Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 มี.ค.48 คณะอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ วุฒิสภา เชิญตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ หลังได้รับการร้องเรียนกรณีโครงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ตัดยอดเงินกู้เพื่อการศึกษาสำหรับนักศึกษาปีการศึกษา 2547 ลงกว่าครึ่ง

นายอัครพล จริยธรรมมานุกูล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลดเพดานเงินกู้ค่าเล่าเรียนของ กยศ. ซึ่งดำเนินการเป็นปีแรกนี้ ลดลงเหลือประมาณ 55,000 บาท จากเดิมที่เคยให้ประมาณ 96,000 บาท ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักศึกษาในโครงการพิเศษคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ต้องเสียค่าเทอมประมาณ 39,000 - 46,000 บาท ซึ่งแพงกว่านักศึกษาภาคปกติที่เอนทรานต์เข้ามาประมาณ 25,000 บาท เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายขอใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) จากสภาวิศกร

"การศึกษาในโครงการพิเศษเป็นการศึกษาต่อเนื่องเพื่อรองรับหลังนักศึกษาที่จบ ปวส.โดยใช้เวลาเรียน 3 ปีจบปริญญาตรี ก่อนเรียนต้องมีการปรับพื้นฐานในช่วงซัมเมอร์เดือนเม.ย.- พ.ค.เฉลี่ยแล้วต้องเงินคนละ 37,000 บาท โดยไม่สามารถผ่อนผันได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งให้นักศึกษาทราบว่าจะไม่ได้เงินกู้เต็มจำนวน จนกระทั่งเดือนพ.ค. ซึ่งมันก็ถลำไปครึ่งตัวแล้ว ทำให้เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะเรียนที่นี่ไหวหรือไม่" นายธนชัย นาสมยนต์ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมอีกคนหนึ่งกล่าว

นายธนชัย กล่าวต่อว่า การถูกตัดเงินกู้ค่าศึกษาเล่าเรียนส่งผละกระทบอย่างมาก ขณะที่ค่าเทอมของมหาวิทยาลัยก็เพิ่มขึ้นทุกปีๆ เฉลี่ยแล้วปีละ 2,000 บาท ทำให้เพื่อนๆ โดยเฉพาะนักศึกษาในโครงการพิเศษหลายคนต้องออกไปทำงานพาร์ทไทม์ในช่วงเช้า และเย็นหลังเลิกเรียนประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อหาเงินเป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ จนทำให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ส่งผลให้การเรียนตกต่ำ เฉพาะสาขาของตนถูกรีไทร์ไปแล้ว 5 คน

"เราก็ไม่แน่ใจว่าเหตุใด กยศ. จึงต้องลดวงเงินกู้ลงขนาดนี้ แต่เจ้าหน้าที่การเงินของมหาวิทยาลัยก็พยายามชี้แจงอยู่ว่าอาจเป็นเพราะรุ่นพี่ที่กู้เงินไปไม่ส่งคืนเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินในกองทุนเหลือน้อยจนกระทบต่อรุ่นน้อง" นักศึกษาที่เข้าชี้แจงอนุกรรมาธิการคนหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากปีที่แล้วกยศ. ปรับลดเงินให้กู้ยืมในส่วนของอุดมศึกษาลงประมาณ 1,000 ล้านบาทนั้น ทำให้นักศึกษาได้รับเงินกู้ลดลงอย่างเช่นได้ชัด ส่วนการชำระคืนนั้นนายเปรมประชา ศุภสมุทร ผู้จัดการ กยศ. ชี้แจงว่าปัจจุบันมีนักศึกษาค้างชำระเพียง 30%

อย่างไรก็ตาม นายธนชัยชี้แจงต่อว่า ที่ผ่านมาก็มีมาตรการแก้ไขปัญหาจากทางมหาวิทยาลัยหลายอย่าง เช่น การให้ทุนเรียนดีแก่นักศึกษา การให้ทุนศึกษาแก่ผู้มีรายได้น้อย และการจ้างงานนักศึกษาในช่วงว่างจากการเรียน รวมทั้งการตั้งกองทุนเงินยืม ให้นักศึกษายืมเงินกู้ โดยหลังจากจบแล้วหากใช้คืนภายใน 2 ปีจะไม่คิดดอกเบี้ย

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวสรุปว่า อนุกรรมาธิการฯ จะทำหนังสือขอเอกสารจาก มจธ. เกี่ยวกับการอนุมัติเงินกู้ย้อนหลัง 3 ปี ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนแต่ละภาคเรียนของโครงการพิเศษ และแนวทางการกู้ยืมเงินประจำปีการศึกษา 2548 จาก กยศ. พร้อมทั้งจะเชิญอธิบดีการบดี และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาชี้แจงเรื่องค่าศึกษาเล่าเรียนหลักสูตรพิเศษ รวมทั้งระบบการกู้ยืมเงินในวันที่ 29 มีนาคม ศกนี้

อนึ่ง ขณะนี้กยศ. อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อยกระดับเป็นกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (ICL) หรือ กรอ. ซึ่งตามเป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้ดำเนินการได้ภายในปี 2549 โดย ICL จะให้กู้เฉพาะค่าเล่าเรียน ในระดับการศึกษาชั้นปวส. และอุดมศึกษาขึ้นไปเท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนตัวจะมีการมอบทุนแบบให้เปล่าสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ส่วนการชำระคืนจะชำระคืนต่อเมื่อมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

จันทร์สวย จันเป็ง, มุทิตา เชื้อชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net