Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
===============================

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ได้ตำหนิรัฐบาลไทยที่ไม่สามารถคลี่คลายกรณีการหายตัวไปของทนายความนักสิทธิมนุษยชน นายสมชาย นีละไพจิตร

ในจดหมายลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ของ Basil Fernando ประธานบริหารของหน่วยงานระหว่างประเทศหน่วยงานนี้ ได้ระบุถึงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้เคยให้คำมั่นว่า จะสร้างความกระจ่างต่อกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547

"AHRC ผิดหวังเป็นอย่างมากต่อการที่ท่านได้เคยให้คำมั่นไว้ในจดหมายลงวันที่ 5 สิงหาคม 2547 ว่า ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะคลี่คลายคดีทนายสมชาย และจะจัดการทางกฎหมายกับผู้ที่รับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว แต่จนปัจจุบันเป็นเวลาเกือบปีแล้ว ชะตากรรมของเขาก็ยังไม่มีใครได้รับรู้" Basil กล่าว

ทนายสมชายถูกลักพาตัวจากรถ ที่จอดอยู่ที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ได้กล่าวต่อสาธารณะ ถึงกรณีที่ตำรวจทรมานลูกความของเขา

มีเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายถูกตั้งข้อหาว่า มีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์นี้ แต่พวกเขาได้ให้การปฏิเสธและไม่ได้ให้การใดๆ ถึงสถานการณ์ของทนายสมชาย

AHRC ได้ระบุว่า ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงได้ให้การปกป้องเจ้าหน้าที่ทั้งห้านาย เพราะพวกเขาอาจได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง ให้ทำเรื่องนี้

Basil ได้ชี้ไปที่ถ้อยแถลงก่อนหน้านี้ของรัฐมนตรียุติธรรม ที่มีใจความว่า "คณะกรรมการเฉพาะกิจ ภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษ….ได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อ....ดำเนินงานในดคีนี้" และยังระบุด้วยว่าการทำงาน "มีความคืบหน้ามาก"

"มาถึงขณะนี้ได้รับรู้แล้วว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวนั้นไม่เป็นจริง ไม่ได้มีการตั้งคณะทำงาน อันที่จริง ความคืบหน้าของงานยังไม่มีเสียด้วยซ้ำไป" Basil กล่าว

AHRC ยังได้ระบุด้วยว่า นางอังคณา วงศ์ราเชนทร์ ภรรยาของทนายสมชาย ได้พยายามให้คดีเข้าไปอยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

"เป็นที่น่าเสียดาย ที่ขณะนี้ AHRC ได้ข้อสรุปแล้วว่า คำกล่าวของท่านรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2547 นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เป็นแต่เพียงการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ที่ต้องการทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับทนายสมชาย" Basil กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ เขายังได้เรียกร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เสนอตัวเข้ามาสานต่อคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548

"แม้ว่า ขณะนี้เราจะสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐมนตรีของท่าน ต่อการคลี่คลายคดีนี้ แต่เราก็ยังมีความหวังว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ จะไม่ทำให้เราผิดหวัง โดยขอให้กรมฯ เข้าไปดูแลคดีนี้ดังที่เคยได้แถลงเอาไว้"

"ในฐานะที่ทนายสมชายได้แสดงบทบาทเป็นผู้ปกป้องเหยื่อของการถูกทารุณกรรม ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย รวมกับการที่เขาเป็นทนายความนักสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง ดังนั้น หากคดีนี้สามารถคลี่คลายได้ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความตึงเครียดในภาคใต้ลงได้บ้าง" Basil แสดงทรรศนะ

แต่หากผู้เกี่ยวข้องต่อการหายตัวไปของนายสมชายสามารถลอยนวลอยู่ได้ "นั่นหมายถึงเป็นชัยชนะของหน่วยงานรัฐอีกครั้งหนึ่ง ที่สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างรุนแรง โดยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด"

"ดังนั้น คดีนี้เป็นคดีที่ระบบยุติธรรมของไทยต้องทำให้ดีที่สุด" Basil กล่าวเพิ่ม

AHRC ยังได้แสดงความเสียใจต่อระบบยุติธรรมไทยที่ไม่ใส่ใจกับปัญหาการทรมานผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาการเสียชีวิตหมู่ที่ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2547

"ผิดหวังเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ รัฐได้เคยใช้สำนวนโวหารอันสวยหรูว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ แต่ผมยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบาย ระดับกฎหมาย หรือในระดับพื้นที่ แต่อย่างใด" Basil กล่าวเพิ่ม

AHRC ได้พยายามอยู่ตลอดเวลา ให้รัฐบาลไทยลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการทรมาน และสร้างกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องขึ้นมา เพื่อรับมือกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้

ขณะนี้ ศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย (ALRC) ซึ่งเป็นองค์กรพี่น้องกับ AHRC กำลังเตรียมจัดทำรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของไทย เพื่อเสนอให้กับคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

คณะกรรมาธิการนี้จะพิจารณาคำร้องที่มีต่อประเทศไทย ตามประมวลกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในเดือนกรกฎาคม 2548 นี้

คณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย

หมายเหตุ : คณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย ก่อตั้งเมื่อปี 2527 มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net