พลิกปูม "อพท." ใครจ้องฮุบขุมทรัพย์เกาะพีพี

หาดท้องทราย บนเกาะพีพี
=====================

รายงานพิเศษ

ศูนย์ข่าวภาคใต้- 9มี.ค. 48 หลายคนเพิ่งได้ยินชื่อ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)" องค์กรที่มีนามย่อ "อพท." หรือ DASTA ก็เมื่อมีข่าวชาวเกาะพีพี แห่งจังหวัดกระบี่ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ไม่ให้องค์กรนี้เข้าไปฟื้นฟูขุมทรัพย์การท่องเที่ยวนามเกาะพีพี

เช่นเดียวกับผู้คนทั่วไป คนเกาะพีพีเอง ก็เพิ่งได้ชื่อหน่วยงานนี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548

เมื่อ "นายอานนท์ พรหมนาท" ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เชิญเจ้าของที่ดินไม่กี่รายไปรับฟังแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี ซึ่งหนึ่งในหลายแนวทาง มีแผนของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (องค์การมหาชน)" รวมอยู่ด้วย

วันนั้น "นายธัญญา หาญพล" รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เดินทางลงไปชี้แจงด้วยตนเอง

แนวทางที่สร้างความตระหนกให้กับเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพี 34 ราย รวม 389.20 ไร่ ผู้ประกอบรายย่อยกว่า 600 ราย และแรงงานรับจ้างบนเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวอีกร่วม 6,000 คน ก็คือ แบบจำลองการจัดการเกาะพีพีใหม่ทั้งระบบ ที่นำเสนอโดย "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"

ด้วยการเนรมิตพื้นที่สูงบนภูเขาบนเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี ให้เป็นรีสอร์ตหรูระดับ 5 ดาว มีบริการครบวงจร เพื่อรองรับเศรษฐีนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ ภายใต้การบริหารจัดการของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"

ส่วนพื้นราบระหว่างอ่าวต้นไทรกับอ่าวโด๊ะดาลัม ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนประมง, สถานบริการ และโรงแรม รีสอร์ตต่างๆ กลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ไม่มีสถานบริการ ไม่มีชุมชนใดๆ

ทางเดียวที่จะไม่ให้เป็นเช่นที่กำหนดไว้ ก็คือ ที่ดินทั้ง 389.20 ไร่ จะถูกเวนคืน หรือแลกเปลี่ยน หรือเช่า หรือเช่าซื้อ หรือแปลงเป็นสินทรัพย์เข้าร่วมทุนกับ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"

แน่นอน ประโยชน์สูงสุดของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ก็คือ ใช้งบประมาณแผ่นดินเวนคืนที่ดินทั้งหมด

ทว่า หากต้องการลดแรงเสียดทาน ก็อาจจะยอมให้มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน หรือให้เจ้าของที่ดินแปลงสินทรัพย์เข้าร่วมทุนกับ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"

ขณะที่คำตอบจาก "นายธัญญา หาญพล" ก็คือ สำหรับชาวบ้านที่ยังประสงค์จะอยู่บนเกาพีพีต่อไป ทาง "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จะรับผิดชอบดูแลทั้งหมด ด้วยการอพยพขึ้นไปอยู่บนภูเขา

แน่นอน ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของคนบนเกาะพีพี หล่นออกมาจากปาก "นายธัญญา หาญพล"

ทว่า ดูเหมือน "นายอานนท์ พรหมนาท" จะขานรับการเข้ามาของ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ด้วยความกระตือรือร้นยิ่ง

เป็นที่ทราบกันบ้างแล้วว่า หน่วยงานที่ประสงค์จะเข้าไปบริหารจัดการเกาะพีพีองค์กรนี้ ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548

พื้นที่แรกที่องค์การมหาชนแห่งนี้ ประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษ เมื่อเดือนกันยายน 2547 คือ เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ตามด้วยแหลมถั่วงอกและพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548

อันที่จริง "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" เตรียมจะประกาศหมู่เกาะลันตาและพื้นที่เชื่อมโยงจังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ในปี 2548 ส่วนเกาะพีพี อยู่ในคิวที่จะประกาศในปี 2549

