สังคม วัฒนธรรม หลังการเลือกตั้ง ก.พ. 2548 การเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม การเมือง ครั้งที่ 2 ของไทย

ภารกิจประวัติศาสตร์ของทักษิณมากกว่าประชาชนไทยคนใดในรอบ 50 ปี : ควรตระหนักในภารกิจและมีสติในการใช้อำนาจ

1. ประเทศไทยเกิดระบบการเมืองใหม่ อันเนื่องมาจากชัยชนะท่วมท้นของทรท. ชัยชนะของทรท.เป็นผลจากการสอดคล้องเชิงโครงสร้างระหว่างอำนาจ ผลประโยชน์ และค่านิยมของคนไทยจำนวนมาก

2. เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองใหญ่ครั้งที่ 2 การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกเกิดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจการเมืองที่เข้มแข็ง ในระดับที่มีโอกาสส่งผลให้สังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนยุคสมัยได้ ทักษิณควรตระหนักว่าตัวเองเป็นพลเมืองไทยคนเดียวที่จะมีบทบาทประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งเช่นนี้

3. ยุคใหม่เป็นยุคเปลี่ยนชุดและเปลี่ยนรุ่นผู้นำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมด้วย

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งแรกในยุคสฤษดิ์
เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ช่วยปรับทิศทางการพัฒนาของสฤษดิ์

จอมพลสฤษดิ์เป็นซีอีโอคนแรก คือ อาศัยอำนาจการเมืองแบบเผด็จการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายด้าน คือ การปฏิรูปราชการ ตั้ง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาวิจัย และสภาการศึกษาแห่งชาติ ขึ้นมา ซึ่งบริหารงานข้ามกระทรวงและหน่วยงาน สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง อุตสาหกรรมต่างๆ สร้างค่านิยมวัตถุนิยมและการดิ้นรนด้วยตัวเอง

แต่ผลเสียจากระบบสฤษดิ์ก็มีมาก คือ สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ครอบครัวพลัดพรากจากกัน ผู้หญิงหลายแสนคนต้องขายตัว เด็กเล็กถูกใช้แรงงานนรก เกิดปัญหาศีลธรรม โรคเอดส์ ฯลฯ ค่านิยมอุปถัมภ์ในหมู่ ชาวบ้าน ก็ยังแพร่หลาย นักธุรกิจ พ่อค้ายังต้อง พินอบพิเทา ส่งส่วยและบรรณาการ เงินใต้โต๊ะ เกิดคอร์รัปชั่นมากมาย

ประเทศไทยอาจตกที่นั่งเป็นประเทศยากจนทางทรัพยากร ล้าหลังในแบบเดียวกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียได้ แต่โชคดีว่าเรามีเหตุการณ์ทางสังคมการเมือง คือ 14 ต.ค.16 , 17 พ.ค.35 และการปฏิรูปการเมือง 2540 ได้ช่วยเหนี่ยวรั้งทิศทางของเราให้ถูกทิศทางมากขึ้น สังคม วัฒนธรรมไทยจึงก้าวไปในทางที่ดีพอสมควร ดังนี้

1. พื้นฐานเศรษฐกิจภาคเอกชนเข้มแข็งและกระจายตัว เพราะหลุดจากการเกาะกินของทหารได้

2. สังคมมีฐานกว้างและหลากหลายขึ้น ทำให้ตั้งรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น เปลี่ยนจาก โครง สร้างศาลพระภูมิเสาเดียว ต่อยอดจากข้างล่างสู่บนเรื่อยๆ มาเป็น โครงสร้างฐานกว้างแบบศาลาวัด มีเสาหลายเสารับน้ำหนักโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น ชาวบ้านมีคุณภาพ มีน้ำใจ แบ่งปันหน้าที่กันไปได้ดี ต้นทุนความรู้และทุนทางสังคมวัฒนธรรมพอเพียง ความรู้อาชีพของคนชั้นกลางแยกย่อยหลากหลายขึ้น ชาวบ้านมีทุนชีวิตและประสบการณ์เพิ่ม จากการเคลื่อนย้ายที่ทำกินและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรม

3. กระจายอำนาจโดยรวมดีขึ้น ชนชั้นล่างภูมิใจในอัตลักษณ์หรือตัวตนของตนเองมากขึ้น รักษาอำนาจการเมืองและสิทธิต่างๆ มากขึ้น การแบ่งแยกเป็นชนชั้นตามฐานะ เศรษฐกิจ กิริยามารยาท และความรู้ลดน้อยลง เพราะคนแต่ละกลุ่มต่างมีวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของตนเอง ความรู้ไม่ได้ผูกขาดเหมือนดังก่อน เศรษฐกิจได้พึ่งพาคนชั้นล่างมากขึ้น สังเกตจาการให้ความสำคัญกับการหยุดงานยาวในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ ฯลฯ

เกิดสังคมสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร หรือประชาธิปไตยเชิงข่าวสารเป็นทุนทางสังคม และเป็นเครือข่ายประกันภัยทางสังคม (Social Safety net) ที่ดีของชาวบ้าน

4. เกิดประชาสังคมขึ้น มีความเคารพซึ่งกันและกัน ทำดีให้กันมากขึ้น เช่น เกิดการร่วมใจกนแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการกระจายปัญหาญัตติสาธารณะในสื่อ การรณรงค์เพื่อจิตสำนึกสาธารณะในเกือบทุกๆ ด้านอย่างจริงจัง ต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ การเคารพวิถีชีวิต ยกย่องส่งเสริมศิลปวัฒธรรมของกันและกันมากขึ้น

5. อดทนต่อความต่างทางความคิดและอุดมการณ์ในสังคมดีขึ้น ไม่เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดสุดโต่งดั่งในอดีต และมีแนวโน้มไปสู่การปฏิรูปมากขึ้น

6. คนมีข้อมูล โอกาส และทางเลือกมากขึ้น แต่ยังไม่ยกระดับเป็นสังคมเรียนรู้ที่ดีพอ สืบเนื่องจากปรับค่านิยมตามโลกาภิวัตน์และสังคมข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมสำคัญคือ การเป็นปัจเจกหรือเป็นตัวของตัวเอง เช่น การให้เสรีภาพในการเลือกเรียน และเลือกอาชีพแก่ลูกหลานมากขึ้น ค่านิยมการมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังกรณีของการเกิดค่านิยม SMS

7. ความเสื่อมทางศีลธรรมยังมีสูง ช็อกทางศีลธรรมง่าย แต่ไม่เกิดการแก้ปัญหาจริงจัง

8. ความเชื่อถือขององค์กรและสถาบันของสังคมแย่ลง ยกเว้นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีบทบาทสูงสุดต่อประชาชน สถาบันสื่อ สถาบันการศึกษาซึ่งมีส่วนผลักดัน คลี่คลายสังคม สถาบันทางการเมืองทุกยุค มีภาพพจน์ไม่ดี เช่นเดียวกับข้าราชการ ตำรวจ และเริ่มลามไปถึงสถาบันยุติธรรม องค์กรอิสระ

อย่างไรก็ตาม ราชการบริการและสนองตอบประชาชนดีขึ้น เห็นได้จากการมีมาตรฐานการบริการ การลดขั้นตอน และระยะเวลาในการปฏิบัติการ

9. การเหยียดหยามระหว่างวัฒนธรรมสูง-ต่ำน้อยลง ในด้านศิลปะ เพลง หัตถกรรม

10. ความสูงต่ำวัฒนธรรมตะวันตก - ไทยลดลง วัฒนธรรมฝรั่งถูกมองเป็นของธรรมดาๆ มากขึ้น

11. ยอมรับความสากลของวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น มีอาหารหลายชาติ ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรมจากต่างชาติได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะเดียวกันวัฒนธรรมชาวบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่นได้รับการยกย่องมีพื้นที่มากขึ้น เช่น ค่านิยมในอาหารท้องถิ่น อุตสาหกรรม เพลงและภาพยนตร์ก็มีการนำเอาภาษาและทำนองท้องถิ่นมาใช้มากขึ้น จนทำให้เกิดนักร้องลูกทุ่งชื่อดังมากมาย ทั้งยังมีลักษณะ "ข้ามสัญชาติ" มากขึ้น เช่น โจนัส และคริสตี้

12. มีการกระจายอำนาจวัฒนธรรมเชิงพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์ดีขึ้น ท้องถิ่นสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ศาสนา และประเพณีของตนมากขึ้น เช่น มีการอนุรักษ์บ้านในเมือง พิพิธภัณฑ์จ่าทวี พิพิธภัณฑ์ซาไก พวน โซ่ง มอญบ้านม่วง รายการวิทยุเป็นภาษาท้องถิ่น ลาว เหนือ ใต้ ปกาเกอ
ญอ ม้ง แต่ยังขาดคือ การใส่ใจกับวัฒนธรรมประเพณีมุสลิม เพลงภาษายาวี เช่น ดะห์ กำปงปีแซ และบาดูริง

13. ชนชั้นล่าง ชาวบ้านเริ่มมีพลังต่อรองกับรัฐหรือชนชั้นสูงกว่ามากขึ้น เช่น การต่อรองในเรื่องการจัดการทรัพยากร การมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างด้านแผนงาน นโยบาย และโครงการรัฐ เอกชนต่างๆ รวมทั้งการต่อรองเพื่อพื้นที่สาธารณะ เช่น สวน ห้องสมุดเด็ก ชาวคุก ฯลฯ

14. วัฒนธรรมเป็นเครื่องบ่งชี้พลังสร้างสรรค์ของสังคม โดยเปรียบเทียบชนชั้นกลางและชนชั้นล่างไทยมีพลังสร้างสรรค์มากกว่าชนชั้นอื่นๆ

ชนชั้นกลางมีการศึกษาตามระบบ มักเป็นมืออาชีพหรือมนุษย์เงินเดือนให้กับกลุ่มทุน แต่เราจะเห็นความแปลกใหม่สร้างสรรค์จากชนชั้นล่างที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการศึกษาในระบบ เช่น การค้ารายย่อย ของที่ระลึก ของประดับ ซึ่งได้กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตต่อมา เช่น การนวด
อโรมา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม เกิดเฟรนไชส์กาแฟสด ก๋วยเตี๋ยว ไก่ย่าง ลูกชิ้น ซีฟูด ฯลฯ ขึ้น

ชนชั้นล่างก้าวหน้ามากขึ้น จากการสะสมประสบการณ์ จึงมีพลังในการดิ้นรน สร้างสรรค์ยุทธวิธีละการต่อรอง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดหรือมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับชนชั้นที่สูงกว่า ดังจะเห็นได้จากการ บริโภคสินค้าในลักษณะเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า เช่น ข้าวปั้น 20 บาท ปลาซาบะราคาถูก สเต็ก 29 บาท กาแฟสด 15 บาท มีอาหาร ขนมที่สร้างสรรค์แปลกๆ เช่น ขนมเปี๊ยะ โรตีน้ำพริก เป็นต้น

อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้ตอบสนองกับคนชั้นล่างมากขึ้น เช่น การผลิตเพลงพื้นบ้านหรือลูกทุ่งประมาณ 800-1,000 อัลบั้มต่อปี หรือการผลิตภาพยนตร์เกรดบีที่เพิ่มขึ้น เช่น พระอภัยมณี รักยม ศพใต้เตียง ฯลฯ และมีดาราชื่อดังร่วมแสดงอย่างต่อเนื่อง เช่น แอน สิเรียม บุ๋ม ปนัดดา และนุก สุทธิดา เป็นต้น

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์หนสองในยุคทักษิณ

1. ยุคทักษิณเป็นจุดเปลี่ยนโครงสร้างสังคมในชุดและรุ่นของผู้นำทางเศรษฐกิจ สังคม
การเมืองพอดี กล่าวคือ ช่วง 2500 - 14 ต.ค.2516 อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือทหาร ตำรวจ อำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือกลุ่มพ่อค้า ธนาคารเชื้อสายจีน อำนาจนำทางความคิดอยู่กับเทคโนแครตจากชนชั้นสูงเดิม

ในช่วงหลัง 14 ตุลา - ยุคชวน อำนาจเศรษฐกิจขยายอยู่ในมือกลุ่มเดิม เพิ่มเติมด้วยนักอุตสาหกรรม พ่อค้าต่างจังหวัด อำนาจการเมืองอยู่ในมือข้าราชการ นักการเมืองอาชีพผสมกับตัวแทนธุรกิจและอิทธิพลท้องถิ่น อำนาจนำทางความคิดอยู่ในมือเทคโนแครตรุ่นใหม่

2. ในยุคทักษิณกล่าวได้ว่าเป็นยุคของชนชั้นกลางและชาวบ้านที่มีค่านิยมไปในแนวทางนิยมวัตถุ ความสำเร็จ ความเป็นตัวเอง ทำให้สังคมทั่วไปโน้มเอียงไปในแนวคิดแบบทรท. และเป็นคำตอบให้กับชัยชนะของทรท.

