Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องเยาวชนและเรื่องเพศดูจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไป และสื่อมวลชนสนใจติดตามข่าวคราวอยู่เรื่อยๆ แต่ก็เช่นกัน ที่เรื่องเหล่านี้มักจะถูกนำเสนอในแง่มุมบางแง่ ที่นอกจากไม่ได้สร้างความเข้าใจแล้ว ยังเป็นการพิพากษาผู้ถูกกล่าวถึงโดยไม่รู้ตัว

กิจกรรม "สังวาสเสวนา" ที่จัดโดยโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ เพื่อการส่งเสริมเพศศึกษาในเยาวชน องค์การแพธ (PATH) จึงถูกจัดขึ้นเพื่อให้สื่อมวลชนได้มีโอกาสพูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ กับวัยรุ่น...ที่บางคนอาจมองด้วยแว่นตาชื่อ "อคติ" และ "ศีลธรรม" ว่าพวกเขาเลว...

แต่จริงๆ แล้วเราเคยถามกันมั้ย ว่าทำไมเขาถึงเลือกจะเป็นแบบนั้น

ในฐานะที่ "ประชาไท" ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้เข้าร่วมวงกับเขาด้วย จึงไม่พลาดที่จะหยิบบรรยากาศ และเรื่องเล่าจากงานนี้มาเล่าให้ฟัง เพราะนอกจากสื่อจะ "ได้อะไร" จากงานนี้แล้ว...เราก็เชื่อว่าผู้อ่านก็น่าจะได้อะไรเช่นกัน...

สิ่งที่เรา(และเขา)เคยเป็น...
กิจกรรม "สังวาสเสวนา" เริ่มต้นที่การให้สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานจับกลุ่มย่อย แล้วผลัดกันเล่าประสบการณ์ตอนวัยรุ่นของตัวเอง ซึ่งก็เรียกเสียงเฮในหมู่ผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี เพราะวีรกรรมในวัยรุ่นของแต่ละคนก็นับว่าแสบๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งขับรถมอเตอร์ไซค์ให้คว่ำเพื่อที่จะได้รถรุ่นที่ดีกว่า จนสุดท้ายถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล (แต่ก็ได้รถใหม่มาใช้จริงๆ), การแอบดูวีดีโอโป๊ของคุณอาแล้วโดนจับได้ หรือแม้กระทั่งการแอบเตรียมกัญชาผสมบุหรี่ในห้องเรียนก็ตามทีเถอะ

สรุปง่ายๆ จากกิจกรรมนี้ก็คือวันรุ่นสมัยก่อนก็เหมือนกับวัยรุ่นทุกสมัยนะแหละ ที่มีนิสัยอยากรู้อยากลอง รักสนุก รักอิสระ กล้าได้กล้าเสีย

หลังจากที่เราฟังประสบการณ์กันเองแล้ว เราก็ได้ฟังประสบการณ์จาก ต่าย ที่มาจากบ้านปราณี และ เล็ก กับ กอล์ฟ ที่มาจากสถานพินิจบ้านกาญจนาภิเษก

ต่าย เข้ามาอยู่ในบ้านปราณีเพราะคดีค้ายาเสพย์ติด ซึ่งเธอบอกว่าที่เธอทำอย่างนั้นมีปัจจัยมาจากสังคมรอบข้าง "เพื่อนๆ และสังคมรอบตัวทำกันหมด เราเองก็ถูกเพื่อนท้าให้ลองขายดู เราก็ลองทำตามแล้วพัฒนาเรื่อยๆ จนถึงขั้นเสพย์ จนสุดท้ายก็ถูกตำรวจจับ"

เธอบอกเราว่าตอนที่เธอค้ายา เงินเข้ากระเป๋าเธอเร็วมาก แต่เธอกบอกว่า "ถึงได้เงินเยอะและเร็ว แต่ก็เก็บไว้ไม่ได้นาน ต้องรีบใช้ไปให้หมดเพราะรู้สึกว่าเป็นเงินร้อน เก็บไว้กับตัวก็ไม่ปลอดภัย"

"ถ้าได้ออกจากสถานพินิจแล้ว เชื่อว่าแม้สิ่งแวดล้อมจะเป็นเหมือนเดิม แต่ว่าตอนนี้จิตใจเข้มแข็งขึ้นแล้ว และตอนนี้ไม่คิดว่ามีใครสำคัญมากกว่าครอบครัวอีกแล้ว และเมื่ออกไปแล้วก็ฝันว่าจะมีอนาคตดีๆ และทำงานสุจริต" ต่ายพูดกับเราถึงชีวิตหลังออกจากสถานพินิจ

"ที่ตอนนั้นทำไปก็เพราะว่ามันได้เงินง่าย แป๊บๆ ก็ได้เงินมาหมื่น-สองหมื่นแล้ว เมื่อมีเงินมากก็มีอำนาจมากตามไปด้วย แถมเรายังเสพอยู่แล้ว เมื่อเราขายด้วย เราก็จะเสพเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะของมันอยู่ในมือเรา" เล็ก ที่ถูกควบคุมตัวมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษกด้วยข้อหาค้ายาบ้าเล่าให้เราฟัง "ในตอนนั้นมีความสุขกับการได้ทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างการหนีตำรวจ ถ้าถามว่าตอนนั้นกลัวติดคุกมั้ย ก็ต้องตอบว่าไม่กลัว เพราะตอนนั้นยังรู้สึกว่าการเข้าคุกเป็นเรื่องเท่ห์ สามารถไปอวดกับเพื่อนๆ ได้"

ในเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เล็กใช้เวลาอยู่ในสถานพินิจ 2 แห่ง ก่อนที่เขาจะเข้ามาในบ้านกาญจนาภิเษก เขาก็เล่าประสบการณ์ที่เจอมาในสถานพินิจอื่นๆ ว่า "มีหลายเรื่องในสถานพินิจก่อนๆ ที่ผมเคยเจอ แต่ไม่ได้ถูกนำเสนอออกทางสื่อเลย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงภายในนั้น ทั้งที่มาจากผู้คุม หรือมาจากเด็กด้วยกัน หรือแม้กระทั่งการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ผมเองก็ยอมรับว่าเคยทำมาก่อน แต่ที่ต้องทำก็เพราะว่าเราต้องการการยอมรับจากคนในนั้น จนในที่สุดเราได้เป็นลูกพี่ใหญ่ที่นั่น"

แต่ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้เล็กเปลี่ยนแปลงตัวเอง ที่ทำให้เขาเริ่มกลับตัว "เราเห็นว่าที่บ้านต้องลำบากมาเยี่ยมเราที่อยู่อย่างไม่ลำบากที่นี่ ก็เริ่มรู้สึกไม่ดี และที่ย้ายจากที่เดิมที่เราเคยอยู่ในสถานะลูกพี่ใหญ่มาที่บ้านกาญจนาฯก็เพราะว่าได้ยินมาว่าถ้าทำตัวดีที่นี่ จะสามารถกลับไปเยี่ยมบ้านได้"

เมื่อพูดถึงอนาคต เล็กบอกถึงสิ่งที่เขาอยากทำเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วว่า "ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เราคงมองย้อนกลับมาถึงสิ่งที่เราเคยทำไว้เมื่ออดีต และถ้ามีลูก ผมจะปล่อยนให้เขาทำสิ่งที่เขาอยากทำ แต่ว่าต้องอยู่ในสายตาของเรา"

กอล์ฟที่เคยผ่านชีวิตการเป็นนักเรียนอาชีวะ และมีเรื่องมีราวจนต้องมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก เล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกของเขาในช่วงนั้นว่า "ในตอนนั้นเราเป็นเด็กอาชีวะอย่างเข้มข้น เราก็เข้าไปอยู่ร่วมกลุ่มกับเพื่อน จนสุดท้ายความเป็นตัวตนของเราก็ถูกกลืนหายไปกับกลุ่ม จนเขาทำอะไร เราก็ทำไปด้วย นอกจากนี้เราเองก็ถูกทั้งผู้ใหญ่และสังคมกดดันพวกเราตลอดว่าเราเป็นพวกเลวร้าย เราเลยต้องระบายผ่านการทะเลาะวิวาท"

แล้วกอล์ฟก็พลาดไปทำให้คู่อริเสียชีวิตเข้า จนเขาต้องเข้าไปอยู่ภายในสถานพินิจ "ตอนนั้นที่บ้านต้องเฝ้าเราอยู่ดึกๆ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อนของพวกเขา ทำให้คิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะชนะคนเป็นสิบเป็นร้อย แต่ไม่ชนะใจตัวเอง"

ในกระแสสังคมที่พยายามทำให้เยาวชนที่ทำผิดร้ายแรงได้รับโทษแบบเดียวกับผู้ใหญ่ โดยมองว่ามันเป็นทางในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั้น สำหรับพวกเขากลับมีความคิดที่แตกต่างออกไป โดยเล็กแสดงความเห็นว่า "สิ่งที่วัยรุ่นต้องการที่สุดคือโอกาส ถ้าไม่ให้โอกาสพวกเขา แล้วเขาจะกลับตัวได้อย่างไร ยิ่งการฆ่าตัดตอนที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก เพราะพวกเขาควรจะได้รับการปรับปรุงตัวให้ความเป็นมนุษย์ของเขากลับคืนมามากกว่า"

"ไม่มีใครที่อยากเป็นคนเลวหรอก แต่บางครั้งมันก็มีเหตุจูงใจ อย่างเพื่อนของผมคนนึงก็ปล้นเพื่อเอาเงินไปรักษาพ่อที่ป่วยอยู่ การที่ให้เขาไปอยู่ในคุกของผู้ใหญ่ก็เท่ากับเป็นการไปเสริมเขี้ยวเล็บให้พวกเขาเลวขึ้นกว่าเดิม" กอล์ฟพูดถึงประเด็นนี้

ต่ายเสริมในสิ่งที่กอล์ฟพูด "การปล่อยให้เขาไปอยู่ในคุกผู้ใหญ่มันก็เท่ากับเป็นการตัดอนาคตของเขา พอออกมาสังคมก็ไม่ยอมรับ จนสุดท้ายเขาก็ต้องกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆ อีก"

เรื่องเล่าจากพัฒน์พงษ์
หลังจากวงคุยเล็กๆ จบลงก็ได้เวลาที่เราจะต้องออกเดินทาง Night tour ไปยังพัฒน์พงษ์ เพื่อดู "โชว์" ในบาร์ต่างๆ ทั้งบาร์ชายและหญิง (เนื่องจากรายละเอียดของ "โชว์" นั้นค่อนข้างสร้างความ "ตื่นตะลึง" จนผู้เขียนอ้าปากค้าง...จนไม่สามารถถ่ายทอดอะไรออกมาได้เลย) เมื่อหลังจากจบการดูโชว์แล้วนั้น พวกเราก็เดินทางมายังสำนักงานของโครงการกลุ่มเพื่อนพนักงานบริการ (Swing) เพื่อคุยกับจำรอง แพงหนองยาง-หัวหน้าโครงการฯ

จำรองเล่าให้ฟังว่าในพัฒน์พงษ์มีบาร์อยู่ 3 ประเภท นั่นคือบาร์เบียร์ บาร์อะโกโก้ และบาร์โชว์ ซึ่งระดับเงินเดือนและช่วงอายุทำงานต่างกัน โดยผู้ที่ยังอายุน้อยอยู่จะเข้าทำงานในบาร์อะโกโก้ (เงินเดือน 5,000-7,000บาท) จนเมื่ออายุเข้าสู่ช่วง 30 ปี เมื่อรูปร่างไม่ดีเหมือนก่อน ก็จะผันไปทำงานในบาร์โชว์ (เงินเดือน4,000-6,000 บาท) หรือไม่ก็เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นกัปตัน หรือแคชเชียร์แทน

ในส่วนของปัญหาที่พนักงานบริการหญิงต้องเผชิญอยู่ ก็มีทั้งเรื่องของเงินเดือนที่ไม่มากพอยังชีพ จนต้องขายบริการไปด้วย (เมื่อลูกค้าจะ "ออฟ" ก็ต้องจ่ายค่าออฟกับทางร้านด้วย 300 บาท ซึ่งเมื่อพนักงานต้องลาหยุด ก็ต้องจ่ายค่า "ออฟ" ตัวเองกับทางร้านในอัตราเดียวกัน แต่ในกรณีที่ไม่มีใครออฟ พวกเธอจะได้ค่าแท็กซี่กลับบ้าน 100 บาท) ความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการโชว์ รวมถึงการดูแลสุขภาพของตัวเอง (หลังการออฟ พนักงานต้องเข้าตรวจกับคลินิกที่ทางร้านรับรองเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเลือกใช้บริการจากคลินิกที่ตนต้องการได้) ในส่วนของบาร์ผู้ชายนั้นยิ่งมีปัญหา ตรงที่พนักงานบริการจะไม่ได้เงินเดือน แต่ต้องอาศัยเงินจากการออฟแทน

หลังจากกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นลง เราทั้งหมดก็เดินทางกลับสู่ที่พัก เพื่อพักผ่อนก่อนเข้าสู่กิจกรรมวันต่อไป...

เรื่องเล่าของ "รัน"
ในเช้าวันต่อมา เราเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการฟังเรื่องของ "รัน" - สาววัย 23ปี ที่เคยมีประสบการณ์การทำแท้งมาก่อน เธอเล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีที่แล้วให้เราฟัง

"โดยปกติเวลาเรามีอะไรกับแฟน เราจะหาทางป้องกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะใช้วิธีให้แฟนสวมถุงยาง หรือใช้วิธีนับวัน แต่ครั้งที่ทำให้ท้องก็เพราะว่าแฟนรบเร้าจะมีอะไรในระยะเสี่ยงโดยไม่สวมถุงยาง เราก็ตามใจเขา จนสุดท้ายก็ท้อง"

"ตอนที่เราตัดสินใจทำแท้ง แฟนเราอยากให้เราเอาออก เราก็ไม่ได้ปรึกษาใครนอกจากตัวเอง จนท้ายที่สุด เราก็ตัดสินใจทำแท้ง ซึ่งการทำแท้งครั้งนั้นยังคงเป็นภาพหลอนกับตัวเรามาตลอด" รันเล่าให้เราฟัง
อีกไม่นานนัก รันก็ท้องกับผู้ชายคนเดิมอีกครั้ง แต่เธอก็รู้สึกว่าครั้งนี้จะต้องไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป "เราตัดสินใจไม่เอาเด็กออกแล้ว แม้ว่าแม่กับพี่ชายจะอยากให้เราเอาเด็กออก แต่เราจะไม่ทำแบบนั้น เพราะเขาเป็นลูกของเรากับผู้ชายที่เรารัก เราต้องการดูแลเขาให้ดีที่สุด" ในที่สุดแม้ว่าแม่จะต้องการให้รันเอาเด็กอก และพี่ชายของเธอจะเข้ามาทำร้ายเพื่อบังคับรัน แต่สุดท้ายรันก็หนีไปบ้านเพื่อนเพื่อรักษาลูกไว้

แม้ว่าที่บ้านจะไม่ยอมรับในตอนแรก แต่เมื่อคลอดเจ้าตัวน้อยออกมา ทุกอย่างก็ดูดีขึ้น "ตอนแรกๆ แม่ไม่ยอมรับเลย แต่เมื่อแม่ได้เห็นหน้าหลาน แม่ก็ค่อยๆ รู้สึกรักหลานมากขึ้น หรืออย่างตัวเราเองที่แต่ก่อนทะเลาะกับแม่บ่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็ดูจะเข้าใจกันมากขึ้น แม้จะยังไม่เข้าใจกันทั้งหมดก็ตาม"

ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบข้างเท่านั้น แม้แต่กับตัวเธอเองก็มีการเปลี่ยนแปลง "แต่ก่อนเราคิดฆ่าตัวตายบ่อยๆ แต่พอเขาเกิดขึ้นมา เราก็เลิกคิดถึงการฆ่าตัวตาย เพราะเรายังต้องเลี้ยงดูเขาต่อไปจนโต"

ผศ. นพ. สัญญา ภัทราชัย ภาควิชาสูติศาสตร์ นารีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีให้ความเห็นต่อการทำแท้งว่า "เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่เราจะป้องกันให้คนมีเพศสัมพันธ์ เพราะความรักเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยากอยู่ใกล้กัน อยากสัมผัสกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ในการป้องกันการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์ รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่า ในส่วนของการทำแท้งนั้น ในประเทศที่ไม่ได้จำกัดการทำแท้ง ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนคนทำแท้งหรือคนมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ได้คือคนมีการทำแท้งที่ปลอดภัย ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียชีวิต"

เพศในหลากมุม...
รายการสุดท้ายของ "สังวาสเสวนา" คือวงเสวนา "เรื่องเขา เรื่องเรา เรื่องเพศ" ที่นำเสนอเรื่องเพศในมุมมองของนักวิชาการ นักเขียน และแพทย์

ศ.นพ.สุพร เกิดสว่าง นายกสมาคมอนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองเรื่องเพศของวัยรุ่นว่า "เรามักจะมองว่าวัยรุ่นทำเรื่องผิด ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสังคมมีส่วนร่วมในการทำให้เขาเป็นแบบนี้ อย่างเรื่องของการแต่งตัวที่ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าวัยรุ่นแต่งตัวไม่เหมาะสม ก็ต้องย้อนกลับมาถามว่าแล้วใครเป็นคนผลิตสิ่งของเหล่านั้นมาให้วัยรุ่นใช้ ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาวัยรุ่น ส่วนหนึ่งก็ต้องไปแก้ที่ตัวผู้ใหญ่ ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น"

"สำหรับสื่อเองก็ต้องคำนึงว่าเราต้องรับผิดชอบในการให้ความรู้ต่อเยาวชน และสร้างให้เกิดสังคมที่ดี" ศ.นพ. สุพรกล่าว

ด้านอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า "การรับรู้เรื่องเพศในปัจจุบันนั้นให้ความสำคัญกับการสอดใส่ จนกลายเป็นว่าในการเรียนเพศศึกษาในไทยเป็นการเรียนรู้เรื่องการสอดใส่อย่างปลอดภัยเสียมากกว่า อีกทั้งคอลัมน์เรื่องเพศในสื่อต่างๆ ก็ให้ความสำคัญที่เทคนิคการร่วมเพศ ทั้งๆ ที่เรื่องเพศนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องการสอดใส่ หากแต่รวมไปถึงเรื่องของการเข้าใจในร่างกายและความสัมพันธ์ด้วย"

"หลายๆ คู่สามารถมีความสุขกันได้โดยไม่ต้องมีเซ็กส์

อาจารย์พิชญ์ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับวัยรุ่นบางชิ้นว่า ทำไมงานวิจัยบางชิ้นที่พูดว่าวัยรุ่นมีอะไรครั้งแรกเมื่อไหร่ถึงได้รับความสนใจกว่างานวิจัยในเรื่องอื่นๆ ของวัยรุ่น เพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่างานเหล่านี้ไม่ใช่งานวิจัย หากเป็นการนินทาและถ้ำมองเด็ก ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงระดับความคิดของผู้ใหญ่

"หากจะวัดความเลวร้ายของสังคม ก็ไม่ได้มีแค่การวัดจากเรื่องเพศเท่านั้น แต่มีตัวชี้วัดอีกมากที่สามารถวัดได้ อาจจะวัดจากคนในสังคม หรือตำราเรียนก็ได้ "อาจารย์พิชญ์กล่าว

ทางด้านนักเขียนอย่างอรุณวดี อรุณมาศ แสดงความเห็นว่า "เด็กที่เคยถูกมองว่าใจแตกนั้น เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะรู้ว่าเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องธรรมดาเด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้นั้นต้องผ่านการลองผิดลองถูกบ้าง ซึ่งเวลาที่ผ่านไปจะทำให้รู้ว่าต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร"

@#@#@#@#@

กิจกรรม "สังวาสเสวนา" ที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาเรื่องเพศทุกอย่างให้เรียบร้อยในเวลาอันสั้น แต่อย่างน้อยที่สุด...มันก็เป็นสะพานที่พาดสู่ความเข้าใจในเรื่องเพศ ซึ่งจะเป็นหนทางทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกปิดบัง และไม่ใช่เรื่องที่ถูกพูดอย่างไม่คิด

หากแต่เป็นเรื่องที่เราพูดได้อย่างเสรี แต่มีความเข้าใจ

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net