Skip to main content
sharethis

เครื่องวัดจีพีเอสที่ใช้คำนวณข้อมูลจากหมุดบนตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
------------------------------------------------------

ประชาไท - 22 ก.พ.48 "เราพบว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวประมาณ 1 เดือน เกาะภูเก็ตเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 32 เซนติเมตร และกรุงเทพมหานครเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน 9 เซนติเมตร ใหญ่กว่าค่าจากแบบจำลองที่คาดการณ์ไว้ถึง 2 เท่า และข้อมูลของมาเลเซียพบว่าการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกยังไม่หยุด ยังเคลื่อนที่เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 เซนติเมตร " ผศ.ดร.อิทธิ ตริสิริสัตยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

ผศ.ดร.อิทธิกล่าวย้ำว่า ผลศึกษานี้ไม่มีผลกระทบอะไรกับชีวิตประจำวันของประชาชน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตลอดจนแผนที่ประเทศหรือแม้แต่แผนที่เส้นทาง เพราะเป็นการเคลื่อนที่ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อีกทั้งโดยปกติแผ่นเปลือกโลกของประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเคลื่อนที่อยู่แล้วเฉลี่ย 2-3 เซนติเมตรต่อปี แต่จะไปกระทบต่องานด้านเทคนิคของบางหน่วยงานเช่น กรมแผนที่ทหาร ที่ต้องวัดโครงข่ายหมุดหลักฐานแผนที่ของประเทศใหม่

การศึกษาครั้งนี้นักวิชาการจากจุฬาฯ ร่วมกับกรมแผนที่ทหาร และได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียนและสหภาพยุโรป ได้ทำการศึกษาจากข้อมูลการเคลื่อนตัวจากหมุดหลักฐานแผนที่บริเวณแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต และหมุดที่อาคารวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยเปรียบเทียบพิกัดใหม่กับพิกัดเดิมที่มีอยู่จากระบบสัญญาดาวเทียมจีพีเอส ทำให้ทราบการเคลื่อนตัวที่ชัดเจนเพียง 2 แห่ง ส่วนหมุดที่เหลืออีก 6 แห่งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศกำลังจะทำการวัดเพิ่มเติมคาดว่าจะทราบผลพิกัดใหม่ราวกลางเดือนมีนาคมนี้

"ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับงานศึกษาวิจัยด้านแผ่นดินไหว ซึ่งจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับโครงการของนาซ่าจัดตั้งสถานีจีพีเอสถาวรรับข้อมูลจากสัญญาณดาวเทียม 24 ชั่วโมงภายในจุฬาฯ อันจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า พร้อมทั้งจะร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีดำเนินการจัดตั้งสถานีจีพีเอสถาวรเพิ่มอีก 5 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ผ่านครม.แล้ว น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2549 " ผศ.ดร.อิทธิกล่าว

ทั้งนี้ สถานีจีพีเอสดังกล่าวจะเป็นเครือข่ายนานาชาติของสถานีจีพีเอสทั่วโลกกว่า 200 แห่ง โดยรับสัญญาณข้อมูลบางส่วนจากดาวเทียม 24 ดวงของสหรัฐอเมริกา แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้มีสถานีจีพีเอสถาวรเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ซึ่งข้อมูลจากทั้ง 2 แห่งยังไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนของประเทศไทย

"อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเท่าที่มีอยู่ทั่วโลกก็ยังไม่สามารถเตือนภัยได้ 100% แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย อย่างกรณีแผ่นดินไหวจนเกิดซึนามิ สถานีที่มาเลเซียและอินโดนีเซียก็ไม่เกิดสัญญาณใดๆ ในการเตือนล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบจีพีเอสนี้ทางจุฬาฯ ยินดีรับเป็นศูนย์กลางการประมวลผลไปก่อน เพื่อถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีต่อไป" ผศ.ดร.อิทธิกล่าว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net