Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ยามเช้าต้นกุมภาพันธ์ มอเตอร์ไซด์นำพาข้าพเจ้าและเพื่อนที่อาสาร่วมเดินทาง มุ่งหน้าสู่บ้านแม่สามแลบ สองข้างทางมองเห็นป่าและหุบเขาชัน ถนนลาดยางชำรุดเป็นระยะจนรู้สึกสงสารทั้งรถและก้นตัวเอง ลมหนาวที่พัดมาปะทะก็หนาวเย็นจับใจยิ่งในยามที่รถพ้นจากแสงแดดวิ่งอยู่ใต้เงาร่มไม้

เราใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่งกับระยะทางประมาณ 60 กม.จาก อ.สบเมย ถึงหมู่บ้านริมฝั่งสาละวินที่อยู่ประชิดขอบแดนเพียงระยะสายตามอง สาละวินเปล่งประกายระยิบระยับกลางแดดจ้ายามสาย สายน้ำยามนี้ไหลเอื่อยสองฝั่งดูเงียบสงบจนดูเงียบเหงาผิดไปจากครั้งก่อนที่ข้าพเจ้าเคยมาเยือน
………………………………………………..

บ้านแม่สามแลบ มีชื่อเรียกตามภาษากะเหรี่ยงว่า "ซอเลอะท่า" ซึ่งเป็นชื่อลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี 2504 มีนายละหม่อง ( เสียชีวิตแล้ว ) กับนางพอช่า ( ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ ) หลบหนีภัยสงครามจากประเทศพม่าเข้ามาบุกเบิกเป็นที่พักพิง

แรกเริ่มมีบ้านเพียงไม่กี่หลังคา แต่หลังจากการค้าขายชายแดนขยายตัวมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ในสมัยนายพล อูนุ ทำให้ชาวบ้านจากฝั่งพม่าอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านแม่สามแลบมากขึ้น

ในช่วงที่แม่สามแลบยังไม่เป็นหมู่บ้านนั้น การเดินทางเข้าออกพม่ากับไทยไปมากันอย่างอิสระ มีทั้งคนจากฝั่งไทยไปแต่งงานฝั่งพม่า คนพม่ามาแต่งงานในฝั่งไทย แต่พอมีหมู่บ้าน มีหน่วยงานราชการเข้ามาจึงรู้กันว่าที่นี้เป็น ชายแดน

ก่อนนั้นบ้านแม่สามแลบอยู่ใน อ.แม่สะเรียง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ หมู่ที่1 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย มีผู้ใหญ่บ้านรวมกับคนปัจจุบันทั้งหมด 6 คน มีประชากรรวม 1,427 คน ชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ และกระเหรี่ยงนับถือศาสนาอิสลาม โดยเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยกองก๊าด

บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งถนนที่ทอดยาวไปจรดริมฝั่งน้ำ โดยมีการอยู่อาศัยลักษณะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ช่วงตอนในสุดที่เป็นท่าเรือ ที่ตั้งของสถานีอนามัย โรงเรียน ที่ทำการอบต. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าคือกลุ่มคนสัญชาติไทย ถัดมาคือกลุ่มมุสลิม กลุ่มไทใหญ่และกลุ่มกะเหรี่ยง

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ราบทำให้การสร้างบ้านของคนที่นี่มีเอกลักษณ์แปลกตา คือเมื่อมองในระดับสายตาจะเป็นเพียงบ้านขั้นเดียวขนาดกะทัดรัดเรียงชิดติดกัน แต่มีการต่อเติมลงไปด้านล่างอีก 2-3 ชั้นเลยทีเดียว
……………………………………………………..

รอยยิ้มน้อยๆ ปรากฏขึ้น พร้อมกับแววตาสงสัยหลังจากที่เราบอกเล่าถึงการมาเยือน ชายวัยกลางคนผิวค่อนข้างคล้ำหน้าตาเด็ดเดี่ยวที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์อย่างชัดเจน

เราหลบร้อนที่บ้าน อะปุ๊ ผู้นำของกลุ่มมุสลิม(กะเหรี่ยงนับถือศาสนาอิสลาม) ที่มีอยู่ราว 400 กว่าคน รองจากกะเหรี่ยง เนื่องจากว่างเว้นจากนักท่องเที่ยวทำให้อะปุ๊ไม่ต้องออกเรือรับจ้าง จึงเป็นโชคดีของเราที่ได้พบโดยไม่ได้นัดหมาย

อะปุ๊เล่าเป็นภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำว่า ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ที่รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าตรงข้าม อ.สองยาง จ.ตาก โดยเป็นพ่อค้าวัวควายบริเวณชายแดน แต่หลังจากที่มีการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกะเหรี่ยงมากขึ้นจึงอพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านแม่สามแลบในราวปี 2537 เนื่องจากมีญาติพี่น้องบางส่วนย้ายมาก่อนหน้านี้

ในช่วงแรกอะปุ๊เป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ส่งขาย จนกระทั่งเริ่มมีการเข้มงวดเรื่องการตัดไม้ จึงหันมารับจ้างทำสวนดอกไม้ และเมื่อสองปีก่อนอะปุ๊ได้ซื้อเรือหางยาวรับจ้างส่งนักท่องเที่ยว และขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับตะคอท่าในฝั่งพม่า

"คนมาเที่ยวไม่เยอะ แต่เรือเยอะมาก ตอนนี้มีประมาณ 50 ลำ และยังมีเรือใหญ่ของพ่อค้าที่มีขนาด 10 เท่าของเรือเรา ทำให้ไม่ได้ขนสินค้าเพราะเขานิยมใช้เรือใหญ่ เวลาเท่ากันแต่ขนของได้เยอะกว่า ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เขาก็ต้องจ้างเรือใหญ่ ตอนนี้สองปีแล้วค่าจ้างก็พออยู่ได้มีค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่ค่าเรือก็ยังไม่ได้คืนเลย" อะปุ๊ เล่า

ในอดีตบ้านแม่สามแลบเป็นเมืองท่า ในการค้าขายชายแดน เช่น ไม้สัก , แร่ , วัว , ควาย , พริก ฯลฯ อาชีพของชาวบ้านที่นี่มีทั้งตั้งร้านค้าขายของให้กับชุมชนใกล้เคียงตามฝั่งสาละวิน บ้างก็ขับเรือโดยสาร รับจ้างขนของ รับจ้างทำสวน เนื่องจากพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวินชาวบ้านจึงไม่มีผืนดินในการเพาะปลูกทำการเกษตร การดำรงชีวิตจึงต้องพึ่งพาการซื้อหา

หลักฐานที่ปรากฏของคนบ้านแม่สามแลบ ปัจจุบันมีผู้ถือ บัตรประชาชน จำนวน 16 คน (สัญชาติไทย) ผู้ถือ บัตรสีฟ้า จำนวน 227 คน (บุคคลบนพื้นที่สูง) ผู้ถือ บัตรสีส้ม จำนวน 206 คน (ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่ามีที่อยู่ถาวร) ผู้ถือ บัตรเขียวขอบแดง จำนวน 352 คน (ชุมชนบนพื้นที่สูง) บุคคล ไม่ปรากฏสถานะใดๆ จำนวน 626 คน

เหตุผลที่อะปุ๊บอกเล่า คือเพราะคนที่นี่เป็นต่างด้าว ทั้งอบต.ทหาร หรือนายอำเภอเขาเลยไม่สนใจเท่าไหร ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ หรืออาชีพ มาแล้วก็หาย เราก็อยู่ไปวันวัน น้ำก็ไหลบ้างไม่ไหลบ้างต้องเสียค่าน้ำประปาเดือนละ 40 บาท ส่วนไฟฟ้าตอนนี้มีแต่หลอดไฟ มีแค่บางหลัง ส่วนมากฝั่งตลาดได้ใช้

ภาพชีวิตตอนนี้ อาปุ๊คาดหวังจะตั้งรกรากอยู่ที่นี่ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมในพม่านั้นไม่มีที่อยู่แล้วเพราะขายไปหมดแล้ว และที่สำคัญญาติพี่น้องก็อยู่ที่นี่ แต่กว่าสิบปีแล้วอะปุ๊และครอบครัวไม่มีเอกสารใดๆ ซึ่งตอนนี้ลูกชายอะปุ๊ก็เป็นอีกคนที่จากไปทำงานที่เชียงใหม่
………………………………………………..

ถัดจากบ้านอะปุ๊เพียงไม่กี่หลังคา คือบ้านของน้องสาววัย 20 ปี ตอนนี้ดาวอาศัยบ้านของพี่สาวกับพี่เขยหลังจากที่ต้องขายบ้านของแม่หลังที่อยู่ติดกันเพื่อนำเงินไปรักษาโรงมะเร็งช่องปาก แต่เนื่องจากครอบครัวของดาวก็ไม่มีเอกสารใดๆ(หรือเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย) ทำให้ไม่สามารถนำแม่ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ๆได้ สุดท้ายดาวกับพี่ชายนำแม่กลับไปรักษาตัวที่พม่า แต่แม่ก็เสียชีวิตไปในปีที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านแม่สามแลบตอนนี้คือคนหนุ่มสาวเดินทางออกจากหมู่บ้าน เนื่องจากแม่สามแลบเป็นเพียงเมืองชายแดนเล็กๆ การดำรงชีพส่วนใหญ่พึ่งพาด้วยการรับจ้างซึ่งมีไม่มากนัก การเดินทางสู่เมืองอื่นเพื่อหางานทำจึงเกิดขึ้น

ดาวเองเดินทางออกจากที่นี่หลายครั้ง แต่การไม่มีเอกสารใดๆทำให้ดาวเองต้องถูกจับนับครั้งไม่ถ้วน ต้องเสียค่าปรับและส่งกลับมาที่แม่สามแลบตามเดิม

ดาวเล่าย้อนอดีตว่า เคยไปทำงานเชียงใหม่ พยายามไปหลายแล้วถูกจับ รอบนั้นจึงไปกับตำรวจ จ่ายเงินให้เขาแล้วเขาพาไป ตอนแรกเขาพาไปส่งที่โรงฆ่าสัตว์ ให้ไปขายเนื้อที่กาดหลวง(ตลาด) แต่เนื่องจากนายจ้างให้กินยาบ้าด้วย และบอกจะให้ค่าแรงวันละ 130 บาท แต่เขาให้ค่าอาหารวันละ 30 บาทเท่านั้นต้องแบ่งกัน 2 คน ดาวกับเพื่อนจึงหลบหนีออกมา หลังจากทำงานได้เพียง 20 วัน

จากนั้นดาวหนีไปหาป้าที่อยู่เชียงใหม่ เธอได้งานทำขนมกาละแม ที่บ้านหลังหนึ่ง ต้องทำงานตั้งแต่ตี 5 จนถึง 4 โมงเย็น ได้กินข้าวเพียงวันละมื้อ และไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้ ดาวจึงขออกจากงาน จากเดิมที่เขาบอกจะให้ค่าแรงเดือนละ 3,500 บาท เมื่อดาวลาออกเดือนนั้น เธอได้ค่าแรงเพียง 1,800 บาท

"ดาวไปหางานต่อ กลับมาไม่รู้จะทำอะไร กลัวถูกจับก็กลัว โชคดีดาวได้งานเลี้ยงเด็กกับทำงานบ้าน เขามีบ้าน 3 หลัง ได้เงินเดือน 2,500 บาท นายจ้างเขาก็ดีนะ แต่ก็อยู่ได้เดือนเดียวเพราะรู้ข่าวว่าแม่ป่วยเลยต้องกลับมา ตอนนั่งรถกลับบ้านก็เลยถูกจับ" ดาว เล่าถึงการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตสำหรับคนที่ไม่มีหลักฐานจึงกลายเป็นว่าต้องเสี่ยงกับการถูกจับเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องเสียค่าปรับจากเงินที่มีหนทางหามาอย่างยากลำบากเช่นกัน
.................................................................

ช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ได้มีการเรียกประชุมชาวบ้านแม่สามแลบ โดยแจ้งว่าให้คนที่ไม่มีเอกสารไปขึ้นทะเบียนฯ แต่เนื่องจากความไม่ชัดเจนทั้งจากกำนัน และพ่อหลวงเองยิ่งทำให้ชาวบ้านไม่แน่ใจ สุดท้ายชาวบ้านจำนวนมากจึงไปขึ้นทะเบียน

ด้วยความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีการสำรวจเอกสารที่มีอยู่ให้ชัดเจน ปัจจุบันจึงทำให้ชาวบ้านบางคนมีบัตรหลายใบ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการสำรวจ ชาวบ้านด้วยความกลัวก็พยายามจะทำให้หมด กลายเป็นมีเอกสารซ้ำซ้อนและยังสับสนในสถานะของเอกสารต่างๆ

การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในครั้งนี้ ความกังวลของอะปุ๊ และดาว ที่บอกผ่านข้าพเจ้าคือการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยนานหลายปีและมีที่พักพิงถาวรจะถูกลดสถานะที่เป็นอยู่ จนอาจทำให้ถูกผลักดันกลับประเทศในที่สุด ซึ่งจะสร้างความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
........................................................................

ข้าพเจ้าอำลาอะปุ๊และดาวเมื่อตะวันบ่ายคล้อย เนื่องจากความมืดอาจจะเป็นอุปสรรคในการเดินทางกลับ อ.สบเมย ในค่ำนี้ พร้อมกับน้ำใจที่ข้าพเจ้าได้รับจากอาหารเที่ยงที่บ้านอะปุ๊ และน้ำเย็นที่ดาวเจียดเงิน 5 บาทไปซื้อน้ำแข็งมา เธอบอกสั้นๆพร้อมรอยยิ้มว่าน้ำใจ

ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่าเสียงที่อะปุ๊พยายามบอกเล่าผ่านการประชุมผู้นำชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ จะทำให้ชีวิตนับพันที่บ้านแม่สามแลบจะได้รับการดูแล ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

จันลอง ฤดีกาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net