Skip to main content
sharethis

ในสถานการณ์ที่พรรคไทยรักไทยครองเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ขณะที่สังคมเริ่มกังวลถึงการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เนื่องจากเสียงของพรรคฝ่ายค้านน้อยเกินกว่าที่จะใช้กลไกทางรัฐสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

อย่างไรก็ดี เสียงจากภาคประชาชนภาคใต้ กลับเห็นว่า เป็นภารกิจของภาคประชาชนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ
การเมืองภาคตัวแทน

"วิชาญ เพชรัตน์" ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้

ประชาชนได้เริ่มจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ขยับอะไรมากนัก เพราะต้องรอดูว่า คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร

ภาคประชาชนต้องเตรียมรับมืออยู่แล้ว เพราะต่อไปการชุมนุมและเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในทางตรง อาจจะถูกคุกคามมากขึ้น อย่างไรก็ตามภาคประชาชน จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลต่อไป

ผลการเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นใครั้งนี้ เป็นอันตรายต่อสังคมไทยมาก เพราะที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดมากมายว่า การปฏิบัติจริงของนักการเมืองมักสวนทางกับสิ่งที่รับปากไว้

รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะโดยโครงสร้างแล้ว รัฐบาลอยู่ในโครงสร้างของระบบทุนนิยม และมีแนวโน้มว่าการคอรัปชั่นเชิงนโยบายจะมีมากขึ้น ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แม้จะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับภาคประชาชน ก็อาจยอมจำนนให้กับอำนาจทุน

สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาจถูกคุกคามมากขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะอ้างประชาธิปไตยก็ตาม แม้แต่สื่อมวลชนเองก็อาจถูกคุกคามมากขึ้น การที่ประชาชนในภาคใต้ไม่เลือกพรรคไทยรักไทย เพราะคนใต้รู้เท่าทันแนวคิดของรัฐบาล ส่วนคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เลือกก็เพราะคนที่นั่นไม่ยอมรับแนวทางที่รุนแรงในการแก้ปัญหา

เพราะฉะนั้นรัฐบาลทักษิณชุดใหม่จะต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารประเทศ แต่ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนอะไรมากหรือไม่ เพราะปัญหาต่างที่ภาคประชาชนเคยเสนอมาให้รัฐบาลแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ไม่ว่า เรื่องที่ดินทำกิน ประมงชายฝั่ง ฐานทรัพยากรในชุมชน หรือ โครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่ยังคงเดินหน้าต่อ

หลังจากนี้ภาคประชาชนต้องมาร่วมตัวกันมากขึ้น ในการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ในการต่อสู้เรียกร้องต่างๆ จะไม่ตั้งรับ แต่ต้องรุก เพราะที่ผ่านมาภาคประชาชนได้วิธีการเรียกร้องและประนีประนอม แต่ไม่เป็นผล

ภาคประชาชนจะแยกกันต่อสู้ไม่ได้ เพราะนโยบายที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐ ประชาชนจะต่อสู้อย่างลำพังไม่ได้ ยุทธศาสตร์ 13 ล้านไร่ที่จะให้นายทุนปลูกปาล์มน้ำมันยังคงอยู่ในความคิดของรัฐบาล ถ้าผลักดันต่อไปแล้วคนจนจะอยู่ที่ไหน ถ้าเอามาให้คนจน ก็จะทำให้หายจนได้ แม้แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากซึนามิรัฐบาลก็ไม่ได้เอาประเด็นที่ดินทำกินมาพิจารณาด้วย

เรื่องกฎหมาย 11 ฉบับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ รับปากว่าจะแก้ จนป่านนี้แล้วก็ยังไม่ได้แก้ ซ้ำร้ายนักวิชาการที่วมกันผลักดันในเรื่องนี้ หรือ นักการเมืองบางคน เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ก็อาจจะถูกจำกัดบทบาทมากขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่นี้

บรรจง นะแส ผู้จัดการโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลภาคใต้

ภาคประชาชนไม่เคยอิงกับพรรคการเมืองใด ที่ผ่านมาภาคประชาชน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้ง เรื่อง ท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ปัญหาที่ดินทำกินในจังหวัดลำพูน สุราษฎร์ธานี หรือการให้นายทุนมาเลเซีย เช่าที่ดินทำสวนปาล์มที่จังหวัดกระบี่ พรรคฝ่ายค้านไม่เคยมาร่วมตรวจสอบกับภาคประชาชนเลย และมีผลประโยชน์
ร่วมอยู่ด้วย

การตรวจสอบรัฐบาลในสภาของพรรคฝ่ายค้านนั้น ภาคประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนแสดงบทบาทนั้นอยู่แล้ว ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะมาหรือไม่มาร่วมตรวจสอบรัฐบาลของพรรคไทยรักไทยกับภาคประชาชนก็ได้ แต่ต้องให้ภาคประชาชนมีบทบาทเป็นตัวตั้ง การตรวจสอบรัฐบาลเป็นเรื่องของภาคประชาชนต้องทำอยู่แล้ว และจะดำเนินการต่อไป เพราะเป็นวาระของภาคประชาชนอยู่แล้ว ไม่ต้องมาประชุมหารือ

ที่ผ่านมาภาคประชาชนไม่ได้หวังพึ่งอะไรมากนักกับพรรคการเมือง ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่พรรคการเมืององประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าอุดมการณ์ของพรรคการเมืองจะบอกว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ที่จริงไม่ใช่

ดูจากพฤติกรรมการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ยังคงมีการดูถูกประชาชนโดยซื้อเสียง มีทุกพรรคการเมืองที่ซื้อเสียง มีหลักฐานชัดเจน เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองที่อยู่จึงไม่ใช่พรรคการเมืองในอุดมคติของสังคมไทย

ภาคประชาชนต้องอยู่กับข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริง คือการประกอบอาชีพ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเครื่อง
มือคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ไม่ใช่พรรคการเมือง ภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งพรรคการเมือง แต่ว่าสังคมไทย ได้ให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวปกป้องภาคประชาชนแทน บทบาทของภาคประชาชน ก็คงเหมือนเดิม คือการอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าต้องอยู่กับความข้อเท็จจริง

ผลการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวสะท้อนที่ดีอย่างหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล แต่หลังจากนี้อาจจะมีตัวสะท้อนอย่างอื่นอีก ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องตีความให้ได้ว่าประชาชนต้องการอะไร

รอชิดี เลิศอารยะพงษ์กุล นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.)

การที่พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดอภิปรายเพื่อตรวจสอบรัฐบาลชุดใหม่ของพรรคไทยรักไทยยากขึ้นนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคประชาชนจะรวมมือกัน เพื่อแสดงพลังในการตรวจสอบรัฐบาล

ที่สำคัญคือ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองภาคประชาชน เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง ตอนนี้ต้องรอดูก่อนว่าหน้าตาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ตอนนี้จึงยังไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แต่ในส่วนกล่างน่าจะมีการเคลื่อนไหวตรงนี้แล้ว และเชื่อว่า ภาคประชาชนจะให้ความร่วมมือตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น คาดว่า ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้จะออกมามีส่วนร่วมในการตรวจ
สอบรัฐบาลมากึ้น

ในเมื่อประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคไทยรักไทยเลยนั้น รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยต้องทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาล มิฉะนั้นจะทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น อะไรที่ไม่จำเป็นต้องทบทวนว่าควรจะทำต่อไปหรือไม่ เช่น การตั้งกองพันทหารราบที่ 15 ซึ่งน่า
จะให้กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานหลักแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเวทีในประชาชนและภาคประชาสังคม แสดงบทบาทในการแก้ปัญหาและการพัฒนาด้วย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net