3. อำนาจเศรษฐกิจตระกูลนำทางธุรกิจเก่าสลายตัว คนรุ่นใหม่ยุคคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งโดยอายุเป็นรุ่นเดียวกับ 14 ตุลา (± 5 ปี) ขึ้นมากุมอำนาจแทนและเข้าผูกขาดหรือกุมสัมปทานทรัพยากรรัฐ ที่มีค่าสูงในยุคโลกาภิวัตน์ คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร โทรคมนาคม ข่าวสาร โทรทัศน์ วิทยุ บันเทิง วัฒนธรรม เครือข่ายการค้าการบริการแบบใหม่ๆ ธุรกิจเก็งกำไร ฯลฯ ซึ่งรุ่นใหม่นี้ความคิดกว้างกว่า กล้าเสี่ยงภัยกว่า และมีวิสัยทัศน์

4. ในทางการเมืองเปิดทางให้กลุ่มนำทางธุรกิจรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาอำนาจแทน เช่น ชวน ชวลิต สนั่น เสนาะ บรรหารเริ่มวางมือ แต่สังเกตได้ว่าทายาทของทั้งนักการเมืองอาชีพ ทุนเก่า และเทคโนแครตเก่ากำลังเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง

5. การนำทางความคิดมีความขัดแย้งเป็น 2 ขั้ว ระหว่างผู้นำธุรกิจรุ่นคลื่นลูกที่ 3 ที่มุ่งนำสังคมไปสู่การเติบโตทางวัตถุและเศรษฐกิจแบบโพสต์โมเดิร์นขายทุกอย่าง กับพวกปัญญาชนรุ่น 14 ลา ที่มุ่งชี้นำสังคมไปสู่แนวชุมชนนิยม อนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากร การขยายสิทธิด้านต่างๆ ของประชาชน และการเคารพวัฒนธรรมตัวตนของคนทุกๆ กลุ่ม

ข้อเสนอแนะต่อทักษิณและทรท.

1. ทักษิณควรเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียยุคสมัยของตน กับสฤษดิ์เพื่อนำพาประเทศให้ถูกต้อง

ทักษิณปรับขยายสลับเปลี่ยนระบบราชการมากกว่ายุคสฤษดิ์ เช่น ตั้งกระทรวงสื่อสาร กระทรวงพลังงาน ผู้ว่าซีอีโอ เขตเศรษฐกิจพิเศษ

สฤษดิ์มีเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนา ทักษิณมีเป้าหมายเป็นประเทศชั้นนำหรือประเทศโลกที่หนึ่ง สฤษดิ์พัฒนาโดยการขายทรัพยากรขั้นปฐมภูมิ ทักษิณจะก้าวเป็นโลกที่หนึ่งโดยขายทรัพยากรทุติภูมิและตติยภูมิ เช่น การขายสินค้าวัฒนธรรมและบริการซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะกับประเทศ

1.1 ควรระมัดระวังเรื่องการขายทรัพยากรตติยภูมิ (tertiary) เช่น การขายอธิปไตยและกฎหมาย คือ เปลี่ยนกฎหมายยอมเสียอธิปไตยบางด้าน เช่น เศรษฐกิจพิเศษเพื่อแลกการลงทุน การขายทรัพยากรนามธรรม เช่น คลื่นโทรคมนาคม สิทธิทรัพยากรน่านฟ้า อวกาศ สิทธิทรัพยากรทางทะเล ขายสัญญาระหว่างประเทศ เช่น FTA ขายอธิปไตยทางการเงินการคลัง (ธุรกิจต่างชาติสามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตน เช่น บัตรเครดิต ตราสารหนี้ หุ้น

1.2 ทรท.และสังคมควรวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียของทุกนโยบาย เพราะทรท. พัฒนาทุน
นิยมแบบโพสต์โมเดิร์นหรือหลังสมัยใหม่ อาจสุดขั้วจนทำทุกอย่างเป็นทุนจนไม่มีข้อจำกัด

สฤษดิ์พัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบสมัยใหม่ หลักของเศรษฐกิจโพสต์โมเดิร์นก็คือ การมองว่าทุกอย่างไม่มีแก่นแท้ใดๆ ในตัว สิ่งต่างๆ ล้วนมีมูลค่า ถ้าระบบตลาดให้ราคา แม้แต่อำนาจรัฐ อธิปไตยของประเทศ ความเสี่ยงก็มีราคาได้ ทรท.จึงพยายามทำทุกอย่างในประเทศให้มีราคาเอามาเป็นทุน เช่น เอาเครดิตคนจน ประมงชายฝั่ง ที่ตั้งหาบเร่แผงลอย การพนัน หวยใต้ดิน ทรัพยากรรัฐ อำนาจรัฐ กฎหมายรัฐ เช่น ตั้งซุปเปอร์โฮลดิ้งรัฐวิสาหกิจ แนวคิดเช่นนี้ถ้าปล่อยไปสุดขั้ว สักวันในอนาคตก็อาจจะมีคนคิดก็อาจจะมีคนคิดลามปามถึงกับขั้น "แปลงพระแก้วเป็นทุน" จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องวิพากษ์ข้อดีข้อเสียของทุกๆ นโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

2. ควรเข้าใจว่าสังคมไทยพัฒนาแล้ว มีทุนทางสังคม วัฒนธรรมสูง มีปากมีเสียง เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร ต้องไม่ปิดกั้นการวิจารณ์ มุ่งทำให้คนไทยเป็นนักจัดการ วิพากษ์ และสังเคราะห์ ข่าวสารให้เป็นความรู้ ทักษิณไม่ควรมีอคติต่อภาคสังคม วิชาการ ปรัชญา ทรท.เน้นการเชื่อมเครือข่ายขายตรงกับประชาชน และอย่าลดทอนความสามารถในการสร้างสรรค์ของชนชั้นกลางและชาวบ้านซึ่งสูงมากขึ้น อย่าลดทอนความเป็นสถาบันขององค์กรสำคัญอย่าง ธปท. หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ของรัฐ

3. อย่าทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมฐานกว้างแต่ความคิดแคบ มุ่งไปในทางวัตถุ ความสุขสบาย อยากรวดเร็วอย่างเดียว

4. อย่าทำให้วัฒนธรรมเป็นเพียงวัตถุหรือสินค้า ทั้งที่วัฒนธรรมทำหน้าที่จรุงใจผู้คน สร้างความภูมิใจให้กับกลุ่มและตัวเอง

5. ทรท. ควรมีเป้าหมายการสร้างระบอบเศรษฐกิจหลังสมัยใหม่ที่ถ่วงดุลไว้ด้วยความเป็นธรรมและมิติอื่นๆ ด้วย

ข้อวิจารณ์

1. ภาคสังคมต้องขยายบทบาทของตนให้ตามทันระบบทักษิณ เนื่องจากฝ่ายค้านไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ต้องเร่งยกระดับคุณภาพการตรวจสอบดุลยอำนาจ สร้างความโปร่งใส ขยายสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภคมากขึ้น ปาร์ตี้ลิสต์ของ ทรท.ขยายตัวเป็น 3 เท่า ภาคสังคมก็ต้องขยายบทบาทของตนอย่างน้อย 3 เท่า ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะการโต้เถียงทางวิชาการ สร้างสรรค์ในการตรวจสอบ และกดดันให้ ทรท.ต้องโต้ตอบในเชิงหลักการและวิชาการมากขึ้น

2. ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือการทับซ้อน ในขณะที่ปัญหาของประเทศพัฒนาอื่นๆ ในโลก คือ ความซับซ้อน (complexity) นวัตกรรมใหม่ๆ ทางสินค้า บริการ เทคโนโลยีทางการเงิน การคลัง ความซับซ้อนของตลาดเงินตลาดทุน ฯลฯ แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ที่ทุกอย่างมีค่ามีราคาได้ จึงเกิดการซับซ้อนเหลื่อมซ้อนระหว่างขอบเขตประเทศกับระหว่างประเทศหรือโลก ระหว่างวัฒนธรรม/สินค้า ถูกศีลธรรม/ไม่ถูกศีลธรรม ความจริง/ ความเสมือนจริง ชุมชน/รัฐ เอกชน ซึ่งทางแก้ก็คือ การเร่งพัฒนากลไกด้านนโยบาย กฎหมายองค์กร ความคิด

3. คอรัปชั่นในยุค ทรท. มีลักษณะกว้างขวาง พัฒนาการตัวเองได้ไว และสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองได้เก่งที่สุด นักการเมืองไทยมีนวัตกรรมสูงสุดในด้านนี้ จนเกิดคอรัปชั่นใหม่ๆ ขึ้น ส่วนใหญ่มีลักษณะบูรณาการ แต่มีลักษณะเด่นเพิ่มขึ้นหลายประเภท คือ

คอรัปชั่นเชิงนโยบาย คอรัปชั่นล่วงหน้า เนื่องจากอยู่ในอำนาจนานสามารถวางแผนคอรัปชั่นได้ล่วงหน้า เช่น ลงทุนในบางกิจการไว้ก่อน แล้วกำหนดนโยบายภายหลัง

คอรัปชั่นโดยกฎหมาย ด้วยการออกกฎหมายให้เอื้อต่อธุรกิจบางกลุ่มบางพวก เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ข้อตกลงการค้าเสรีกับบางประเทศ

คอรัปชั่นแบบการันตีประสิทธิผลอนาคต (forwardable corruption) เช่น ถ้ากิจการไม่ประสบความสำเร็จก็เขียนข้อสัญญาให้ฟ้องร้องได้ หรือตั้งอนุญาโตตุลาการให้เข้าข้างฝ่ายเอกชน เช่น กรณีค่าโง่ต่างๆ

คอรัปชั่นแบบแลกเปลี่ยนระดับผู้บริหารรัฐ เช่น กับประเทศพม่า จีน อินเดีย

คอรัปชั่นแบบเปลี่ยนมือได้ (switchable corruption) เช่น สมมติเอื้อประโยชน์ให้บริษัทโทรคมนาคมต่างประเทศ แล้วให้บริษัทเกษตรในกลุ่มตนไปรับประโยชน์ในประเทศนั้น จากนั้นค่อยมาตอบแทนกันระหว่างเกษตรกับธุรกิจของตน

คอรัปชั่นแบบทับซ้อน มี 2 แบบย่อยคือ ทับซ้อนแบบหนักๆ เช่น เปลี่ยนสัญญาสัมปทาน กับ คอรัปชั่นแบบแว้บๆ เช่น มีนโยบายลดค่าทางด่วน ลดค่าโทรศัพท์ สร้างถนน รถไฟ ย้ายสถานที่ราชการ เปลี่ยนวิธีประมูล เพื่อประโยชน์ประชาชน แต่ก็แวบขึ้นมาได้ว่าตัวเองและพรรคพวกก็มีกิจการโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ฯลฯ อยู่ในจุดที่จะได้ประโยชน์ด้วย คอรัปชั่นใหม่ๆ เหล่านี้ ทำโดยนักการเมืองระดับสูง

คอรัปชั่นแบบหน่อมแน้ม คือ การกินสต๊อก ค่าคอมมิชชั่น ค่าปรึกษาโครงการ ซึ่งอยู่ในแวดวงนักการเมืองเก่าที่ตกค้าง ชาวบ้านเองก็มองเห็นลู่ทางที่จะได้ประโยชน์จากโครงการรัฐ ขณะนี้จึงเกิดการรุมกิจบุฟเฟต์ประเทศไทยกันทั้งระดับรากหญ้าจนถึงระดับรัฐบาล

4. สังคมการเมืองไทย พัฒนามาถึงจุดที่ส่งผลสะเทือนถึงสถาบันสำคัญทุกสถาบัน พสกนิกรทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชน ต้องช่วยกันระวังไม่ให้เกิดคอรัปชั่นสีดำจนกระทบกระเทือนสถาบันที่ทุกคนเทิดทูนจงรักภักดี

สังคมไทยมีลักษณะพิเศษ คือ พระมหากษัตริย์เป็นธรรมราชา ทรงทศพิธราชธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรมด้วย สังคมไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ด้วยกันด้วยการยึดหลักความเป็นธรรม ถ้าสังคมไม่มีหลักความเป็นธรรม ประเทศไทยก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้

การเผด็จอำนาจเบ็ดเสร็จแบบสีเทาซูเปอร์ชิลด์ ถ้ามีลักษณะถาวรจะทำให้ทับเส้น ทับซ้อนมีมาก จนเข้ามาแทนที่หลักแห่งความเป็นธรรม การที่สังคม ค่านิยม คุณธรรม ศีลธรรมคนไทยเป็นสีเทาไปหมด ย่อมบั่นทอนสภาวะทางสัญลักษณ์ของสังคมแห่งธรรมราชา

สังคมที่ดำรงอยู่ได้ด้วยหลักทศพิธราชธรรม ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยเพิ่งเคยได้ยินกระแสรับสั่งแสดงพระราชกังวลในเรื่องคอรัปชั่นโดยตรง ได้เห็นองคมนตรีและบุคคลใกล้ชิด สถาบันต้องออกมาว่ากล่าวคัดค้านการคอรัปชั่น การรณรงค์ให้เมืองไทยใสสะอาด

(นี่เป็นข้อสังเกตทางวิชาการล้วนๆ ไม่มุ่งร้ายคนกลุ่มใด เพราะคนไทยทุกคนจงรักภักดี จึงควรทำความเข้าใจ ประเมินความขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์นี้ให้ดี)

5. นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนานของ ทรท. คือ เอื้ออาทรในระดับรากหญ้า และเอื้ออาธรรม์ในระดับบนสะเทือนอย่างลึกซึ้งเชิงสังคมต่อค่านิยมและคุณธรรม โครงสร้างแบบศาลาวัดของเรามีเสาค้ำจุนหลายเสา เสาที่สำคัญที่สุดคือ เสาค่านิยมชาวบ้าน เสาหลักคุณธรรมของสังคม เสาสถาบันสังคมต่างๆ ปัจจุบันชาวบ้านถูกกรรมการวัด (ข้าราชการ) เจ้าอาวาส และพระผู้น้อยผู้ใหญ่ ยุให้จัดงานวัด งานบุญ งานรื่นเริง ทอดกฐิน แห่เทียน กันมากกว่าที่จะสนใจพระธรรมคำสอน แม้พระพุทธรูปในโบสถ์จะตรัสจากพระโอษฐ์ให้มีสติ มีความพอดี พอประมาณ ก็ยังไม่มีใครฟัง

ส่วนในระดับบน นโยบายเอื้ออาธรรม์เกิดจากการที่เจ้าอาวาสวัดไทยารามได้เลื่อนขั้นจากชั้นเทพ (เทวดาทักษิณ) เป็นพระธรรมทักษิณ ดวงตามองเห็นธรรม ทุกๆ อย่างตั้งแต่ อบายมุข การฆ่าตัดตอน บ่างแยกชั้นประชาชน บูรณาการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศให้ประโยชน์เข้ากลุ่มพวกพ้อง การทับซ้อนต่างๆ เป็นความว่างเปล่า เป็นภาวะธรรมดา เสริมให้ผู้คนในหมู่บ้านมองว่า "ทำดีเจ็บตัว ทำชั่วเป็นเรื่องธรรมดา"

เกจิอื่นๆ ของวัด เช่น หลวงปู่เหนาะ หลวงพี่สุ หลวงพี่สมศักดิ์ หลวงพี่พินิจธรรมาจารย์ หลวงพี่ห้อย แม่ชีสุ แม่ชีแดง ฯลฯ ไม่สนใจปรับปรุงเสา แถมยังรื้อบางเสาทิ้งหรือเอาไปเสริมกุฏิของตัวเองอีกด้วย เสาหลักที่ถูกรื้อไปก็คือ เสาคุณธรรม เสารากหญ้า เสาค่านิยม เสาสถาบันราชการสำคัญๆ เสาองค์กรอิสระ เสาพรรคฝ่ายค้าน ฯลฯ ชาวบ้านอาจเพลิดเพลินกับงานบุญ จนลืมดูว่ามีอะไร บ้างกำลังถูกรื้อทำลาย ในที่สุดถ้าพระไม่ยับยั้งตัวเอง ชาวบ้านไม่ยับยั้งตัวเอง ศาลาวัดก็จะพังโครมมาทั้งศาลา กลายเป็นวัดไทยสิ้นศรัทธารามได้

ระบบการเมืองใหม่ของ ทรท. จะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ทำให้สังคม วัฒนธรรม มีความแข็งแกร่ง มีอิสระเป็นตัวของตัวเอง การมุ่งครอบงำทับซ้อนในทุกๆ ด้าน เป็นการทำลายประเทศ ประเทศจะอยู่ไม่ได้ และระบบการเมืองใหม่ของ ทรท. ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ธีรยุทธ บุญมี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท