Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ -10 ก.พ.48 อาจารย์-นศ.มอ.ปัตตานี พบกมธ.วุฒิฯ ร้องถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม เรียกไปสอบ จับกุมโดยไม่มีหมายศาล-ไม่ผ่านมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ดูแลนศ.

"มอ.ปัตตานีมีนักศึกษาราว 7,500 คน เป็นมุสลิม 2,900 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาที่จบออกมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 22 แห่งที่อยู่ในบัญชีดำของทางการ เด็กพวกนี้จึงเป็นกังวลว่าจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่" ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีระบุ

วันนี้ ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมทั้งนักศึกษาชั้นปีที่4 วิทยาลัยอิสลามศึกษา เข้าร่วมประชุมกับคณะ กรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เพื่อให้ข้อมูลต่อสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่นายอิสยาส ปันหวัง ครูอัตราจ้างศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี บัณฑิตระดับปริญญาตรี และนายยูไล โส๊ะปนแอ นศ.ชั้นปีที่4 มอ.ปัตตานี ถูกจับกุมไป ขณะนี้ บัญชีดำรายชื่อผู้ก่อความไม่สงบที่เจ้าหน้าที่มีอยู่ ก็พุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักศึกษา

นายอิสยาสและนายยูไล รวมถึงนายมะอาซี บุญผล นักศึกษาของมอ. ปัตตานี ถูกจับและออกหมาย จับว่ามีส่วนพัวพันเป็นผู้ต้องสงสัยคดียิง ด.ต.โมฮัมมัด เบญญกาจ ตำรวจวิทยาการจังหวัดปัตตานี นายดุษฎีบุญ ฤทธิสุนทร นักศึกษา มอ.ปัตตานี และนายรพินทร์ เรือนแก้ว อดีตผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี

รองอธิการฯ มอ.ปัตตานีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางนักศึกษาและอาจารย์ของ มอ. ได้ทำข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายทหารว่า หากเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจค้นบ้านพักของนักศึกษา จะต้องแจ้งให้มหาวิทยาลัยก่อน และหากมีการสอบปากคำต้องให้มีเจ้าหน้าที่หรือนิติกรของมหาวิทยาลัยรับฟังอยู่ด้วย ซึ่งในกรณีการเข้าตรวจค้นและจับกุมนายยูไลเมื่อกลางเดือนก่อน ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำตามข้อตกลงดังกล่าว

ทุกครั้งที่มีการเรียกสอบ จับกุม หรือบุกค้น เจ้าหน้าที่มักอ้างอำนาจกฎอัยการศึก ซึ่งผู้ถูกเรียกสอบ จับกุม หรือบุกค้น ไม่เคยมีโอกาสทราบเลยว่า ตนกำลังเจอหรือถูกสงสัยในข้อหาใด แม้ในกรณีสองคนดังกล่าว ก็ได้เพียงแต่เดาจากข่าวว่า ถูกจับเพราะเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.วรวิทย์กล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้ทางมหาวิทยาลัยพยายามประสานงานกับทางกอ.สสส.จชต.ว่า หากผู้ถูกสงสัยเป็นนักศึกษาของมอ.ปัตตานี ก็ขอให้มีเอกสารลายลักษณ์อักษรตั้งข้อหาให้ชัด แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบ หากต้องการเรียกเชิญเพื่อให้ข้อมูลก็ขอให้ดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย เพราะสภาพทุกวันนี้ ทุกคนไม่ว่านักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยต้องตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวและไร้ศักดิ์ศรี

"ทั้งหมดที่ไปจับนักศึกษา ใช้กฎอัยการศึก ไม่มีหมายศาล ไปกันทั้งตำรวจ ทั้งทหาร" ผศ.วรวิทย์
กล่าว

นายโสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ กล่าวว่า การเข้าไปจับนักศึกษาแต่ละครั้ง ทนายอยากเข้าไปนั่งฟังการสอบสวน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไว้ แล้วอ้างว่าการเรียกจับนั้นไม่ใช่การสอบสวน เป็นเพียงการเชิญไปให้ข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่า ห้ามมิให้ทนายเข้า

นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อุปนายกกิจการฝ่ายนอก องค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ชี้แจงว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์กรือเซะ ตนและเพื่อนนักศึกษาบางส่วนร่วมเก็บข้อมูลจากครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งชาว
บ้านและเจ้าหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครเพื่อสรุปส่งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากนั้นไม่นานก็มีการตรวจค้นบ้านของนักศึกษาเรื่อยมา โดยทุกครั้งจะเป็นปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างทหารกับตำรวจ

จนกระทั่งมีการจับกุมอดีตนักศึกษาเมื่อปลายปีที่แล้ว และระยะเวลาที่ผ่านมาตนและเพื่อนนักศึกษารู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยมาโดยตลอดทั้งๆ ที่มีความบริสุทธิ์ใจ

"ทุกกิจกรรม ทุกความเคลื่อนไหวที่เราทำ ทางเจ้าหน้าที่มักจะมองว่าเป็นฝ่ายก่อความไม่สงบตลอด ทั้งที่เราเองก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ"

พ.อ.สุเมธ ไมตรีประสาน รองเสนาธิการกองทัพภาค4 ส่วนหน้า ซึ่งเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลกล่าวว่า ก่อน
หน้านี้ประธานนักศึกษามอ.ปัตตานีเคยมีหนังสือไปยังกองทัพภาค4 ซึ่งทางกองทัพภาค4 มีมติกลับไปว่า หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาก็จะแจ้งไปยังอธิการบดีและอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อมูลบุคคลต่างๆที่นำไปสู่การจับกุมนั้น ได้มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่ง
ชาติไม่ได้แจ้งให้ทราบในรายละเอียดลึก

อย่างไรก็ดี พ.อ.สุเมธกล่าวว่า รักษาการแม่ทัพภาค4 มีแผนจะนัดคุยกับตัวแทนนักศึกษาและอธิการบดีของมอ.ปัตตานีอีก เพื่อร่วมคุยถึงสภาพปัญหารวมถึงทางออกที่น่าจะเกิดขึ้น

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกมธ.พัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาของแต่ละฝ่ายต้องคำนึงถึง 3 ส่วน คือ หนึ่ง เอกภาพการทำงานร่วมกัน ที่หากเรื่องนั้นๆ เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาก็ควรดำเนินการผ่านทางสถาบัน สอง ต้องเร่งฟื้นฟูขวัญและกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเต็มไปด้วยความหวดกลัวและต้องตกอยู่ในวิถีชีวิตอันไม่ปกติ เชื่อมโยง

ประเด็นสุดท้าย คือ สิ่งที่สำคัญ จะต้องให้แนวทางการดำเนินชีวิต การทำกิจกรรมต่างๆ ดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติ เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดเมื่อเห็นบทความของนักวิชาการที่ นศ.ตัดเก็บไว้ว่า เป็นเอกสารเพื่อก่อความไม่สงบ ทั้งที่เป็นเอกสารประกอบวิชาเรียนในมหาวิทยาลัย.

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net