Skip to main content
sharethis

ปัตตานี- 9 มี.ค.48 นายอับดุลอาซิส ยานยา ประธานชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า โต๊ะครูเจ้าของสถาบันศึกษาปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 500 คน เห็นด้วยกับหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำมาเสนอต่อโต๊ะครู ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 โดยเลือกปอเนาะสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีของตน เป็นปอเนาะตัวอย่างการใช้หลักสูตรใหม่

นายอับดุลอาซิส กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรดังกล่าว เป็นการประมวลการเรียนการสอนที่มีอยู่ในสถาบันศึกษาปอเนาะรวบรวมเป็นหลักสูตร โดยคณะกรรมการประมวลความรู้ในสถาบันศึกาปอเนาะ 17 คน มีนายนิเดร์ วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นประธาน ตนเป็นรองประธานฯ มีโต๊ะครูที่ได้รับการยอมรับนับถือจากมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นกรรมการ ทำให้โต๊ะครูทั้งหมดไม่คัดค้านหลักสูตรนี้

"เราจะแปลหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหมด เป็นภาษาไทย ภาษายาวี และภาษาอาหรับ การแปลเป็นภาษาไทย จะทำให้คนไทยรู้ว่าในปอเนาะเรียนและสอนอะไรบ้าง เพราะแม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เคยบ่นว่า ไม่รู้มันสอนอะไรกัน นายอารีย์ได้แจ้งกับผมว่า ได้นำร่างหลักสูตรนี้ เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา และได้เห็นชอบกับร่างหลักสูตรนี้แล้ว" นายอับดุลอาซิส กล่าว

นายอับดุลอาซิส เปิดเผยว่า สำหรับเนื้อหาหลักๆ ของหลักสูตร คือ มีการระบุรายวิชาที่สอน เช่น วิชาหลักศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า หลักการละหมาด ไวยากรณ์อาหรับ เป็นต้น ส่วนตำราต่างๆ และวิธีการเรียนการสอนยังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการบรรจุวิชาสามัญเข้าไปด้วย ทำให้นักเรียนปอเนาะ หรือโต๊ะปาเก สามารถเรียนวิชาสามัญในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนได้ ทั้งนี้ มีปอเนาะหลายแห่งเปิดสอนมานานแล้ว

นายอับดุลอาซิส เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนวิชาชีพที่บรรจุเพิ่มเข้าไป มีทั้งวิชาช่างยนต์ การเลี้ยงสัตว์ เช่น โค แพะ การเพาะปลูก การเกษตร หัตถกรรม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยอาจจะปรับตารางการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน แต่คงไม่ถึงกับเปลี่ยนทั้งหมด
นายอับดุลอาซิส เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผู้บริหารสถาบันศึกษาปอเนาะด้วยโดยตนเป็นหนึ่งที่จะเข้าไปร่วมกับผู้บริหารโรงเรรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และครูโรงเรียนตาดีกา เป็นคณะกรรรมการคัดเลือกโต๊ะครู และผู้ช่วยโต๊ะครู ที่จบระดับอนุปริญญา และปริญญาตรี ทั้งในและต่างประเทศเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในปีการศึกษา 2548 ซึ่งจะคัดเลือก ในวันที่ 8 มีนาคม 2548 ที่สำนักงานผู้ตรวจราชการเขต 12 จังหวัดยะลา แยกเป็นหลักสูตรปริญาตรีต่อเนื่อง 200 คน และระดับบัณฑิตศึกษา 100 คน

"หลักสูตรนี้มาจากการผลักดันของนายอารีย์ ที่ต้องการให้การบริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนตาดีกา มีคุณภาพมากขึ้น" นายอับดุลอาซิส กล่าว

นายอารีย์ กล่าวว่า ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนปอเนาะ และโรงเรียนตาดีกาทุกราย เห็นพ้องกับหลักสูตรใหม่ ซึ่งมีส่วนที่เพิ่มเข้ามา 2 จุด คือ เนื้อหาการเรียนที่เป็นภาษาไทย และหลักสูตรด้านวิชาชีพ ส่วนสำคัญที่สุดยังคงอยู่ที่การจัดระบบการเรียนการสอนทางด้านศาสนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net