เวียงแหงระดมพลใหญ่ เตรียมทวงสัญญาแม้วยกเลิกเหมืองถ่านหิน

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - 8 ก.พ.2548 เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้านเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่กว่า 2,000 คน ได้จัดขบวนรถยนต์และจักรยานยนต์ประมาณ 350 คัน ออกรณรงค์คัดค้านการสร้างเหมืองถ่านหิน พร้อมจัดเวทีสาธารณะสร้างความเข้าใจกรณีโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหิน โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านแม่เมาะ และตัวแทนชาวบ้านเวียงแหง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รักษาคำมั่นที่ให้ไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่าจะยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง โดยให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ขบวนรถยนต์ของผู้กลุ่มคัดค้านได้มาถึงบริเวณบ้านไผ่ ได้มีกองกำลังทหารม้าพร้อมอาวุธครบมือตั้งด่านตรวจไม่ให้ชาวบ้านผ่านไป จนเกิดการโต้เถียงกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุม ในที่สุดมีการเจรจากัน และชุดทหารยินยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่านไปได้

แม่เมาะเตือนอย่าหลงกล "มติครม."

ในส่วนของเวทีสาธารณะนั้น นางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ แกนนำชาวบ้านผู้คัดค้านเหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ได้กล่าวถึงตัวอย่างปัญหาที่ชาวบ้านแม่เมาะได้รับผลกระทบจากเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ รวมทั้งให้กำลังใจชาวบ้านเวียงแหงให้คัดค้านอย่างเต็มที่

"พี่น้องเวียงแหงอาจเรียกร้องให้รัฐบาลยืนยันด้วยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่สำหรับชาวแม่เมาะเราไม่เชื่อมติครม.อะไรทั้งนั้น เพราะที่บอกจะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า มีมติครม.ออกมาถึง 4 ครั้งภายใน 6 เดือน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น" นางมะลิวัลย์กล่าว

นายคำ ตุ่นหล้า ตัวแทนชาวบ้านอำเภอเวียงแหง ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งล่าสุด ว่า หลังจากมีโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตั้งแต่ต้นปี 2546 ทาง กฟผ.ได้พาผู้นำชุมชน พร้อมชาวบ้านไปดูงานที่แม่เมาะ จ.ลำปาง แต่เป็นเพียงการจัดฉาก เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี โดยไม่พบผลกระทบใดๆ หลังจากชาวบ้านกลับมาแล้ว ได้เกิดความคิดเห็นเป็นสองฝ่าย คือกลุ่มที่เห็นว่าดี เพราะได้รับความอนุเคราะห์จาก กฟผ. กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเพราะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

อาภา หวังเกียรติ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะอนุกรรมกาด้านเหมืองแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุผลของการเกิดเหมืองถ่านหินเวียงแหงว่า การใช้ถ่านหินจากแหล่งแม่เมาะนั้นสกปรกมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดกันไว้มาก ทำให้ต้องมีการสั่งซื้อถ่านหินจากต่างประเทศมาผสม การเกิดเหมืองที่เวียงแหงจะทำให้ลดต้นทุนลงได้มาก แต่การทำเหมืองในเมืองไทยนั้นเป็นระบบเปิด ที่ต้องมีการระเบิด เปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดฝุ่นมากมาย ซึ่งในต่างประเทศไม่ยอมรับ

"เป้าหมายการผลิต 300 ตันต่อวันจะก่อมลพิษทางอากาศมหาศาล ประกอบกับพื้นที่ภูมิประเทศโดยรอบของเวียงแหงเป็นแบบปิดคล้ายแม่เมาะจะกันอากาศเสียไม่ให้ถ่ายเท ไม่นับรวมผลกระทบเรื่องเสียง กลิ่น และแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้บ้านชองชาวบ้านห้วยคิงใกล้ๆ โรงไฟฟ้าแม่เมาะแตกร้าว ที่ผ่านมาประเทศเรายังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนว่าเหมืองหรือโรงไฟฟ้าควรอยู่ห่างจากชุมชนเท่าใด" อาจารย์จากม.รังสิตกล่าว

"ชัชวาลย์" จวกนักวิชการเครื่องซักผ้า

นายชัชวาลย์ บุญปัน อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวเวียงแหงกำลังเผชิญกับมลพิษ ไม่เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเผชิญมลพิษด้านวิชาการด้วย เพราะนักวิชาการที่ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วน ทำตัวเหมือนเครื่องซักผ้า ที่ซักฟอกโครงการที่ไม่สะอาด คอยสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอให้คนเวียงแหง
ตัดสินใจเอาเองว่า จะยอมให้มีการระเบิดหินตลอด 24 ชั่วโมง ในระยะเวลาโครงการ 17 ปี และมีการบรรทุกขนถ่านหินวันละ 460 เที่ยวหรือไม่ ที่สำคัญคือ เกิดฝุ่นละออง สารพิษ ทำลายชีวิตผู้คน จะมาแทนที่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแม่น้ำที่สะอาด ปลูกพืชผัก ผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท