"บ้าน" …คำขอที่มากเกินของผู้ประสบภัยซึนามิ ?

ประชาไท - เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วหลังการมาเยือนของคลื่นยักษ์ "ซึนามิ" เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานที่ลงไปในพื้นที่ตามที่ได้รับรู้กันโดยตลอด ทำให้สถานการณ์ดูเหมือนเริ่มคลี่คลาย จนสังคมคลายความวิตกกังวล หรือความโศกเศร้าในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์และเพื่อร่วมชาติไปแล้ว

แต่ท่ามกลางความคลี่คลายของสถานการณ์ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้ประสบภัยจำนวนมากก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะเรื่องการลงหลักปักฐาน แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในการสร้าง "บ้าน" ถาวรให้กับชาวบ้านแล้วก็ตาม

ข้อมูลจากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ของ ดร.อนุชาติ พะวงสำลี คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล ทำให้เรารู้ว่า ปัญหาสำคัญตอนนี้ คือ การขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน รัฐตัดสินใจและทำแทนชาวบ้านทั้งหมด โดยที่มิได้ตระหนักรู้ถึงความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ทำให้พบว่าบ้านที่สร้างเสร็จหลายร้อยหลัง ชาวบ้านหลายแห่งลังเลใจที่จะเข้าอยู่ หรืออยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะไม่ชินกับบ้านแบบกรุงเทพและไม่เข้ากับวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา

นอกจากนี้พรรณทิพย์ เพชรมาก จากสถาบันพัฒนาชุมชน (พอช.) หนึ่งในหน่วยงานที่ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ก็สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันว่า ในส่วนของประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ ทหารจากกกองทัพบกได้มาช่วยปลูกสร้างบ้านถาวรให้ โดยใช้งบประมาณที่ได้รับบริจาคซึ่งรองนายกฯ สุวัจน์ดูแล แต่การก่อสร้างเป็นไปด้วยความเร่งร้อนตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่มีการปรับพื้นที่ให้เหมาะสม

"ชุมชนบ้านน้ำเค็มเดิมเป็นชุมชนที่แออัด ระบบระบายน้ำก็ไม่ดี พอทหารได้รับคำสั่งก็สร้างเลย โดยไม่มีการปรับพื้นที่ หรือวงผังชุมชนให้มีการระบายน้ำและระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น ชาวบ้านเขากลัวเสียสิทธิ์ ก็ต้องให้สร้าง แต่มันจะมีปัญหาในระยะยาว" พรรณทิพย์กล่าวพร้อมทั้งอธิบายว่าไม่ว่าจะมีปัญหาอย่างไร ชาวบ้านก็จำเป็นต้องให้ทหารสร้างบ้านให้ เพราะจะได้รับวงเงินช่วยเหลือ 120,000 บาท ขณะที่หากสร้างบ้านเอง จะได้รับเงินช่วยเหลือเพียง 30,000 บาท

ชุมชนบ้านน้ำเค็มเป็นชุมชนที่เสียหายอย่างหนัก เพราะโดนคลื่นกวาดหายไปเกือบหมด เดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชาการกว่า 4,724 คน (ประมาณ1,600 ครอบครัว) ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ย้ายถิ่นมาจากหลายจังหวัด ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยดั้งเดิมมีทั้งไทยใหม่ (ชาวเล/มอร์แกน) และไทยพุทธ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ย้ายมาทำงานต่อกันมาเรื่อยๆจากทุกภาคของประเทศไทย และรวมทั้งแรงงานพม่าในกิจการประมง/ครอบครัวแรงงานพม่า อีกประมาณ 500 คน

ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาวสำหรับผู้ประสบภัย เนื่องจากสถานะการครอบครองที่ดินของชาวบ้านในทุกหมู่บ้านมีลักษณะผสม จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินสาธารณะ ที่ดูแลโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า อุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ขณะที่ที่ดินบางส่วนในหมู่บ้านเดียวกันก็มีการออกเอกสิทธิ์บางส่วน

โดยขณะนี้มีหมู่บ้าน/ชุมชนที่ส่วนใหญ่อยู่ในที่สาธารณะ/ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 32 หมู่บ้าน แยกเป็นจังหวัดพังงา 14 หมู่บ้าน จังหวัดระนอง 6 หมู่บ้าน จังหวัดกระบี่ 5 หมู่บ้าน และจังหวัดภูเก็ต 6 หมู่บ้าน

ปัญหาของเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่เดิมของชุมชนนั้นมีหลายประการ บางชุมชนอยู่มากกว่า 20 ปี แต่ก็ไมมีเอกสารสิทธิ์ เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวเลที่ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ ในขณะที่บริเวณใกล้เคียงได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชน โดยที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยไม่ทราบมาก่อน เช่น บ้านในไร่ จ.พังงา หรือบางที่เป็นที่ชุมชนอาศัยอยู่มานาน แต่ประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือที่สาธารณะ ทำให้บางพื้นที่เกิดความขัดแย้งกับหน่วยงานราชการ แต่หน่วยงานบางแห่งก็อนุญาตให้ชุมชนอยู่ต่อไปได้ เช่น ชุมชนในเขตอุทยาน จ.ระนอง

ส่วนชุมชนบ้านน้ำเค็มนั้น พรรณทิพย์เล่าว่าภายในพื้นที่มีทั้งส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ชัดเจน และพื้นที่ที่มีปัญหากรรมสิทธิ์ซับซ้อน ซึ่งมีทั้งกรณีที่ดินที่มี นส.3 โฉนดบางส่วน เป็นที่สัมปทานเหมืองเก่าแล้วมาออกเอกสารสิทธิ์บางส่วน และเป็นที่ดินสาธารณะทับซ้อนกัน

"ที่ฟ้องร้องกันก่อนที่จะเกิดซึนามิก็มีอยู่ พื้นที่กว่า 700 ไร่ ชาวบ้านประมาณ 50 ครอบครัวเขายืนยันว่าอยู่มา 20-30 ปี เป็นที่สัมปทานเหมืองเดิม แต่มีการเอาไปออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่มีใครรู้ แล้วมีการเปลี่ยนมือไปอยู่ในบริษัทในเครือของนักการเมืองชื่อดัง" พรรณทิพย์กล่าว

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ซึนามิ เอกชนรายดังกล่าวได้ประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ และส่งมือปืนมาคุม ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปหาศพคนในครอบครัวได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้คณะทำงานของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน แห่งชาติ (สตจ.) ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ลงพื้นที่มาดูปัญหาดังกล่าวแล้ว เพื่อพิจารณาว่าควรหาทางออกอย่างไร

ปัญหาความขัดแย้งในกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างเอกชนและชาวบ้านในพื้นที่ยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป หน่วยงานพัฒนาเอกชนอย่างพอช. พยายามยื่นข้อเสนอให้กับทั้ง 2 ฝ่ายว่าให้แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งมาเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน แต่เป็นชาวบ้านนั้นเองที่ไม่รับข้อเสนอนี้

"ชาวบ้านรับไม่ได้ว่าทำไมต้องเอาที่ดินของเขาไปแบ่งให้เอกชน มันเป็นปัญหาเกินกว่าจะประนีประนอมแล้ว คงต้องสู้กันถึงที่สุด เพราะชาวบ้านเขาบอกว่าเขาไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว" พรรณทิพย์กล่าวทิ้งท้าย

กระนั้นก็ตาม ในการประชุม "มหกรรมฟื้นชีวิตชุมชน สร้างชีวิต หลังวิกฤติสึนามิ"
ระหว่างวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่จังหวัดพังงา ชาวบ้านได้ระดมความคิดเห็นเพื่อรวบรวมข้อเสนอเรื่องการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยให้แก่ภาครัฐ โดยระบุว่า ต้องการให้รัฐจัดที่อยู่อาศัยถาวร โดยคำนึงถึงวิถีชุมชน โดยเฉพาะประมงที่อยู่ติดทะเลนั้น ให้ชุมชนสามารถอยู่อาศัยในที่เดิม หรือที่ที่ชุมชนได้อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่อยู่อาศัยที่ชุมชนอยู่อาศัยมานาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับพื้นที่โดยมีองค์ประกอบจากหลายส่วน

ส่วนการก่อสร้างบ้านถาวร จัดให้การวางผังชุมชน วางระบบสาธารณูปโภค ออกแบบบ้านโดยชุมชนมีส่วนร่วม และสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านที่เสียหายบางส่วนโดยจ่ายให้สอดคล้องกับความเสียหายจริง

…. แม้ข้อเสนอเหล่านี้ดูจะเป็นเพียงเรื่องพื้นฐานที่ดูไม่ยิ่งใหญ่อันใดเมื่อเทียบความสูญเสียใหญ่หลวงที่พวกเขาได้รับ แต่มันก็ยังเป็นปัญหายืดเยื้ออยู่เช่นนั้น ราวกับว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นคำขอที่มากเกินไป สำหรับคนเล็กคนน้อยที่แทบไม่ได้ช่วยให้จีดีพีประเทศถีบตัวสูงขึ้น….

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท