ความสำเร็จในการจัดการความรู้สู่ชุมชน "ปางมะผ้า"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"ปางมะผ้า" เป็นดินแดนที่มีความสำคัญและทรงคุณค่าทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์แหล่งหนึ่งของโลก นอกจากนั้นยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งคุณค่าดังกล่าวได้กลายมาเป็นศักยภาพของปางมะผ้าด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงวัฒนธรรม

แต่...ปัญหาของ" ปางมะผ้า" ปัจจุบันคือการเผชิญอุปสรรคและข้อจำกัดในการพัฒนาหลายด้าน อาทิ การไม่มีเอกสารสิทธิในที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาการทำมาหากินและคุณภาพชีวิต ฯลฯ ซึ่งชุมชนยังไม่รู้จะ" จัดการ" อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ปางมะผ้าเป็นท้องถิ่นที่นับได้ว่ามี" ทุน" หรือฐานข้อมูลความรู้ของชุมชนอยู่มาก จากการลงไปศึกษาวิจัย หรือทำงานในพื้นที่ ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งความรู้จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยซึ่งได้ศึกษาและรวบรวมฐานข้อมูลความรู้ของปางมะผ้าไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ความรู้เหล่านั้นยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างเสริมกลไกการจัดการความรู้สู่ชุมชนบริเวณลุ่มน้ำลาง-น้ำของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงเปรียบเสมือนการเติมเต็มกลไกการพัมนาพื้นที่ปางมะผ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายในพื้นที่

"นายอารยะ ภูสาหัส" ผู้ประสานงานวิจัยเชิงพื้นที่ และ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างเสริมกลไกการจัดการความรู้สู่ชุมชนบริเวณลุ่มน้ำลาง-น้ำของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาส่วนหนึ่งได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้วด้วยการดำเนินกิจกรรมพัฒนาต่างๆ ตามแผนงานและโครงสร้างพัฒนาโดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ ขณะที่ปัญหาบางอย่างไม่สามารถจัดการแก้ไขได้โดยลำพังชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขจัดการปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงและครบวงจร ด้วยการผสมผสานและปรับประยุกต์ความรู้ดั้งเดิมของชุมชนกับความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอก ดังนั้นชุมชนในปางมะผ้าจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพกลไกการจัดการความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนพื้นที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนในการจัดการความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่ง สกว. ก็ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยต่อยอด แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งจะจบโครงการในเดือนกรกฎาคม 2549

นายอารยะ กล่าวว่า จากการดำเนินงานระยะแรก ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เกิดการพัฒนาของคนทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ การมีส่วนร่วม ฯลฯ ตลอดจนสรุปบทเรียนการจัดการความรู้เพื่อทำให้ปางมะผ้ามีนักจัดการความรู้ทั้งที่เป็นคนในและคนนอก มีฐานข้อมูลความรู้และฐานระบบการจัดการที่มีศักยภาพ สามารถระดมความรู้ ทรัพยากร ทุนจากภายในและนอกชุมชนมาแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งหากการรวมกลุ่มทำงานหรือเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชนมีแรงเกาะเกี่ยวกันมากขึ้นจากกิจกรรมพัฒนาที่ร่วมกันคิด ร่วมกันจัดการ ก็จะก่อให้เกิด "หน่วยจัดการความรู้ของชุมชน" ขึ้นจากการยึดโยงกันด้วยโครงสร้างความสัมพันธ์ของคนที่พร้อมจะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนและพื้นที่

สำหรับการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่เกิดความร่วมมือและปฎิบัติงานไปในทิศทางเดียวกันที่มุ่งเพื่อการพัฒนาพื้นที่ "ปางมะผ้า" สู่ความยั่งยืน อย่างแท้จริงโดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชนท้องถิ่น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งวัฒนธรรม "ของดี" ที่ชุมชนมีอยู่ เกิดเป็นเครือข่ายของการจัดการความรู้สู่ชุมชน

ผลอย่างสำคัญที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขณะนี้ คือ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของคนในพื้นที่ที่มาร่วมเป็นทีมวิจัยมีทักษะเพิ่มขึ้น มีการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดประสบการณ์บทเรียน และแนวทางพัฒนาสังคมร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ที่มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นในการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ขณะที่ผู้นำชุมชน ตัวแทนชุมชน และสมาชิก อบต. เริ่มมีการปรับเปลี่ยนความคิดในการมองปัญหาและเห็นแนวทางแก้ไขปัญหามากขึ้นทั้งในด้านการจัดการทรัพยากร การจัดการเกษตรบนที่สูง รวมทั้งมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น โดยได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและกิจกรรมแก้ไขปัญหาด้วยการทำงานเป็นเครือข่ายและคณะทำงานร่วม ส่วนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐก็มีความเข้าใจแนวคิดแนวทางตลอดจนกระบวนการทำงานของโครงการและชุมชนยิ่งขึ้น

และเพื่อรูปธรรมของ "กระบวนการจัดการความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรบนที่สูง" โครงการได้ทำการทดลองนำร่องการทำเกษตรทางเลือกบนพื้นที่สูง ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มผักและไม้ผลผสมผสาน และการขยายเครือข่ายเกษตรทางเลือกปางมะผ้าเพื่อขยายแนวคิดแนวทางไปสู่ชุมชนอื่นๆ ในการสร้างแนวร่วม สร้างเครือข่ายขยายผลต่อไป

ขณะที่ความพยายามในการแก้ปัญหาด้านการทองเที่ยวของชุมชน คือการจัดทำคู่มือท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยการประสานเชื่อมโยมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงเรียน ที่สามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน และมีการจัด" มัคคุเทศน์น้อย" ไปฝึกทักษะและจัดนำเที่ยวกันจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะแก้ปัญหาด้านวัฒนธรรม โดยจะฟื้นฟูอนุรักษ์ "ของดีชุมชน" ซึ่งชุมชนได้จัดทำแผนและจะเสนอขอรับการสนับสนุนจาก โครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ (พอช.) นอกจากนี้ยังมีการวางแผน กำหนดเวลาการส่งข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องไปยังประชาชนโดยผ่านทางวิทยุชุมชน "เสียงจากเครือข่ายลุ่มน้ำลาง" อีกด้วย

การจัดการความรู้ "ปางมะผ้า" เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการเติมเต็มศักยภาพด้าน" การจัดการความรู้" ให้กับชุมชน และจะนำไปสู่การจัดการชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง โดยยึดประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นสำคัญ กลไก "การจัดการความรู้" จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงทุกท้องถิ่นไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท