Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องในโอกาสวันนักข่าว วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๘ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ และเครือข่ายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ (ซีป้า) ร่วมกันจัดงาน "บทบาทสื่อภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว" โดยมีสื่อมวลชนหลายแขนงร่วมอภิปรายแสดงความเห็น

โสภณ องค์การณ์ บรรณาธิการอาวุโส เครือเนชั่น

จริงๆเสรีภาพ มันมีมาตั้งแต่เกิด แต่บางครั้ง กับสถานภาพต่างที่ทางการให้ ทางเราก็ยอมรับไปโดยปริยาย

ในฐานะของสื่อมวลชนจะทำอย่างไร ๔ ปีที่ผ่านมา หลายคนโดนตัดตอน เช่น อาจารย์เจิมศักดิ์ อาจารย์สมเกียรติ ฯลฯ ๔ ปีจากนี้ไปบรรยากาศคงจะน่ากลัวยิ่งขึ้น ยิ่งมีความเข้มแข็งดุดันเช่นนี้ โอกาสที่จะทำงานโดยไร้ภาวะกดดันก็คงยาก สื่อทีวีนี่เลิกพูดไปเลย ผมพูดเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ก็แล้วกัน แม้แต่สิ่งพิมพ์ เจ้าของกิจการบอกว่า คุณเบาๆหน่อย คุณอย่าไปคัดค้านเขาเลย คุณแตะเฉพาะรัฐมนตรีคนอื่นก็พอ แต่อย่าไปแตะ "ท่าน"

แม้เรื่องเดียวกัน สื่อก็พาดหัวไม่เหมือนกัน ในวงการสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าวจะแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เรื่องง่าย การที่นักข่าวจะไต่เต้าไปเขียนคอลัมน์ ก็ต้องผ่านปราการของรุ่นเก่า การแสดงความเห็นหรือการวิเคราะห์ ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองว่าเนื้อหานั้นเหมาะกับผู้อ่านหรือไม่

วัฒนธรรมผู้สื่อข่าวก็แตกต่าง ผู้สื่อข่าวในทำเนียบ หน้าบันไดกระทรวง จะต่างกัน ถ้าเปรียบกับนักข่าวที่ทำเนียบขาว จะพบว่า นักข่าวที่นั่นจะต้องเป็นนักข่าวอายุ ๔๐-๕๐ เป็นพวกเขี้ยวลากดิน แต่สำหรับของไทยเรา นักข่าวหน้าทำเนียบ นักข่าวประจำกระทรวง จะเป็นนักข่าวรุ่นใหม่หรือเด็กฝึกงาน

การแถลงข่าวหน้าทำเนียบ ผู้สื่อข่าวไม่กล้าถามคำถามที่ขัดใจผู้ตอบ เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ประนีประนอมกัน เพราะกลัวว่า หัวหน้ากลุ่มผู้สื่อข่าวจะโมโหหรือหมั่นไส้ กลัวว่าต่อไปเจ้าหน้าที่จะกีดกัน กลัวว่านักการเมืองคนนั้นๆจะไม่ให้ข่าว ไม่ให้สัมภาษณ์ หรือแสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตร

บรรยากาศจากนี้ไป แรงกดดันคงจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อที่ตรงไปตรงมา และคงได้รับแรงกดดันจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ

สื่อนั้น ถ้ามีธุรกิจอยู่ภายใต้เครือ ก็จะเกิดความสุ่มเสี่ยง เช่น สื่อที่มีธุรกิจเรื่องการนำเข้า ที่ดิน อุตสาหกรรมพาณิชย์ ก็จะสุ่มเสี่ยง เช่น จู่ๆ วันหนึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจปัสสาวะคนงานว่ามียาบ้าไหม เข้าไปตรวจสอบภาษี

"คนทำสื่อ หากไม่ใช่ผู้ที่ตั้งใจจริง มีสายป่านการเงินที่เข้มแข็ง และพร้อมรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง ก็จะยากลำบาก ...สังคมด้วยกันเองก็ไม่ได้ให้กำลังใจ สื่อก็ไม่ได้รับกำลังใจจากสังคม"

หลายๆ เรื่อง เราเริ่มไม่กล้าชี้ชัดว่าดีหรือไม่ดี ไม่กล้าตรวจสอบ เช่นกรณีทุจริตลำไยที่เกิดขึ้น เราไม่สนใจที่มาของความร่ำรวยของนักการเมือง ไม่ซักถาม ทั้งที่นักการเมืองของเรามีพฤติ กรรมที่ประเทศที่มีการเมืองที่พัฒนาแล้วจะไม่ยอมรับ และจะไม่มีวันได้ผุดได้เกิดอีก แต่ของเรามีการคอรัปชั่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่สมัยพระยาลิไปเป็นต้นมา แล้วเคยมีผลงานการตรวจสอบก็เพียงกรณีการทุจริตยาของอดีตนักการเมืองกระทรวงสาธารณสุข ที่ไปจับได้ตอนเขาไปจ็อกกิ้งที่สวนสาธารณะ

(รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการเสริมว่า แต่กรณีเรื่องทุจริตยา ก็เป็นฝีมือของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ยอมปล่อย และกล่าวว่า กรณีการจับอดีตรัฐมนตรีที่เกิดขึ้น ก็ออกมาเพื่อกลบกระแสความรุนแรงที่ตากใบ เมื่อทำไม่สำเร็จก็หันมาพับนก จนตอนนี้ ก็เป็นเรื่องการทวงพระมาลา สังเกตว่า เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เหมือนหนังฉายซ้ำ ไม่ต่างกับช่องยูบีซีที่เอาหนังมาฉายซ้ำอยู่เรื่อยๆ)

จากข้อมูลของ Freedom House ที่ลำดับความมีเสรีภาพของประเทศไทยไว้ว่า จากเดิมที่เราอยู่ในกลุ่ม free มาตลอด เราลดระดับลงมาในปี ๒๐๐๓ ที่เรากลายเป็นกลุ่ม Partly free ในกลุ่มเดียวกับประเทศอาร์เจนตินา เม็กซิโก เอลซันวาดอร์ ทองโก ยูโกสลาเวีย โดมินิกัน ฯลฯ ต่ำกว่าประเทศอิตาลี ซึ่งมีผู้นำคล้ายๆเรา แล้วต่อไป เราจะลดลงไปอยู่กลุ่ม Not Free หรือไม่

พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ผู้ดำเนินรายการข่าวเด่นประเด็นร้อนทางเอฟเอ็ม ๙๖.๕

ยุคทักษิณ ๑ ที่ผ่านมา สื่อมวลชนเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่งั้นก็จะหายไป

เราปกครองด้วยประชาธิปไตย แต่ไม่รู้ทำไปทำมา มันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเป็นประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ

เมื่อเขากดมาเราก็ต้องสู้ แม้เขาไม่กด เราก็ต้องสู้ ไม่งั้นจะไม่มีที่ยืน

เสรีภาพไม่ได้มาได้ด้วยการร้องขอ แต่ได้มาด้วยการต่อสู้ แล้วเสรีภาพของสื่อก็คือ เสรีภาพของประชาชน ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพ ก็ไม่มีใครสะท้อนความจริงในสังคม เป็นกระจกที่เบี้ยวๆ

ขณะนี้การรายงานข่าว สื่อจำนวนไม่น้อยไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงพูดแต่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ก็อาจถูกไม่ให้จัดรายการ

โดยหลักการ เสรีภาพที่สื่อจำเป็นต้องมี ๓ ส่วนหลักคือ มี Freedom of Expression หรือ Freedom of Report(เสรีภาพในการนำเสนอ-ผู้เรียบเรียง) ๒ Freedom of Criticism เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องให้นักคิดนักเขียนวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่และ ๓ เสรีภาพในการพยากรณ์ Freedom of Forecast เสรีภาพในการพยากรณ์ ต้องให้โอกาสสื่อพยากรณ์ ชี้ทิศทางสังคมได้

แล้วทำไมสื่อไม่มีเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ คำตอบคือ เพราะมีอำนาจการเมือง อำนาจการเงิน ระบบอุปถัมภ์และพวกพ้อง ที่มากดดันสื่ออยู่

ในส่วนของอำนาจการเมือง เราผ่านช่วงตุลา ๑๖ ตุลา ๑๙ และพฤษภาทมิฬ มาแล้ว แต่ทำไมตอนนี้เราอยู่สภาพอย่างนี้ รัฐบาลต้องให้เสรี ให้บุปผาร้อยดอกได้เบ่งบานออกมา ไม่ใช่บุปผาไม่กี่ดอก แล้วยังเป็นบุปผาสมัยตุลาฯ อีกที่มาจัดรายการ

สำหรับอำนาจการเงิน มีการบีบคั้นทางโฆษณา ถูกตัดเงิน สปอนเซอร์ไม่กล้าเข้าเพราะจะถูกเพ่งเล็ง

สุดท้าย อำนาจพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ บางครั้ง สื่อพยายามเสนอสิ่งดี แต่บางครั้งถูกบีบคั้นจากระบบอุปถัมภ์ เช่น มีผู้ใหญ่โทรมาขอ ให้ช่วยเบาๆ หน่อย สื่อก็ไม่รู้จะทำยังไง มันก็เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง

ผมเห็นว่า ๓๗๖เสียงของไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจไม่สภามาก แต่อำนาจนอกสภานั้น ประชาชนยังมีอยู่

สื่อเองไม่ควรยอมแพ้รัฐบาล ต้องปรับตัวให้อยู่รอดต่อไป และก็ต้อง "กล้า" คิดใหม่ทำใหม่ คือ เมื่อรัฐบาลคิดใหม่ทำใหม่ สื่อก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่ เมื่อรัฐบาลทำการตลาด ทำ Marketing สื่อก็ต้องทำ Marketing Journalism ต้องสร้างคุณค่าใหม่ๆ (Value) สร้างการนำเสนอใหม่ๆ (New Presentation) แม้จะถูกปิดปากมัดมือ ก็ต้องสู้ทางอื่น ต้องให้การตลาดนำทาง เพราะคนไทยยุคใหม่บ้า marketing ชอบ Big Surprise

ผมอยากเห็นสื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนได้มากขึ้น จะทำได้ก็ต้อง "กล้าหาญ" "มีความเป็นธรรม" อย่างกรณีไทยโพสต์เขาก็อยู่ได้ มีแฟนอยู่เป็นพวก Hardcore และข่าวเจาะลึกก็ควรมีมากขึ้น

สื่อต้องกล้าคิดนอกกรอบ ถึงจะต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณ ๒ ได้

พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากเปรียบเทียบสถานการณ์สื่อของไทย กับต่างประเทศ คือ ญี่ปุ่น และอิตาลี ซึ่งปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งบอกไว้ว่า ประเทศไทยกำลังดำเนินตามประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ ญี่ปุ่น ปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียว คือพรรค LDP ตั้งแต่ปี ๑๙๙๕ ทั้งนี้ สังคมญี่ปุ่นนั้น สื่อถือเป็นเสาหลักสำคัญ และคนญี่ปุ่น คือ greatest readers of newspapers in the world

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสื่อ เป็นความสัมพันธ์แบบสมานฉันท์ รัฐบาลให้ข่าวผ่านการแถลงข่าว และนักข่าวจะไม่นำเสนอข่าวร้ายของแหล่งข่าว

รัฐจะแต่งตัวนักข่าวให้เป็นสมาชิกที่ปรึกษาต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจะมีผลให้ได้รับเครื่องราชฯ อันเป็นแรงจูงใจของคนจำนวนหนึ่ง

สังคมญี่ปุ่นจะมีสมาคมนักข่าว (Reporters" Clubs) ซึ่งจะมีแบบฉบับในการสร้างวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติของนักข่าว สมาชิกจะทำตามข้อตกลงร่วมกันว่า หากสมาคมขอไม่ให้แตะเรื่องของใคร ทุกคนจะปฏิบัติอย่างเดียวกัน เพราฉะนั้น ข่าวร้ายของแหล่งข่าว จะไม่ปรากฏออกมาให้เห็น

การกำกับดูแลเนื้อหา จะทำผ่านกระทรวงไปรษณีย์โทรคมนาคม (MPT) ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาต ดูแล บังคับใช้กฎหมาย และมีกฎข้อหนึ่ง ที่บังคับให้เนื้อหาของรายการ ต้องไม่มีอคติทางการเมือง

หากคิดต่อว่า อะไรคือ "ไม่มีอคติทางการเมือง" ซึ่งก็คือ การวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่นำเสนอเนื้อหาที่เป็นที่ถกเถียงและสนใจของสังคม

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เนื้อหาข่าว มาจากข่าวแถลง ไม่ต้องใช้วิจารณญาณหรืออัตวิสัยของนักข่าวเข้าเกี่ยวข้อง

อีกประเทศหนึ่งที่เลือกเปรียบเทียบด้วย คือ ประเทศอิตาลี เพราะลักษณะของผู้นำไทยและผู้นำอิตาลี มีความคล้ายคลึงกัน

คือ ต่างก็เป็นผู้นำที่เป็น Media Tycoon ต่างก็เป็น อภิมหาเศรษฐีจากการธุรกิจสื่อ

Silvio Berlusconi เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ๓ ช่อง เจ้าของหนังสือพิมพ์ ๑ ฉบับ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ และทำบริษัทโฆษณา และเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศอิตาลี

ประเทศอิตาลี ออกกฎหมายปฏิรูปสื่อฉบับใหม่ ที่ออกมา ยกเลิกการห้ามเป็นเจ้าของข้ามสื่อ (Cross media ownership) ซึ่งการห้ามเป็นเจ้าของข้ามสื่อ ถือเป็นกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป เพื่อป้องกันการครอบงำจากสื่อ

นอกจากนี้ ยัง ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพื่อป้องการการเป็นเจ้าของคนเดียว

ซ้ำ ยังให้อำนาจรัฐบาล ในการเลือกประธานของสื่อสาธารณะ (RAI)

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสื่อ เรียกได้ว่าเป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" กัน มีการแทรกแซงสื่ออย่างกว้างขวาง เช่น ได้ไล่นักข่าวออกหลายสิบคน

ย้อนมองดูประเทศไทย สถานการณ์ไม่แตกต่างกัน เป็นความสัมพันธ์ ที่จะไม่ตกต่ำไปกว่านี้

ความเป็นอิสระของนักข่าว นักข่าวเองก็ต้องตรวจสอบตัวเองว่า เป็นอิสระจากค่านิยมและอุดม การณ์ที่ครอบงำ คือ ตกอยู่ภายใต้ทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมหรือไม่

ความหลากหลายของเนื้อหาที่ไม่มี คือ เปิดทีวียามเช้าหรือค่ำ ก็เจอคนทำสื่อที่ซ้ำหน้าเพียง ๑-๒ คน เต็มไปด้วยรายการบันเทิงที่จำเจ ภาพรวมเนื้อหาขาดคุณภาพ การมีส่วนร่วมเป็นเพียงการส่ง SMS ไม่มีมากไปกว่านี้

หากยังจะเดินหน้าปฏิรูปสื่อ คงเหลือเพียงทางออกเดียว คือการปฏิรูปจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นความคิดต่อข่าว ระหว่างข่าวที่ขายได้กับข่าวที่สร้างการเรียนรู้

การเปิดประเด็นใหม่ๆ วิเคราะห์เจาะลึกเนื้อหา ไม่ใช่ถือบทบาทเป็นเพียงผู้ส่งต่อทัศนะต่อความหมายของประชาธิปไตย

การทำงานต้อง Pro active ไม่ใช่เสนอแต่ข่าวแบบ Straight แต่นโยบายของแต่ละสื่อ ควรตั้งเป้าให้นักข่าวทำ Analysis Commentary

เธอทิ้งท้ายด้วยการยกคำพูดหนึ่ง และกล่าวว่า มีความเห็นที่แตกต่างกับนายกฯเพราะเชื่อว่า "ประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือหรือวิธีการ แต่ควรจะเป็นวิถีชีวิต"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net