ทว่า คณะรัฐมนตรีให้ถอนเรื่องออกไปก่อน โดยให้จัดทำเป็นภาพรวมเป็นเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ หลังจากรัฐบาลคลอดนโยบายการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติพื้นที่นี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ดูเผินๆ น่าจะเป็นเรื่องดีที่จะมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เข้ามาดูเกาะพีพี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นเยี่ยมของเมืองไทยโดยตรง

แล้วเหตุใดเล่า บรรดาเจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการรายย่อย แรงงาน และชุมชน บนเกาะพีพี ถึงออกโรงต้านการเข้ามาของหน่วยงานนี้

แน่นอน คงยากที่จะเข้าใจ หากยังไม่ทราบว่า อำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ตราไว้ใน "พระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546" กว้างขวางเด็ดขาดขนาดไหน

"ประชาไทออนไลน์" ขออนุญาตนำบางมาตราในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มาถ่ายทอดให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ที่ตราไว้ ดังต่อไปนี้

เริ่มต้นจาก มาตรา 3 ที่ให้คำนิยาม "พื้นที่พิเศษ" ว่า เป็นพื้นที่ เขต หรือแหล่งท่องเที่ยว ที่ "คณะกรรมการกำหนดและประกาศ" ให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ต่อด้วย มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

เมื่อพลิกไปดูหมวด 1 เรื่องการจัดตั้งวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่

ไล่ไปที่มาตรา 8 ระบุให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) มีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) ถือกรรมสิทธิมีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่างๆ
(2) ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
(3) ให้กู้ยืมเงินหรือกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ขององค์การ
(4) เข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ในกิจการเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขององค์การ
(5) เป็นตัวแทน หรือนายหน้า หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคล หรือนิติบุคคลอื่นประกอบกิจการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ขององค์การ
(6) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการการกู้ยืมเงินตาม (3) และการเข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นตาม (4) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมายความว่า เมื่อ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน" ประกาศให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว

องค์การนี้ ก็สามารถนำพื้นที่นั้นไปร่วมทุนกับเอกชน ทั้งที่เป็นตัวบุคคล หรือเป็นนิติบุคคล รวมทั้งทำตัวเป็นตัวแทน เป็นนายหน้า มอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่พิเศษนั้นได้

เมื่อชายตาลงไปดูหมวด 2 เรื่องทุน รายได้ และทรัพย์สินขององค์การ

ในมาตรา 9 ระบุว่า ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการขององค์การ ประกอบด้วย
(1) เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
(2) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(3) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นและเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(4) ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการ
(5) ดอกผลของเงิน หรือรายได้ จากทรัพย์สินขององค์การ
(6) เงินรายได้ที่สำนักงานพื้นที่พิเศษแบ่งให้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่คณะกรรมการกำหนด

ต่อด้วย มาตรา 10 ในกรณีที่องค์การจัดให้มีบริการใดอันอยู่ในวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ขององค์การ ให้องค์การมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการจากกิจการนั้นได้ ตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ มาตรา 11 ซึ่งระบุว่า บรรดารายได้ขององค์การไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยการเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ตามด้วย มาตรา 13 การใช้จ่ายเงินขององค์การ ให้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการขององค์การโดยเฉพาะ

ตอกย้ำด้วยว่า การเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินขององค์การ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

เมื่ออ่านความในพระราชกฤษฎีกามาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า พลันที่ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ประกาศให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อไหร่ เมื่อนั้น "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ก็สามารถร่วมทุนกับเอกชน ทั้งที่เป็นบุคคล หรือเป็นนิติบุคคล, เป็นตัวแทน หรือนายหน้า หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคล หรือนิติบุคคลเข้าไปประกอบธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะพีพีได้ทันที

ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินไปประกอบการธุรกิจ โดยไม่ต้องส่งเงินเข้าคลัง

นั่นหมายความว่า "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน" ร่วมทุนกับเอกชนรายใด ก็เท่ากับเอกชนรายนั้น ได้เงินงบประมาณไปลงทุนฟรีๆ ในนามของการร่วมทุนกับองค์การมหาชนแห่งนี้

นี่ยังไม่นับเงินงบประมาณการลงทุนสร้างสาธารณูปโภครองรับ เช่น ถนน ท่าเรือ บ่อบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะ ฯลฯ ที่จะตามมาในนามของการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างเป็นพิเศษ ก็คือ ทำไม ถึงกำหนดไม่ให้มีสิ่งปลูกบนพื้นที่ราบบนเกาะพี ซึ่งนำมาสู่การเวนคืนที่ดินถึง 389.20 ด้วยเล่า

นั่นเพราะเป็นหนทางเดียวที่ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน" สามารถบริหารจัดการเกาะพีพีได้ทั้งเกาะ โดยไม่มีอะไรมากีดขวาง

คำถามก็คือว่า รัฐบาลเอาอำนาจอะไรมาเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปประกอบการธุรกิจ

คำตอบก็คือว่า ที่ดินที่ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จะนำไปใช้ประกอบธุรกิจร่วมกับเอกชน หรือเป็นตัวแทน หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างเอกชนให้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวนั้น เป็นที่ดินซึ่งอยู่บนที่สูง

เป็นที่สูงบนภูเขาใน "เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี" หาได้นำพื้นที่ที่เวนคืนไปประกอบธุรกิจแต่อย่างใดไม่

เพราะฉะนั้น การเวนคืนที่ดินบนพื้นที่ราบ ด้วยข้ออ้างเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย อันเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ จึงสามารถดำเนินการได้

คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า พื้นที่ราบที่ถูกเวนคืน โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 389.20 ไร่ รวมทั้งที่ดินบนพื้นราบที่ไม่มีเอกสารสิทธิในปัจจุบัน จะกลายเป็นสถานที่อาบแดด เล่นน้ำ ดำน้ำ ฯลฯ ของบรรดาเหล่านักท่องเที่ยวระดับมหาเศรษฐี ที่มาพักผ่อนในรีสอร์ตหรูบนภูเขาเขตอุทยานแห่งชาติ ในกาลอนาคตหรือไม่ เมื่อ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" เข้ามาบริหารจัดการ

แน่นอน คงคาดเดาได้ไม่ยากเช่นกันว่า พื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นเพชรเม็ดงามแห่งอันดามันแห่งนี้ ทาง "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จะนำไปร่วมทุน มอบหมาย หรือว่าจ้างเอกชนกลุ่มใดเข้ามาบริหารจัดการ

แน่ละ คงจะแปลกพิลึก ถ้าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ จะไม่ใช่กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ที่มีศักยภาพ ทั้งกำลังทรัพย์ ทั้งพลังอำนาจ ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกลุ่มผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้อยู่ในปัจจุบัน

นี่คือ การบังคับซื้อที่ดินโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน ในนามของการ "เวนคืน" เพื่อเปิดช่องให้กลุ่มทุนบางกลุ่มเข้าไปฮุบเกาะพีพี หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านกระบวนการประกาศหรือกำหนดให้เป็น "พื้นที่พิเศษ" โดยคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

จากนั้น ก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนในเครือข่ายผู้มีอำนาจ เข้าร่วมทุนกับ "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"

หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้เข้าไปบริหารจัดการ จาก "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน"

น่าจะรู้กันสักนิดว่า "คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน" เป็นใครมาจากไหน

อันนี้ดูได้จากหมวด 3 เรื่องการบริหารและการดำเนินกิจการ

กวาดตาไปที่มาตรา 14 จะระบุไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" เรียกโดยย่อว่า "กพท." ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านการบริหารการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือด้านการปกครอง
(2) กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสี่คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการบริหาร กฎหมาย การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การผังเมือง หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมิใช่ข้าราชการ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐร่วมอยู่ด้วย โดยให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น

ปัจจุบัน "องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน" มี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เป็น ผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีการจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546

มี นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็น ประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

มี นายสราวุธ ชโยวรรณ เป็น ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

มี นายธัญญา หาญพล เป็น รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

มาถึงบรรทัดนี้ คงถึงบางอ้อ ใครเป็นใคร กลุ่มทุนไหน น่าจะได้ขุมทรัพย์เกาะพีพีไปครอบครอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท