Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ก.พ. 48 องค์กรเอกชน ติง สมช. ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลแผนยุทธ์ศาสตร์คนไร้สัญชาติ อ้าง "อยู่ในชั้นความลับ" กีดกันสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นายบารมี ชัยรัตน์ คณะอนุกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนชนกลุ่มน้อยซึ่งดูแลด้านนโยบาย และชนเผ่า กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดอะไรได้มาก เพราะยังไม่ทราบว่า สมช. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป อีกทั้งยังเป็นชั้นความลับทางราชการที่ไม่สามารถเปิดเผยเอกสารทั้งหมดได้ จึงไม่สามารถวิพากย์แผนยุทธ์ศาสตร์ฯ นี้ได้

วันนี้ คณะกรรมาธิการด้านเด็กและสตรีของวุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มาชี้แจงรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล แต่ได้รับการปฏิเสธจากตัวแทนสมช. ที่เข้าร่วมโดยระบุว่า แผนฯ ยังอยู่ในชั้นความลับ

ทั้งนี้นายฉัตรชัย ปางชวด เจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนงานและวิเคราะห์ ตัวแทนสมช. กล่าวถึง แผนยุทธ์ศาสตร์บางส่วนที่พอจะเปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากยุทธ์ศาสตร์นี้ ได้แก่ กลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศนานแล้วซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทางราชการมีนโยบายกำหนดสถานะให้อาศัยในประเทศไทยอย่างถาวร และกลุ่มที่ทางการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติควบคุมไว้โดยผันผ่อนให้อยู่ชั่วคราว

ทั้งนี้ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มคนที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ ได้แก่ บุคคลที่มีผลงาน / ความรู้ความเชี่ยวชาญ กลุ่มคนอื่นๆ เช่น คนไร้รากเหง้า กลุ่มแรงงานต่างด้าว (พม่า ลาว กัมพูชา) ที่ได้รับการจดทะเบียน ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่ประเทศต้นทางไม่รับกลับ และกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีคุณสมบัติในการรับรองสถานะใด

สำหรับ ระบบการจัดการบริหารนั้น นายฉัตรชัยอธิบายว่า จะจัดให้มีชุดปฏิบัติการการเคลื่อนที่ครอบคลุมถึงในระดับอำเภอ และมีกลไกซึ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษดำเนินการกำหนดสถานะ มีคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขสถานะของสิทธิบุคคล และการมีส่วนร่วมของนักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน และประชาชนมาร่วมในทุกระดับ และมีการมอบอำนาจการอนุมัติสถานลงไปสู่ระดับที่เหมาะสม

นายบารมี กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าภาคประชาชนซึ่งคลุกคลีอยู่กับปัญหาคนไร้สัญชาติ จะมีส่วนร่วมในระบบการจัดการได้อย่างไรเพราะที่ผ่านมาการจัดทำร่างแผนยุทธ์ศาสตร์ฯ ประชาชนแทบไม่ได้มีส่วนร่วมเลย

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานชนเผ่าและชาติพันธ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า แผนยุทธ์ศาสตร์ไม่ได้มุ่งเน้นการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะ 7 ทวิ วรรค 3 พ.ร.บ. สัญชาติ 2508 แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 แต่ไม่มีการพูดถึงเลย และการยกเลิกข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 7 เด็กที่เกิดในประเทศใดประเทศหนึ่งควรได้รับสถานะของประเทศนั้น แต่รัฐบาลไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองการเกิด

นายวิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ได้เห็นร่างแผนยุทธ์ศาสตร์ฉบับจริง และยังสะท้อนถึงปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการนำแผนยุทธ์ศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากหากเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางส่วนยังมีทัศนคติที่ไม่ดี และยังไม่เข้าใจระบบการจัดการ

อนึ่ง ในที่เวทีชี้แจงวันนี้ คณะทำงานด้านวิชาการ รองนายกรัฐมนตรี ( จาตุรนต์ ฉายแสง ) ได้นำ
เสนอร่างแผนยุทธ์ศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ในที่ประชุมกมธ.ฯ ด้วย โดยร่างฯ ดังกล่าวได้ผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา และเป็นที่คาดหมายว่ายุทธศาสตร์ของสมช. ซึ่งไม่สามารถนำมาเปิดเผยในวันนี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับร่างฯ ฉบับดังกล่าว เนื่องจากทางคณะทำงานด้านวิชาการฯ ก็ได้นำเสนอร่างฯ ฉบับเดียวกันนี้ให้กับทางสมช. แล้วเช่นกัน

นายภิญโญ วีระสุขสวัสดิ์ ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานและครอบครัว (อรค.) กล่าวถึง ร่างแผนยุทธ์ศาสตร์ฯ ของคณะทำงานด้านวิชาการฯ ว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะทางฝ่ายเลขานุการ สมช. ได้เล็งเห็นความสำคัญ และจะเป็นการดีมากถ้าสามารถทำได้จริง แต่ยังให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจะต้องมีเจ้าภาพหลักมารับผิดชอบงาน เพราะการให้สัญชาติเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นหลายฝ่ายควรสร้างเข้าใจร่วมกันและช่วยเหลือกันให้มากขึ้นกว่าเดิม

จันทร์สวย จันเป็ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net