Skip to main content
sharethis

ที่มาhttp://www.warriorprincess.com
============================

ถ้าขณะนี้ศรีลังกาต้องการสัญลักษณ์แห่งความหวังและกำลังใจในการต่อสู้กับความเสียหายที่ได้รับจากคลื่นสึนามิ นางอับดุล ซาทาร์ สิธี บาชีรา ถือเป็นตัวเก็งสำคัญ เธออายุ 30 ปี เป็นแม่ของลูก 2 คนและเป็นผู้ที่ได้ทำให้เสียงทอผ้าค่อยๆ ดังขึ้นภายหลังจากที่หมู่บ้านนี้ได้ถูกคลื่นยักษ์ซึนามิจู่โจมทำลายอย่างหนักหน่วง

เมื่อมองจากบ้านของเธอซึ่งบางส่วนได้ถูกทำลายไปด้วยซึนามิ ไปยังข้างทางเข้าบ้านของเธออันเป็นสถานที่ที่เธอใช้ทอผ้า มีเต็นท์สีขาวอันเปรียบเสมือนบ้านให้กับผู้รอดชีวิตที่ไร้ที่อยู่อาศัย ถือเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนถึงความโหดร้ายของคลื่นยักษ์ได้เป็นอย่างดี

ไกลออกไปยังถนนเส้นเล็กๆ ก็ยังมีซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง เศษไม้ ซากของสิ่งต่างๆอยู่เป็นจำนวนมากราวกับถูกระเบิดหลายร้อยลูกตกลงมา

นอกจากนี้จำนวนผู้เสียชีวิต ยิ่งทำให้ดินแดนแห่งนี้เหมือนถูกทำลายมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในบรรดาหมู่บ้านริมชายฝั่งทั้งหลายของศรีลังกาด้วยกัน โดยสูญเสียประชากรไปประมาณ 10%และในชุมชนมุสลิมที่เคร่งครัดซึ่งมีสมาชิกกว่า 20,000 คนนั้น เสียชีวิตไปกว่า 2,300 คน

และในมารุธามุไนนั้นมีประชากรเสียชีวิตถึงประมาณหนึ่งในห้า จากจำนวน 11,000คน ที่เสียชีวิตทั้งหมดในเขตเมืองอัมพาราซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในศรีลังกา

ทั้งนี้ในศรีลังกามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ราว 38,000 คนและกว่า 800,000 คนต้องย้ายที่อยู่

กระนั้นก็ตามเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้นางบาชีราเกิดความย่อท้อที่จะสร้างชีวิตใหม่ นั่นคือการกลับมาทอผ้า อันเป็นอาชีพที่ถูกถ่ายทอดกันมาในครอบครัวเป็นเวลายาวนาน นางพร้อมสามีและแม่ได้ทำความสะอาดซ่อมแซมเครื่องทอผ้าที่ยังเหลืออยู่

"เราต้องกลับมาทอผ้า เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำมา มันเป็นประเพณีของเรา" นางบาชีรากล่าว "ฉันเรียนทอผ้าจากพ่อแม่ของฉัน ไม่ใช่จากหนังสือ"

การทอผ้าทำให้เธอสามารถรับมือกับความโหดร้ายน่ากลัวของคลื่นซึนามิ โดยในตอนที่คลื่นยักษ์นี้ถล่มเข้ามาในบ้าน เธอกำลังนั่งทอผ้าส่าหรีอยู่ เธอและครอบครัวได้พากันวิ่งหลบหนี แต่ลูกสาววัย 8 ขวบของเธอได้หายไป

"เราพบเธอ 3 วันหลังจากนั้น โดยมีพระองค์หนึ่งดูแลเธออยู่ที่วัดห่างจากบ้านประมาณ 2กิโลเมตร พวกเราทุกคนรอด แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่เสียชีวิต"

ไม่ไกลนัก อะฮาเหม็ด เล็ปเบ อับดุล มาจิด ช่างทอผ้าอีกคนหนึ่งก็ได้ช่วยให้หมู่บ้านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

"มันเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เราได้สูญเสียทุกอย่างให้กับทะเล" เขากล่าวขณะกำลังทอผ้าส่าหรี

ขณะนี้นักทอผ้าประมาณ 21 คน จาก 200 คนในเมืองมารุธามุไน ได้เริ่มที่กลับมาทอผ้าตามนางบาชิราแล้ว ภายหลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ผ่านมา 7 อาทิตย์

" มันเป็นการเริ่มต้นจุดเล็กๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา" นายอับดุล อาซิส ราษฎรอาวุโสและผู้นำการฟื้นฟูในชุมชนนี้กล่าว

"ผู้ที่จะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้งกำลังได้รับความช่วยเหลือ โดยเราคาดว่าจะมีอีกกว่า 25 รายที่จะกลับมาทอผ้าก่อนถึงเดือนหน้า" ความช่วยเหลือนี้ส่วนหนึ่งมาจาก Maruthamunai Deve
lopment Company ( MDC ) ซึ่งเป็นกิจการที่สมาชิกในชุมชนมีหุ้นอยู่โดยบริษัทนี้ให้สัญญาว่า
จะจัดหาเส้นด้ายให้ฟรี สำหรับช่างทอผ้าที่ได้ซ่อมแซมเครื่องทอผ้าของตน

"การทอผ้าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในหมู่บ้านนี้และเป็นสิ่งตกทอดมาเป็นเวลานาน" นายอาซิสกล่าว " มารุธามุไน เป็นเพียงไม่กี่เมืองตามชายหาดที่อุตสาหกรรมการทอผ้าด้วยมือยังสามารถอยู่ได้"

ต่างจากการตกปลาซึ่งเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจอีกอาชีพหนึ่ง การทอผ้านั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถทำได้ และการค้าขายผ้าทอนั้นก็มีตลอดปี โดยไม่มีการหยุดในช่วงลมมรสุม จากเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน

ความพยายามของหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองโคลัมโบไปทางทิศตะวันออก 300 กิโลเมตร ที่จะลุกขึ้นสู้ใหม่ยังได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวและกลุ่มอิสระต่างๆ ให้หันมาสนใจบ้างแล้ว

"มีชาวต่างชาติและคนในท้องถิ่น สั่งซื้อเสื้อเชิ้ตและส่าหรี เข้ามาบ้าง" นายอาซิสกล่าว

"แม้กระทั่งรัฐบาลก็ได้กล่าวว่าอยากจะพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านผ้าทอมือ" ช่างทอผ้าเช่นนางบาชีราก็รู้สึกดีใจที่ผ้าของชาวมารุธามุไนได้รับความสนใจ

"มันไม่ได้ชดเชยสิ่งที่พวกเราสูญเสียไป แต่มันช่วยให้เราเป็นช่างทอผ้าต่อไปได้"

มารุธามุไน, ศรีลังกา, (IPS),
ชมเดือน ปุนปัน แปล-เรียบเรียง

แปลและเรียบเรียงจาก TSUNAMI-IMPACT: Weavers Return to Break the Silence of Death โดย Marwaan Macan-Markar จาก www.ipsnews.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net