วอนนักวิชาการเลิกวิจัย "ถํ้ามอง" พฤติกรรมทางเพศของเยาวชน

กรุงเทพฯ-นักวิชาการจุฬาฯเผย สังคมมีนักวิชาการถ้ำมอง ชอบแอบดูพฤติกรรมทางเพศครั้งแรกของเยาวชนแล้วอ้างเป็นงานวิจัย เสนอเรื่องเพศไม่ใช่แค่การร่วมเพศหรือสอดใส่ มีความหมายกว้างรวมไปถึงความรักและความสัมพันธ์ ฯลฯ แต่สังคมกลับเน้นแต่เรื่องการสอดใส่

เมื่อวันที่ ๒๙ ม.ค. ๔๘ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ โดยองค์การแพธ (PATH) และเครือข่ายพันธ
มิตร จัดงานสังวาสเสวนาครั้งที่ ๑ เรื่อง "เรื่องเขา...เรื่องเรา...เรื่องเพศ" เพื่อให้สื่อมวลชนได้แลก
เปลี่ยนกันในเรื่องเพศ (sexuality) อันจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศทางสังคมที่เปิดกว้างขึ้นในการพัฒนาเรื่องเพศของเยาวชน

พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงงานวิจัยของนักวิชา
การที่มักมีเนื้อหาว่าด้วยระยะการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของวัยรุ่นว่า ทำไมประเด็นลักษณะนี้ถึงเป็นข่าวอยู่เสมอ และทำไมจึงเป็นที่สนใจมากกว่าเรื่องอื่นๆ ซึ่งเขาไม่เคยสนใจเลยว่า ปีนี้เด็กจะเอากันเร็วขึ้นกี่ปีกี่เดือน

"งานเหล่านี้ไม่ใช่งานวิจัย เป็นเพียงการนินทาและถ้ำมองเด็ก แล้วยังอ้างว่าเป็นงานวิจัยเพื่อการเฝ้าระวัง ผลงานเหล่านี้กลับเป็นตัวสะท้อนระดับความคิดของผู้ใหญ่ ทำไมจะวัดสังคมเลวร้ายต้องวัดจากเด็ก เพื่อจะตอบโจทย์เดียวกันนี้ ก็วัดจากตัวคุณก็ได้ วัดคุณภาพตำราเรียนก็ได้" พิชญ์กล่าว

พิชญ์ กล่าวว่า รัฐมักใช้เพศสัมพันธ์แบบสอดใส่มาเป็นตัววัดว่าคนมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ แล้วก็หมกมุ่นว่าจะต้องเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ที่ปลอดภัยเท่านั้น แนวคิดนี้ยังขยายวงไปถึงการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ให้ความสำคัญแต่การสอดใส่ มากกว่าเรื่องสัมพันธภาพ ซึ่งเป็นมิติที่กว้างของเรื่องเพศ

พิชญ์ตั้งคำถามว่า ก่อนที่เราจะมีเซ็กส์ เราเข้าใจกับร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึกกันแล้วหรือยัง เพราะเพศสัมพันธ์ของบางคู่นั้น ขณะที่ผู้หญิงหลับตาปี๋ ผู้ชายเองก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่าการสอดใส่ ทว่าเรื่องเพศสัมพันธ์นั้นบางครั้งก็ไม่ได้จบที่การสอดใส่เสมอไป "บางครั้งเราไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ แต่จริงๆการออกไปทานข้าวด้วยกันอาจมีความสุขกว่าก็ได้"

นอกจากนี้เวทีสังวาสเสวนายังให้ "รัน" ผู้ผ่านประสบการณ์การยุติการตั้งครรภ์มาแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชน "รัน" เล่าว่า เธอไม่เคยคิดว่าการตั้งครรภ์จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน ตัวเธอเมื่อตั้งท้องขณะเรียนก็ปรารถนาจะเก็บลูกไว้ แต่มีความจำเป็นบีบบังคับ เพราะครอบครัวฝ่ายชายต้องการให้เอาเด็กออก

รันตอบคำถามที่ถามว่า เมื่อจะทำแท้ง ใครที่จะปรึกษาเป็นคนสุดท้าย รันยืนยันว่า คือตัวเอง เพราะสถานการณ์ที่เกิดมันเกิดกับตัวเอง ใครก็ช่วยไม่ได้

"เราตัดสินใจ ชีวิตของเรา เราเลือกเอง กระทำเอง เราต้องรับผลตามมา"

ทั้งนี้ รันเล่าว่าสมัยเด็กไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง แม่สั่งให้ทำอะไรก็ทำตามทั้งหมด และแม่วางกรอบชีวิตไว้เป็นขั้นตอนว่า ต้องให้ลูกเรียนหนังสือ ทำกิจกรรม เข้ามหาวิทยาลัยในคณะดีๆ แล้วลงเอยด้วยการมีคู่ชีวิตที่มีความรู้และมีฐานะ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ความต้องการของรันเลย

ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย ภาควิชาสูติศาสตร์ นารีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การทำแท้งทุกครั้งมีเหตุผล ซึ่งพบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่จำกัดการทำแท้ง ผลที่ได้คือ มีการทำแท้งที่ปลอดภัย จะไม่มีใครเสียชีวิตเลย และพบว่า การปรับกฎหมายให้มีการทำแท้งได้ ไม่ได้ทำให้ยอดการทำแท้งสูงมากขึ้น หรือทำให้คนมีเพศสัมพันธ์สูงขึ้นอย่างที่สังคมกลัวกัน

ผศ.นพ.สัญญากล่าวว่า เราไม่สามารถป้องกันให้คนมีเพศสัมพันธ์กันได้ เพราะความรักทำให้คนอยากอยู่ใกล้ๆกัน อยากสัมผัสกัน และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีความรู้ที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท