เปิดปมทุกข์จาก "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง"

ตลอดบ่ายวันที่ 7 มีนาคม 2548 บรรยากาศการประชุมหารือคณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ สำนักงานโครงการฯ ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช คล้ายกับจะถึงจุดเดือดอยู่เป็นระยะ

การประชุมเริ่มจากให้ตัวแทนจาก 5 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ สะท้อนสภาพปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังเผชิญ ไล่มาตั้งแต่อำเภอปากพนัง, หัวไทร, เชียรใหญ่, ชะอวด และเฉลิมพระเกียรติ

ต่อด้วยข้อเสนอให้เปิดประตูน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ 7 เดือน ในช่วงหน้าน้ำ และปิด 5 เดือนในช่วงฤดูแล้ง เพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ของ "นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์" ซึ่งมาในฐานะตัวแทนชาวอำเภอปากพนัง

ทว่า ดูท่าทีของตัวแทนจากกรมชลประทาน และตัวแทนจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว ไม่พยายามตอบรับข้อเสนอนี้ ถึงแม้ตัวแทนจาก 2 หน่วยงาน จะยอมรับอยู่ในทีว่า โครงการฯ สร้างผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยก็ตาม

ในที่สุดที่ประชุมก็หาทางออก ด้วยการให้กรมชลประทาน นำข้อเสนอปิด - เปิดประตูน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ของตัวแทนชาวบ้าน กลับไปพิจารณาในรายละเอียด ขณะเดียวกันจะบันทึกความเดือดร้อน และข้อเสนอของชาวบ้าน เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

พร้อมกับนัดวันประชุมพิจารณาข้อเสนอของชาวบ้านอีกครั้ง ในวันที่ 27 เมษายน 2548 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช

ลุ่มน้ำปากพนัง

ลุ่มน้ำปากพนัง อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชากรประมาณ 600,000 คน มีพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด 12 อำเภอ

1. จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุม 9 อำเภอ คือ ชะอวด ร่อนพิบูล เชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง จุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ ลานสกา และอำเภอเมือง

2. จังหวัดพัทลุง ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ ควนขนุน ป่าพยอม

3. จังหวัดสงขลา ครอบคลุม 1 อำเภอ คือ ระโนด

ลุ่มน้ำปากพนัง มีแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายหลัก ยาวประมาณ 147 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ตรงบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช

มีลำน้ำสาขา 119 สาย ส่วนใหญ่มาจากเทือกเขาบรรทัด ทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำ ไหลลงสู่แม่น้ำปากพนัง

ภาคตะวันออกของแม่น้ำปากพนัง เป็นลำน้ำที่ช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำปากพนังลงสู่ทะเล เช่น คลองหัวไทร คลองท่าพญา คลองบางพรุ คลองบางไทร เป็นต้น

ระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำปากพนัง มีทั้งที่เป็นป่าต้นน้ำบนเทือกเขาบรรทัด, ที่ราบ, ป่าพรุ, ป่าจาก, ป่าชายเลน และชายทะเล

จุดเด่นของชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง จะมีน้ำ 4 ลักษณะตามธรรมชาติ คือ น้ำจืด น้ำเปรี้ยว น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้ชาวบ้านต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และสามารถปรับวิถีชีวิตและการทำมาหากินเข้ากับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ถึงแม้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จะมีพระราชดำริตั้งแต่ปี 2521 แต่เริ่มดำเนินการเป็นรูปธรรม ในปี 2537 โดยผนวกโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน แล้วจัดให้เป็นระบบ ด้วยงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้
1. ป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขา
2. เป็นช่องทางระบายน้ำท่วม และขจัดความขัดแย้งระหว่างนาข้าวกับนากุ้ง
3. เก็บกักน้ำจืดไว้ใช้
4. เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด
ผู้รับผิดชอบโครงการ
กรมชลประทาน

ลักษณะโครงการ

แผนงานโครงการก่อสร้างย่อยๆ
1. โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำปากพนัง พร้อมอาคารประกอบ (ประตูระบายน้ำกั้นน้ำจืดกับน้ำเค็ม)
2. งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ พร้อมอาคารประกอบ และประตูระบายน้ำตามลำคลองต่างๆ และงานขุดเปิดปากคลองเชื่อมต่อทะเล ประกอบด้วย
คลองระบายน้ำชะอวด - แพรกเมือง พร้อมประตูระบายน้ำ และคันกันทราย
คลองระบายน้ำฉุกเฉิน และประตูระบายน้ำ
คลองปากพนัง และประตูระบายน้ำ
คลองบางโด แบ่งเขตน้ำจืด - น้ำเค็ม และอาคารประกอบ
3. งานก่อสร้างคันแบ่งน้ำเค็ม - น้ำจืด และอาคารประกอบ
4. งานก่อสร้างชลประทานตอนบน ประกอบด้วย
ฝายคลองไม้เสียบส่วนขยาย ในเขตนิคมสร้างตนเองควนขนุน
อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อำเภอป่าพยอม จังหวัดพัทลุง
5. งานก่อสร้างและปรับปรุงชลประทานตอนล่าง

ทั้งนี้ แผนงานก่อสร้างทั้งหมด กำหนดแล้วเสร็จ ปี 2547

ส่วนแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เน้นกิจกรรมพัฒนาการเกษตร ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตและสหกรณ์ เช่น การปรับปรุงการผลิตข้าว การเกษตรผสมผสาน การส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน การปรับปรุงพื้นที่เลี้ยงกุ้ง การอนุรักษ์ป่าไม้ เป็นต้น

ปัญหาจากการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ขณะที่การก่อสร้างทั้งระบบยังไม่เสร็จ แต่ประตูระบายน้ำใหญ่ที่กั้นแม่น้ำปากพนัง คือ "ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์" สร้างเสร็จไปก่อน และเปิดทำการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ส่งผลให้การไหลเวียนของน้ำในลุ่มน้ำปากพนัง ผิดไปจากธรรมชาติ มีผลกระทบรุนแรงต่อคนในพื้นที่

ปัญหาจากการปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ แยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ พื้นที่เหนือประตูระบายน้ำ และพื้นที่ใต้ประตูระบายน้ำ

1. พื้นที่เหนือประตูระบายน้ำ

บนที่ราบและภูเขา ชาวบ้านจะทำสวนยางและสวนผลไม้ บริเวณที่ราบชาวบ้านทำนาเป็นหลัก บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ชาวบ้านจะทำประมงในคลอง, ทำน้ำตาลจาก และเลี้ยงกุ้ง

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการปิดประตูกั้นน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ คือ น้ำเปรี้ยว มีสารหนูเจือปน เนื่องจากน้ำเปรี้ยวจากพรุควนเคร็ง ดินและน้ำมีสารหนูเจือปน เนื่องจากสารหนูจากอำเภอร่อนพิบูลย์ ไม่สามารถไหลออกสู่ทะเลได้ แม่น้ำและลำคลองสาขาตื้นเขิน น้ำเน่าเสียเนื่องจากไม่มีการระบาย

การขุดลอกคลองต่างๆ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เกิดน้ำท่วมขังและสิ่งปฏิกูลกลายเป็นตะกอนตกค้าง มีปัญหาเรื่องผักตบชวา

ผลผลิตจากแม่น้ำลำคลองลดลง โดยเฉพาะผลผลิตจากต้นจาก และพันธุ์สัตว์น้ำลดลง ปลาสูญหายไปจากลุ่มน้ำปากพนังถึง 92 ชนิด ปริมาณปลาลดลงกว่าร้อยละ ๖๐ เนื่องจากระบบนิเวศ ๔ น้ำ คือ น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเปรี้ยว ถูกเปลี่ยนสภาพจากการแยกน้ำจืดกับน้ำเค็มออกจากกัน และปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้

เช่นเดียวกับป่าพรุที่พบว่า มีพืชหลายชนิดเริ่มหายาก มีแนวโน้มสูญหายไปจากพื้นที่ เช่น หวายบ้าน เสม็ด สัตว์ประเภทหนูและกระรอก และผักพื้นบ้าน

ขณะที่ชายฝั่ง มีการทำพนังกันคลื่น ตรงบริเวณปากคลองที่ขุดลงสู่ทะเล ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ชายฝั่งถูกคลื่นกัดเซาะ จากการสำรวจของนายดำรงค์ โยธารักษ์ และนายไพรี รัตนรัตพบว่า ที่ดินชายฝั่งถูกคลื่นกัดเซาะไปแล้วประมาณ 3,255 ไร่ จนชาวบ้านชายฝั่งไม่มีที่ดินเหลือให้อยู่อาศัยและทำกิน เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี

ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ กลุ่มนาข้าว เริ่มทำนาน้อยลง เหลือประมาณร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่เพาะปลูก เพราะได้ผลผลิตน้อย ราคาต่ำ น้ำท่วมขัง เกิดโรค และไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ

กลุ่มทำนากุ้ง ประสบปัญหาขาดทุน เพราะต้นทุนสูง น้ำเสีย กุ้งเป็นโรค ไม่มีที่ทิ้งเลนจากนากุ้ง

กลุ่มประมงพื้นบ้านในคลอง ประสบปัญหาสัตว์น้ำลดปริมาณลง อันสืบเนื่องมาจากระบบนิเวศ 4 น้ำ เปลี่ยนสภาพ จนปลาหลายชนิดไม่สามารถอยู่ได้ ขณะที่บางชนิดไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำได้ ส่งผลให้ชนิดปลาสูญหายไปจากลุ่มน้ำปากพนังจำนวนมาก

สอดคล้องกับผลการวิจัย "สำรวจประสิทธิภาพเครื่องมือทำการประมง และประเมินผลการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ ในบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง (หลังการปิดประตูระบายน้ำ)" ของอรัญญา อัศวอารีย์ และประมัยพร ศรีอรุณ จากกรมประมง ซึ่งสำรวจตั้งแต่คลองชะอวด จนถึงบริเวณปากอ่าวปากพนัง ระหว่างเดือนตุลาคม 2544 ถึงเมษายน 2546 พบชนิดสัตว์น้ำเพียง 76 ชนิด แยกเป็น ปลา 64 ชนิด กุ้ง 9 ชนิด ปู 2 ชนิดและกั้ง 1 ชนิด

ปริมาณสัตว์น้ำจำนวนดังกล่าว ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปริมาณสัตว์น้ำที่พบจากงานวิจัย "โครงการสำรวจชีวประมงและระบบนิเวศทางน้ำ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ปี 2540 พันธุ์สัตว์น้ำและผลการจับสัตว์น้ำในลุ่มน้ำปากพนัง)" ของไพโรจน์ สิริมนตาภรณ์ อังสุนีย์ ชุณหปราณ สมบูรณ์ สุขอนันต์ ธเนศ ศรีถกล อาภรณ์ มีชูขันธ์ ลออ ชูศรีรัตน์ จากสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

โครงการวิจัยชิ้นนี้ ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ได้ปิดประตูระบายน้ำในคลองปากพนัง

ผลการวิจัยพบสัตว์น้ำจำพวกปลา 116 ชนิด กุ้งทะเล 7 ชนิด กุ้งน้ำจืด 2 ชนิด กั้งตั๊กแตน 2 ชนิด ปูทะเล 8 ชนิด ปูน้ำกร่อย 2 ชนิด หมึก 2 ชนิด แมงดาทะเล 1 ชนิด สำหรับสัตว์น้ำจำพวกปลา แยกเป็นปลาน้ำจืด 43 ชนิด ปลาน้ำกร่อย 34 ชนิด และปลาทะเล 39 ชนิด รวมสัตว์น้ำที่พบทั้งสิ้น 140 ชนิด

ในจำนวนนี้พบปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่เฉพาะบริเวณกระแสน้ำค่อนข้างแรง 3 ชนิด คือ ปลารากกล้วย (Acanthopsis choirorhynchos) ปลาขี้ยอก (Mystacoleucus marginatus) และปลาค้อ (Noemacheilus masyae) สำหรับปลาทะเล 39 ชนิด พบในบริเวณอ่าวและตามแนวชายฝั่งทะเล

หมายความว่า หลังจากปิดประตูระบายน้ำอุทกภาชประสิทธิ์ ในปี 2542 เพียง 2 - 4 ปี พันธุ์สัตว์น้ำสูญหายไปแล้วอย่างน้อย 64 ชนิด
นอกจากนี้ การปิดประตูระบายน้ำอุกทกวิภาชประสิทธิ์ ยังก่อปัญหาน้ำเน่าเสีย เพราะไม่มีการถ่ายเท ผักตบชวาในแม่น้ำและลำคลองสาขามีมาก ผลที่ตามมา คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำเครื่องมือประมงเริ่มหายไป เช่น ไซ สุ่ม ปง เป็นต้น

ปัญหาทางสังคม คนวัยแรงงานอพยพออกไปทำงานที่อื่น, เป็นหนี้สิน, ยาเสพติด, อาชญากรรม และการพนัน

2. พื้นที่ใต้ประตูระบายน้ำ

ตั้งแต่ประตูระบายน้ำลงไปจนถึงทะเล รวมถึงตัวอำเภอปากพนัง และชุมชนรอบอ่าวปากพนัง พื้นที่นี้มีทรัพยากรสำคัญ คือ ป่าชายเลน สัตว์ป่า สัตว์น้ำ เป็นต้น มีระบบน้ำขึ้นลง อาชีพสำคัญของชาวบ้าน คือ การทำประมง ปัญหาที่ชาวบ้านประสบ คือ

รัฐมักไม่มีนโยบายส่งเสริมชาวประมง โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน แต่ให้ความสำคัญกับชาวนาข้าว ไร่นาสวนผสมมากกว่า

เกิดน้ำเสียในแม่น้ำ และอ่าวปากพนัง เนื่องจากการปิดประตูระบายน้ำ ทำให้ระบบน้ำไม่ไหลเวียน

จำนวนปลาและสัตว์น้ำลดน้อยลง โดยเฉพาะสัตว์ ๒ น้ำ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องออกหากินไกลขึ้น ส่งผลต่อต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

การบุกรุกป่าชายเลน เพื่อทำนากุ้ง เนื่องจากเริ่มโยกย้ายจากพื้นที่ทำนากุ้งในเขตน้ำจืด เพราะรัฐห้ามเลี้ยง โดยหันมาบุกรุกจับจองพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งแทน ขณะเดียวกัน ความเสื่อมโทรมของป่าชายเลน ยังเกิดจากน้ำไม่ไหลขึ้นลงตามธรรมชาติ และไม่มีน้ำกร่อย ส่งผลให้ปลาลดปริมาณและพันธุ์ลง

นอกจากนี้ ยังก่อปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง

ข้อเสนอของชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง

ชุมชนลุ่มน้ำปากพนังจาก 5 อำเภอ คือ อำเภอปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ ต้องการให้กรมชลประทาน เปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ โดยมีความเห็นแยกเป็น 2 แนวทาง คือ

ชุมชนส่วนใหญ่เสนอเปิดเป็นการถาวร เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว หลังจากนั้น 3 ปี ให้เปิดประตูเสือหึง, ปิดประตูหน้าโกฐ, ปิดประตูแพรกเมือง, ปิดคลองหัวไทร

ขณะที่บางส่วนเห็นว่า ควรเปิด - ปิดเป็นระยะ กำหนดระยะเวลาเปิด 8 เดือน (กรกฎาคม - กุมภาพันธ์) ปิด 4 เดือน (มีนาคม - มิถุนายน) โดยดูมรสุมเป็นหลัก ถ้าฝนมาเร็วอาจเปิดก่อน

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 มีการหารือร่วมกันระหว่างชาวบ้าน ภาครัฐ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พิจารณาข้อเสนอข้างต้น ที่ประชุมเห็นว่า ควรตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาการเปิด - ปิดประตูน้ำ โดยมีตัวแทนชาวบ้าน ภาครัฐ และนักวิชาการ เป็นคณะกรรมการร่วม

ใช้ชื่อว่า "คณะทำงานศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

ขณะนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหา อยู่ในการพิจารณาของคณะทำงานฯ ชุดนี้ ที่ถือฤกษ์เปิดประชุมนัดแรก เมื่อวัน 7 มีนาคม 2548

อันตามมาด้วย ข้อเสนอเปิดประตูน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ 7 เดือน ปิด 5 เดือน ที่ทำเอาอุณหภูมิของที่ประชุมร้อนระอุไปทั่ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท