ้ม "นายสมชาย นีละไพจิตร" ทนายความมุสลิม ผู้เป็นที่พึ่งของชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ส่งผลให้คนพื้นที่นี้ ปฏิเสธ "พรรคไทยรักไทย"

ขณะที่ "นายวศิน สาเมาะ" จากเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดปัตตานีมองว่า นอกจากชาวบ้านจะไม่ยอมรับวิธีการแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ก็คือ "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" ไม่เคยตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนแม้แต่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นกรณีต้องการให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ต้องการให้ถอนทหารออกจากพื้นที่

คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เห็นปรากฏการณ์หัวคะแนนพรรคไทยรักไทย รับเงินมาแจกจ่ายผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือเอกสารของพรรคไทยรักไทยออกหาเสียง แต่กระซิบให้ผู้มีสิทธิลงคะแนน ให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์

นักการเมืองที่ประเมินสถานการณ์นี้ได้ดี จึงน่าจะเป็น "นายสุธิพันธ์ ศรีริกานนท์" ที่เกือบเป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส เขต 2 ของพรรคไทยรักไทย ที่ตัดสินใจไม่ลงสมัคร หลังจากเข้าไปปรึกษาโต๊ะครูในเขตเลือกตั้ง 4 คน ทุกคนให้ความเห็นว่า ถ้าลงสมัครในสังกัดพรรคไทยรักไทยสอบตกแน่ๆ

แล้วทำไมโพลล์สำนักต่างๆ จึงออกมาว่า พรรคไทยรักไทยจะได้ถึง 8 ที่นั่งในพื้นที่นี้ด้วยเล่า

คำตอบก็คือว่า สำหรับคน 3 จังหวัดภาคใต้แล้ว เพื่อความปลอดภัย คำตอบที่ให้กับคนแปลกหน้า จะต้องยืนอยู่ข้างรัฐเสมอ

จึงไม่แปลกอันใด ที่ผู้ทำโพลจะได้รับคำตอบว่า ผู้มีสิทธิในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เลือกพรรคไทยรักไทย

ถึงกระนั้น การเทเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คราวนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าตรงไปตรงมาว่า จะไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคการเมืองอื่น

ด้วยว่านัยยะประการสำคัญ นอกจากจะเป็นการประกาศว่า พื้นที่นี้ไม่เอา "พรรคไทยรักไทย" พื้นที่นี้ไม่ต้องการ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" พื้นที่นี้ปฏิเสธ "กลุ่มวาดะห์" ในร่มเงาพรรคไทยรักไทยแล้ว

คอการเมืองในภาคใต้ตอนล่างระบุชัดเจนว่า การเลือกตั้งคราวนี้ สำหรับ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ไม่ได้มาลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทว่า เป็นการเดินเข้าคูหาลงประชามติ ไม่เอา "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" พรรคประชาธิปัตย์ คือ เครื่องมือสำหรับการลงประชามติคราวนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท