Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการกระจายอำนาจระบุ ประชาชนยังขาดความเข้าใจหลักการกระจายอำนาจและขาดร่วมอย่างแท้จริง ยอมรับปัญหามีทั้งผู้โอนและผู้รับโอนที่ยังไม่โปร่งใส ขณะที่มหาวิทยาลัยเครือข่าย 8 แห่งทั่วประเทศพบผู้ว่าฯ หลายแห่ง ลืมบทบาทประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจไป เพราะมุ่งแต่เล่นบทบาทซีอีโอตามนโยบายรัฐบาล

สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับศูนย์พัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอบรมให้ความรู้แก่อาจารย์และผู้นำนักศึกษาใน 6 จังหวัดภาคเหนือ โดยนายปัญญา ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนประสานงานติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามผลการกระจายอำนาจในภูมิภาคกับ 8 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า แม้กับบุคลากรในสถาบันการศึกษายังขาดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ เช่นยังไม่ทราบแม้กระทั่งว่าสำนักงานกระจายอำนาจสังกัดหน่วยงานใด จึงกำหนดตระเวนทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการกระจายอำนาจให้กับส่วนภูมิภาค ซึ่งจะดำเนินการลักษณะเช่นนี้ไปอีก 8 ครั้งทั่วประเทศ และเตรียมจะสร้างศูนย์ข้อมูลกลางภายใต้งบประมาณ 57 ล้านบาทที่มีเป้าหมายจะให้เชื่อมกับศูนย์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศด้วย

สำหรับสถานการณ์ของการกระจายอำนาจของไทย เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ใช้เวลาราว 5 ปี ขณะที่ต่างประเทศต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี บางอย่างจึงควรค่อยเป็นค่อยไปได้ โดยขณะนี้ได้ถ่ายโอนภารกิจไปแล้วทั้งสิ้น 180 ภารกิจ จาก 245 ภารกิจ ซึ่งที่ต้องดูให้รอบคอบคืองานการศึกษาและสาธารณสุข ด้านงบประมาณราว 23.5 % เป็นยอดเงินประมาณ 2 แสนล้าน จากหนึ่งล้านล้านบาทของรายได้สุทธิของประเทศ บุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้ว 4,111 คน และกำลังจะถ่ายโอนในปีนี้อีก 348 คน

ทั้งนี้ยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหาบางหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคทำใจไม่ได้ที่ต้องถ่ายโอนงานไป แต่บางหน่วยงานก็เข้าใจและเป็นพี่เลี้ยงใหม่กับหน่วยงานท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนเป็นอย่างดี แต่ที่หนักใจคือท้องถิ่นหลายแห่งที่ผู้บริหารเข้ามาโดยการเมืองแบบเดิมคือระบบอุปถัมภ์ทำให้การตรวจสอบความโปร่งใสเป็นไปได้ยาก แต่ภาพรวมแล้วถือว่าการกระจายอำนาจส่งผลให้การพัฒนาท้องถิ่นได้คล่องตัวกว่าเดิมมาก โดยเมื่อมีแผนงานผ่านความเห็นแล้วก็สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้เลยไม่ต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานส่วนกลางเหมือนเดิม

ส่วนประเด็นข้อกฎหมายที่มีถึง 60 ฉบับเกี่ยวโยงกับการกระจายอำนาจอยู่ บางอย่างก็แก้ไขง่าย บางอย่างก็เป็น พ.ร.บ.ที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคมาก

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นประสพผลสำเร็จแท้จริงคือ ประชาชนควรเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการทำแผนพัฒนา ประชุมสภาแสดงความเห็นและเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจสอบผู้บริหาร ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ยังมีอยู่น้อย

นายเอกกมล สายจันทร์ อาจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานศูนย์พัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่าจากการติดตามผลการกระจายอำนาจพบว่า ภารกิจถ่ายโอนสารพัดที่ลงมายังท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลยังมีปัญหา เพราะบุคลากรยังมีประสพการณ์น้อย ขณะที่ตัวผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ยังเป็นแบบเดิมคือมีกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเข้ามากว่าครึ่ง แม้จะเริ่มมีคนรุ่นใหม่และมีผู้หญิงเข้ามาแต่สัดส่วนยังน้อย ดังนั้นจึงเห็นว่าภาพรวมเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลอาจต้องขยายเวลาในการปรับตัวเป็น 10 ปี จากเดิมที่วางเป้าไว้ภายใน 5 ปี

นอกจากนั้นยังอุปสรรคสำคัญคือท่าทีของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาการกระจายอำนาจเป็นไปตามการบังคับของกฎหมาย แต่ในแง่ของนโยบายรัฐบาลยังเห็นว่าไม่แข็งขันเท่าใดนัก และในบางประเด็นยังเหมือนขัดกันอยู่ เช่นการให้ความสำคัญกับผู้ว่าซีอีโอ ซึ่งแม้จะแปลเป็นไทยว่า การบริหารงานแบบบูรณาการ แต่วิธีการทำงานค่อนข้างรวมศูนย์และให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ว่าฯ ว่ามีอำนาจเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา

แต่แนวคิดของท้องถิ่นเป็นการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดความอึดอัดระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งจะเห็นได้จากการประเมินผลของมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศพบว่า บทบาทหนึ่งของผู้ว่าคือการเป็นประธานคณะกรรมการถ่ายโอนระดับจังหวัดถูกหลงลืม ไม่ประชุมเลยก็มี

"นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายรัฐมนตรีได้เคยมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นประธานคณะกรรมการการถ่ายโอนระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการชุดนี้บางที่ประชุมครั้งเดียวแล้วหายไปเลย ทั้งๆ ที่ปัญหาการถ่ายโอนมีมาก เนื่องจากผู้ว่าฯ ก็ต้องดูนโยบายของรัฐบาล เมื่อเน้นบทบาทซีอีโอ เลยทำให้บทบาทการกระจายอำนาจไม่ขยับ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะหน่วยประเมินผลจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายในปีนี้เสนอว่า จำเป็นหรือไม่ที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้จะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นกรรมการก็งานล้นมือไม่อาจมาประชุมได้ ควรจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการให้มาจากหน่วยงานท้องถิ่นมากขึ้นหรือไม่ โดยขณะนี้ มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศของสำนักงานกระจายอำนาจ ได้เสนอปัญหานี้ ผ่านคณะกรรมการกระจายอำนาจระดับชาติ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีว่าควรจะดำเนินการเช่นไรกับคณะกรรมการชุดนี้" นายเอกกมลกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net