เปิดทิศทางโตภาคเหนือ เมืองใหม่สันกำแพง/สนามบินบ้านธิ

ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย กำลังจะถูกตีกรอบการวางผังเมืองให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะผังโครงข่ายคมนาคม เพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคอินโดจีน

พื้นที่ฝั่งตะวันออกของเชียงใหม่ บนตำแหน่งพื้นที่บ้านธิ-สันกำแพง จะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่ และเป็นไปได้ที่จะมีสนามบินแห่งใหม่อยู่บนพื้นที่แห่งนี้ด้วย

เมืองหริภุญไชยลำพูน จะยังคงถูกวางแนวเส้นให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม แต่จะตีกรอบพื้นที่การอนุรักษ์เมืองเก่าให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด พร้อมกับประสานแนวโครงข่ายคมนาคมพัฒนาระบบรถไฟรางคู่เชื่อมเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมเชียงใหม่กับเชียงราย ในอนาคตจะมีการสร้างถนนเส้นใหม่จากอำเภอสันกำแพง - แม่ออน - คอวัง (อำเภอแจ้ซ้อน ลำปาง) - อำเภอพาน (พะเยา) - เชียงราย

บทบาทของภาคเหนือที่ถูกวางให้อยู่ในตำแหน่ง "ศูนย์กลางของอนุภูมิภาคในแถบอินโดจีน ด้านการค้า การบริการ และอุตสาหกรรมทางการเกษตร" จึงน่าสนใจยิ่งว่า หน้าตาของผังที่จะรองรับการเติบโตของเมืองในระยะ 50 ปีข้างหน้า จะเป็นเช่นไร

*********

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 เรื่อง การวางและจัดทำผังประเทศและผังภาค : วิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ โดยระดมสมองภาครัฐ-เอกชนในภาคเหนือ เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ตีกรอบผังภาคเหนืออย่างเป็นระบบ วางตำแหน่งชัดเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคอินโดจีน

ดร.สุรพล คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินโครงการวางและจัดทำผังประเทศและผังภาค ระหว่างปี 2547 - 2549 ซึ่งการสัมมนาที่เชียงใหม่ครั้งนี้เป็นการดำเนินการเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา

ซึ่งครั้งนั้นเป็นการระดมความคิดเห็นเพื่อให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนในการพัฒนาพื้นที่ในระดับประเทศและระดับภาค โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการจัดทำผังอย่างบูรณาการในการทำงานแต่ละด้าน เพื่อพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือพบว่ายังมีปัญหาหลายด้านได้แก่ 1.การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของชุมชน ซึ่งการพัฒนาพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือไม่เท่าเทียมกัน การพัฒนาพื้นที่การค้าชายแดนไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจที่แท้จริงของเมือง 2.ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม

3.ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แหล่งต้นน้ำลำธาร ขาดการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรกรรมที่เหมาะสมและยั่งยืน 4.ขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน ขาดการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน 5.ปัญหามลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากการระดมสมองของประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคเหนือ พบว่าต้องการให้ผังภาคเหนือมีทิศทางการพัฒนาที่สมดุลทุกภาคส่วน ได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ต้องคำนึงถึงพื้นที่พัฒนาตามแนว East - West Economic Corridor, North - South Economic Corridor และโครงการพัฒนาในพื้นที่สำคัญเช่น GMS, ASMECS เป็นต้น ซึ่งการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและพื้นที่ ต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ รักษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม แลทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้ พร้อมกับต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

2.พัฒนาให้ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาค พัฒนาพื้นที่ชุมชนชายแดน เป็นประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน 3.การวางแผนและผังพื้นที่ในอนาคต ต้องคำนึงถึงการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบท ต้องวางให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ พัฒนา และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

4.กำหนดเขตการใช้ที่ดินประเภทต่างๆให้ชัดเจนและเหมาะสม และพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเกษตร ส่งเสริมเกษตรแบบชีวภาพ พัฒนาผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษและส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร 5.ควรพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งของพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นระบบเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และการพัฒนาระบบขนส่งแบบ One Stop Service 6.ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและสอดคล้องกับการพัฒนาในพื้นที่ 7.ควรเร่งแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน 8.การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพรองรับการพัฒนาประเทศ และควรมีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ดร.สุรพล กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ด้านผังเมืองภายในระยะ 5 ปีนับจากนี้ จะเร่งพัฒนาผังของ 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยเน้นหนักการสร้างโครงข่ายคมนาคมเต็มระบบเพื่อที่จะสามารถเชื่อมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงการค้ากับประเทศในกลุ่มอินโดจีนด้วย

วางผังบ้านธิ-สันกำแพงผุดเมืองใหม่
เชื่อมโครงข่ายคมนาคม 3 จังหวัด

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกวางตำแหน่งให้เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเช่น ปัญหาการจราจร การอนุรักษ์เมืองให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด การพัฒนาแหล่งน้ำแม่น้ำปิง คลองแม่ข่า การบำบัดน้ำเสีย และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

เมื่อนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการค้าเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านทางอากาศ ซึ่งในระยะ 5 - 10 ปี จำเป็นต้องขยายเมืองใหม่เพื่อรองรับการเติบโตและความแออัดของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะกำหนดตำแหน่งของสนามบินแห่งใหม่เพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางการบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สนับสนุนการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่จังหวัดลำพูนด้วย ซึ่งสนามบินแห่งใหม่น่าจะเกิดขึ้นหลังจาก 10 ปีนับจากนี้ ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้น่าจะอยู่ในพื้นที่บ้านธิ-สันกำแพง ที่จะมีถนนวงแหวนรอบนอกเชื่อมโยงอีก 1 เส้นระหว่างแม่โจ้ - สนามบินแห่งใหม่ -นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน - อำเภอป่าซาง ลำพูน โดยหลักการคือผู้ที่เดินทางมาจากอำเภอฝาง ไม่จำเป็นจะต้องเข้าเมืองเชียงใหม่ และจะมีโครงการรถไฟฟ้าไปที่สนามบิน ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่เมืองใหม่ที่จะโตที่ บ้านธิ - สันกำแพง ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ทิศตะวันออกของเมือง เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด และโครงการสร้างเมืองใหม่ก็เคยมีการศึกษาไว้เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาตามโครงการพัฒนาเมืองแฝดเชียงใหม่ - ลำพูน

ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างเชียงใหม่กับเชียงราย ในอนาคตจะมีการตัดถนนเส้นใหม่โดยยกร่างแนวเส้นทางแล้วจากอำเภอสันกำแพง - แม่ออน - คอวัง (อำเภอแจ้ซ้อน ลำปาง) - อำเภอพาน (พะเยา) - เชียงราย ซึ่งเส้นทางใหม่นี้มีเส้นทางเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับปรุงปรุงในบางช่วง และบางช่วงอาจต้องเจาะภูเขาที่ซับซ้อนเหมือนประเทศจีน ซึ่งจะสามารถย่นระยะเวลาเดินทางจากเชียงใหม่ - เชียงราย ให้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยถนนเส้นนี้จะเป็นถนนไป 1 เลน มา 1 เลน ที่ชาวบ้านสามารถข้ามถนนเชื่อมโยงถึงกันโดยสังคมชุมชนเดิมยังคงอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอของชาวบ้านหลังจากได้รับบทเรียนจากถนนหลวงสายดอยสะเก็ตที่ตัดขาดความเป็นชุมชนสองฝั่งออกจากกันโดยสิ้นเชิง

ส่วนจังหวัดเชียงรายตัวเมืองจะยังเป็นศูนย์กลาง และมีกลุ่มเมืองโดยรอบเช่น อำเภอแม่สาย เวียงเชียงแสน อำเภอเชียงของเป็นประตูส่งออกสินค้าและอุตสาหกรรม และพื้นที่พัฒนาใหม่อยู่ที่อ.เทิง ขณะเดียวกันการพัฒนาอุสาหกรรมการค้า การขนส่งก็จะต้องดูแลการอนุรักษ์โบราณสถานควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำเชียงแสน

ส่วนจังหวัดลำพูน ในอนาคตจะยังคงเน้นในภาคอุตสาหกรรมส่งออกแบบไม่มีมลพิษ ขณะเดียวกันจะตีกรอบพื้นที่การอนุรักษ์เมืองเก่าให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุดเนื่องจากเป็นเมืองที่มีโบราณสถานมาก เช่นการอนุรักษ์พื้นที่แม่น้ำกวงฝั่งตะวันตก และพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวล้อมรอบ ส่วนด้านตะวันออกต่อเนื่องจากพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมมาทางดอยติ ก็จะมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ที่มีถนนเลี่ยงเมืองเส้นใหม่มารองรับ รวมทั้งกำลังจะมีโครงข่ายคมนาคมคือการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่เชื่อมเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าการพัฒนาผังของทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณจังหวัดละประมาณ 4,000 - 5,000 ล้านบาท. โดยขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ยกร่างแล้วจะนำเสนอกระทรวงมหาด
ไทยปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเมื่อกระทรวงเห็นชอบแล้ว จะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดเป็นกรรมการด้วย และกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นฝ่ายเลขาฯ พิจารณาอีกขั้นหนึ่ง
*******

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท