Skip to main content
sharethis

เปิด 2 เส้นทางนำร่องรถเมล์เชียงใหม่ ประเดิม 2 สายขอสัมปทาน จากหนองประทีป - เชิงดอย และสนามบิน - ตลาดทรายแก้ว ใช้รถ 13 คันต่อสาย มั่นใจคนใช้ไม่รอนาน ค่าโดยสาร 5 - 10 บาท "บุญเลิศ"ย้ำไม่ใช่คู่แข่งรถแดง เพราะกลุ่มเป้าหมายหวังให้คนใช้รถส่วนตัวเปลี่ยนพฤติกรรม คาดพฤษภาคมนี้ล้อหมุนแน่

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นำคณะสื่อมวล ชนขึ้นรถเมล์ขาวขนาด 32 ที่นั่ง จำนวน 2 คัน วิ่งในเส้นทางที่คาดว่าจะยื่นขอสัมปทานจากกรม การขนส่งทางบก จำนวน 2 สาย โดยเป็นสายเดินรถเมล์เหลืองเดิมสายที่ 1 และ 4 ซึ่งออกแบบเป็นระบบรัศมีไขว้เพื่อให้เกิดจุดจอดรถเพื่อเปลี่ยนรถได้ อิงการออกแบบของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยรถเมล์ขาวที่ทดสอบนั้นภายในมีเบาะสีเทาเรียงติดกันเป็นสองแถวเหมือนรถสี่ล้อแดง แต่มีเบาะด้านหลังอีก 1 แถว มีราวสำหรับโหน ติดเครื่องปรับอากาศ และใช้น้ำมันไบโอดีเซล

ทั้งนี้จากการร่วมสำรวจของ "พลเมืองเหนือ" พบว่า เป็นเส้นทางที่แล่นผ่านจุดชุมชนสำคัญคือสถานีรถขนส่งอาเขต ห้างคาร์ฟู มหาวิทยาลัยพายัพ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน วิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น แต่บางเส้นทางเช่นที่ผ่านถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ยังวิ่งในเส้นกลางซึ่งไม่อาจขึ้นหรือลงรถได้ แต่จะมีการปรับไปใช้สายนอก และกำหนดจุดจอดรับผู้โดยสารที่เหมาะสม

นายบุญเลิศแถลงว่า ตามที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับงบประมาณปี 2547 เงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตามแผนงานพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติ จำนวน 62 ล้านบาท เพื่อซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศขนาด 32 ที่นั่ง จำนวน 26 คัน เพื่อเป็นระบบขนส่งสาธารณะในเมืองนั้น

เทศบาลฯ ก็ได้จัดทำแบบสอบถามจำนวน 4,000 ชุด ระบุว่าคนเชียงใหม่ต้องการให้มีระบบขนส่งมวลชนโดยรถเมล์ร้อยละ 84 มีหรือไม่มีก็ได้ร้อยละ 8 และไม่ต้องมีร้อยละ 7 เส้นทางที่คิดว่าจะใช้มากที่สุด และระยะเวลาในการรอรถ 8-10 นาที ในช่วงเวลาปกติ และ 10-12 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน จุดจอดรถไม่ควรห่างจากจุดที่สามารถเดินไปใช้บริการได้ราว 300 - 500 เมตร จึงนำมาเป็นฐานในการออกแบบเส้นทางการเดินรถและจุดจอดรถ กำหนดอัตราค่าโดยสารนักเรียน 5 บาท ผู้ใหญ่และนักท่องเที่ยว 10 บาทตลอดสาย ให้บริการตั้งแต่ 05.00 น - 22.00 น.

โดยหลังจากสรุปเส้นทางขอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกจังหวัดเชียงใหม่แล้วก็จะส่งเรื่องให้กรมการขนส่งทางบกออกฤษฎีการองรับสัมปทานเส้นทาง และเทศบาลก็เปลี่ยนการจดทะเบียนรถ 30 คือรถรับจ้างไม่ประจำทาง เป็นรถ 10 คือรถประจำทางทันที โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนพฤษภาคม 2548

นายบุญเลิศยืนยันว่า รถเมล์ของเทศบาลไม่เป็นคู่แข่งกับสี่ล้อแดง แต่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมคนที่เคยใช้รถส่วนตัวมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะต่างหาก และยังเสริมสี่ล้อแดงด้วยซ้ำ โดยเป้าหมายของเทศบาลคือรองรับความเป็นฮับ จึงผ่านในท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ และสถานีรถขนส่ง ส่วนสถานศึกษาเป็นองค์ประกอบย่อยรองลงมา ซึ่งหลังจากที่เปิดเดินรถแล้วก็จะเชิญประธานสหกรณ์นครลานนามาพูดคุยเพื่อให้การเดินรถของ 2 องค์กรเชื่อมต่อสร้างความสมบูรณ์แบบของระบบในอนาคต

"เทศบาลได้กันเงินส่วนหนึ่งเพื่อบริหารจัดการที่คาดว่าเริ่มต้นอาจขาดทุนวันละ 20,000 บาท แต่หากมีผู้ใช้บริการมากเงินอุดหนุนก็จะลดลง และกำลังพิจารณาว่าจะต้องบริหารเองหรือว่าจ้างเอกชนจึงจะเหมาะสม พร้อมกันนี้อาจหารายได้จากการมีสปอนเซอร์สินค้าข้างรถซึ่งจะไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์"

สำหรับแนวทางการออกแบบและเส้นทางเบื้องต้นนั้น นายพิทักษ์ ตันติศักดิ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่กล่าวว่า ออกแบบอิงจากแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายขนส่งและจราจรและ ความเป็นฮับของเชียงใหม่ โดยจะมี 2 เส้นทางก่อนด้วยระบบบรัศมีไขว้ ซึ่งทำให้เกิดจุดจอดรอรถที่สามารถเปลี่ยนรถได้ และเพื่อให้สามารถร่วมเข้ากับจุดจอดรถของสี่ล้อแดงอยู่บริเวณตลาดวโรรสด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net