ทั่วโลกรุมค้านแก้กม.สิทธิบัตรอินเดีย สะเทือนผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลก

ประชาไท- 2 มี.ค.48 ในขณะที่ผู้คนนับแสนกำลังเผชิญกับความตายและทุกข์ทรมานจากคลื่นยักษ์ซึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 วันเดียวกันนั้นเองรัฐบาลอินเดียได้ประกาศกฤษฎีกาแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ค.ศ.1970 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก ตามทัศนะของนักกิจกรรมด้านเอดส์ทั่วโลกที่ร่วมกันออกมาคัดค้าน

การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากอินเดียจะหมดระยะเวลาการผ่อนผันในการปฏิบัติตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทริปส์(TRIPs) ขององค์การการค้าโลกในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากกลุ่มผู้คัดค้านว่ารัฐบาลอินเดียดำเนินการออกกฤษฎีกาเพื่อแก้กฎหมายสิทธิบัตรโดยไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปราย

ยิ่งไปกว่านั้นสาระสำคัญในกฎหมายสิทธิบัตรที่มีการแก้ไขนั้นนอกจากจะไม่นำข้อกำหนดที่ทริปส์ได้ยืดหยุ่นมาบรรจุไว้ แต่กลับออกกฎหมายที่เกินกว่าข้อกำหนดไว้ในทริปส์ หรือที่เรียกว่า ทริปส์ผนวก (TRIPs Plus) โดยสาระสำคัญของกฎหมายนั้นมีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทยาข้ามชาติให้สามารถผูกขาดการค้าและกำหนดราคายาได้ตามอำเภอใจ

ประเด็นที่เป็นข้อกังวลของกลุ่มนักกิจกรรมด้านเอดส์คือ ข้อกำหนดที่จำกัดโอกาสในการผลิตยาสูตรสามัญโดยจะมีผลย้อนหลังไปถึงยาสูตรสามัญที่ได้ผลิตมาแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1995 หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงจะไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะประชาชนอินเดียเท่านั้นแต่หมายถึงชีวิตของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอีกจำนวนมากที่ต้องอาศัยการนำเข้ายาสูตรสามัญซึ่งจะมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบของบรรษัทยาข้ามชาติเป็นอย่างมาก ในขณะที่การใช้ยาจากบริษัทยาของสหรัฐต้องใช้ค่าใช้จ่ายประมาณ 600,000 บาทต่อปี ยาสูตรสามัญที่ผลิตโดยบริษัทยาจากอินเดียมีราคา 14,000 บาทต่อปี

การผลิตยาสูตรสามัญไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีแต่รวมถึงผู้ป่วยอื่นๆ อาทิเช่นกรณีของยารักษามะเร็งอย่างยา Gleevec ขณะที่ยาจากบริษัทโนวาร์ติสมีราคา 400,000 บาทต่อเดือน ยาชนิดเดียวกันที่เป็นสูตรสามัญจากบริษัทยาในอินเดียมีราคา 40,000 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นราคาที่ถูก กว่ายาจากบริษัทยาข้ามชาติถึง 10 เท่า

อุตสาหรรมยาของอินเดียถือเป็นอันดับสามของโลก และเป็นผู้ผลิตยาสูตรสามัญรายใหญ่สุดโดยปัจจุบันกว่า 200 ประเทศที่ต้องอาศัยการนำเข้ายาสูตรสามัญจากอินเดีย เพื่อช่วยให้ประชาชนในประเทศได้รับยารักษาโรค

องค์การหมอไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ดำเนินการด้านมนุษยธรรมได้ยื่นจดหมายแสดงความห่วงกังวลถึงผลกระทบที่ตามมาจากกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาอินเดียเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ศกนี้ระบุว่า "กว่า 7 แสนคนในประเทศกำลังพัฒนาที่รักษาด้วยยาต้านไวรัส ราว 50 เปอร์เซ็นต์ใช้ยาสูตรสามัญที่ผลิตจากประเทศอินเดีย ปัจจุบันองค์การหมอไร้พรมแดนได้ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อ 25,000 คนใน 27 ประเทศ และ 70เปอร์เซ็นต์ของยาต้านไวรัสที่ใช้ในการดำเนินโครงการรักษาเป็นยาสูตรสามัญจากประเทศอินเดีย"

เช่นเดียวกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแอฟริกันที่ได้ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของอินเดีย โดยชี้ให้เห็นถึงความกังวลใจและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา เนื่องด้วยแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีการระบาดของเอชไอวีรุนแรง ชาวแอฟริกันจำนวนมากต้องล้มตาย ประกอบกับความยากจนของประเทศในแอฟริกาดังนั้นโอกาสในการที่จะได้เข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและช่วยให้ผู้ติดเชื้อในแอฟริกามีชีวิตรอดได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยยาสูตรสามัญซึ่งอินเดียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่

นอกจากนี้จดหมายของเครือข่ายผู้ติดเชื้อแอฟริกันยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินการโดยยึดตามคำประกาศโดฮาที่ได้ยืนยันว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การค้าโลกต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิของประเทศสมาชิกในการที่จะปกป้องด้านการสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงยารักษาที่จำเป็นต่อชีวิตได้อย่างทั่วถึง

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ร่วมกันในหลายส่วนของโลกเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งเรียกร้องให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนในการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร โดยเสนอให้กฎหมายที่ออกมาส่งเสริมต่อการใช้สิทธิตามคำประกาศโดฮา โดยมีการเดินขบวนในอินเดีย, การชุมนุมหน้าสถานทูตอินเดียในแอฟริกาใต้

ด้านเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยและองค์กรพันธมิตรที่รณรงค์ด้านสิทธิในการเข้าถึงการรักษาในประเทศไทย ก็ได้ขอเข้าพบเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีกำหนดการเข้าพบเพื่อยื่นจดหมายและหารือถึงข้อห่วงใยต่อกฎหมายดังกล่าวในราวกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ในเร็วๆ นี้ไทยอาจจะต้องนำเข้ายาต้านไวรัสสูตรสามัญจากอินเดียบางตัวเพื่อเป็นยาสูตรสำรองในการรักษาผู้ติดเชื้อในระบบหลักประกันสุขภาพด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท