Skip to main content
sharethis

จากกรณีการเร่งลดภาษีสินค้าผักผลไม้ไทย-จีน (FTA) ภายใต้กรอบ Early Harvest หรือการเปิดเสรีล่วงหน้าของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในสินค้าพิกัดศุลกากร 07 และ 08 คือผักผลไม้ มีผลให้ภาษีนำเข้าระหว่างไทย-จีน เป็น 0% นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ถึงผลได้ ผลเสียในหลายๆด้าน บ้างก็ว่าไทยได้เปรียบ บ้างก็ว่าไทยเสียเปรียบ

ล่าสุดมีการระบุชัดจากหลายหน่วยงานว่า การเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน หรือเอฟทีเอ นั้น ไทยมีความเสียเปรียบในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนสินค้าและระบบโลจิสติกที่สูงกว่าจีนหลายเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน คราวนี้ ไม่มีความเท่าเทียมกันในเรื่องมาตรการทางการค้า โดยแต่ละมณฑลของจีนมีมาตรการที่แตกต่างกัน เช่น แต่ละมณฑลของจีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ที่ร้อยละ 13 - 17 และการตรวจสอบสุขอนามัยสินค้าของไทยเข้าตลาดจีนจะเข้มงวด ขณะที่สินค้าจากจีนส่งเข้ามาขายในไทยกลับไม่เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยมากเท่าใดนัก ทำให้สินค้าผักผลไม้ราคาถูกจากประเทศจีน ไหลทะลักเข้าสู่ไทยอย่างมหาศาลและง่ายดายในเวลานี้

กระทบเกษตรบนพื้นที่สูง
นายสุรพันธ์ จุ่นพิจารณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ
เปิดเผย " พลเมืองเหนือ" ว่า หลังการเปิดเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ ที่ได้เปรียบคือ สามารถส่งสินค้าไปขายจีนได้มากขึ้น แต่ข้อเสียเปรียบคือ จีนก็ส่งสินค้ามาไทยมาในปริมาณมากมหาศาลเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งพืชผักของจีนที่ส่งมาขายไทย ส่วนใหญ่เป็นพืชชนิดเดียวกับที่ไทยผลิตอยู่ รวมถึงพืชผักเมืองหนาวที่ปลูกบนพื้นที่สูง สิ่งนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ หากไม่มีการวางแผนป้องกันและแก้ไขระยะยาว อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรบนพื้นที่สูงของไทย ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์และร่วมหารือกับส่วนราชการและผู้ประกอบการค้าทั้งส่งออกและนำเข้า รวมทั้งเกษตรกรที่ปลูกผักบนพื้นที่สูงพบว่า ควรมีมาตรการคือ 1.ต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชคุณภาพสูงเพื่อป้อนตลาดเฉพาะ (Niche Market) 2.ต้องวางมาตรการป้องกันโรคแมลงสำหรับพืชเกษตรนำเข้าเข้มข้นมากกว่าเดิม 3.ต้องปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกไม่ให้ตรงกับสิ่งที่ต้องนำเข้าในช่วงฤดูกาลเดียวกัน 4.ต้องมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเพาะปลูกอย่างเข้มข้นเพื่อการค้า โดยอาจว่าจ้างเกษตรกรที่ชำนาญการจากประเทศจีนเข้ามาทำแปลงสาธิตในประเทศ 5.จัดทำแผนพัฒนาเกษตรที่สูงให้สอดคล้องกับเอฟทีเอ

"เท่าที่เคยได้ข้อมูลจากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเมืองใหม่ สินค้าประเภทผักผลไม้ของจีนที่มาขึ้นที่ท่าเรือเชียงแสน ก็นำมาขายที่ตลาดแห่งนี้มาก กระจายไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ทั้งกระเทียม แอปเปิ้ล พริกหวาน บร็อคโคลี"

สำหรับการนำเข้าจากจีนที่ด่านอำเภอเชียงแสนหลังเปิดเขตการค้าเสรี สินค้าเกษตรนำเข้าหลักคือ บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา คื่นไช่ ถั่วลันเตาหวาน สลัดแก้ว แครอท กะหล่ำดอกเจดีย์ รากบัว ผักลิลลี่ หน่อไม้น้ำ กุยช่าย เบบี้หางหงษ์ กะหล่ำดาว ยอดถั่วลันเตา พริกหวาน กะหล่ำม่วง ถั่วฝัก สลัดห่อ ผักโขม ดอกไม้จีน ผักกาดปลี และผักอู่ซุน รวมน้ำหนัก 1,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 15,494,982.9 บาท ส่วนดอกไม้เมืองหนาวที่นำเข้าคือ หัวพันธุ์ลิลลี่ ต้นหน้าวัว คาร์เนชั่น เยอบีร่า ลิลลี่ กุหลาบ ไลโมเนี่ยม ต้นคาร่าลิลลี่ ซิปโซฟิลล่า คาร่าลิลลี่ ซึ่งดอกไม้เหล่านี้เฉพาะในเดือนกันยายน 2547 เพียงเดือนเดียวมีมูลค่า 422,372 บาท

นายหวล ตรีสัตย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากสถิติสินค้านำเข้าและส่งออกสินค้ากลุ่มผักผลไม้ตามข้อตกลงเอฟทีเอไทย-จีน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 - กันยายน 2547 ผ่านด่านอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สินค้ากลุ่มผลไม้ที่นำเข้ามาไทยในปริมาณมากที่สุด 2 ชนิดคือ แอปเปิ้ล จำนวน 26,133.72 ตัน มูลค่า 306,515,906.50 บาท อันดับสองคือสาลี่ 21,824.75 ตัน มูลค่า 280,095,367.70 บาท รองลงมาคือองุ่น 14.79 ตัน มูลค่า 248,073.60 บาท สินค้ากลุ่มผักสด ซึ่งไม่ได้แยกชนิดว่ามีผักชนิดใดบ้าง แต่ปริมาณที่นำเข้ามีจำนวนมากถึง 2,948.73 ตัน มูลค่า 32,239,535.53 บาท ส่วนกระเทียมมีการนำเข้า 1,260.00 ตัน มูลค่า 7,370,432.56 บาท หอมเจียว 184.60 ตัน มูลค่า 1,886,591.52 บาท

สินค้ากลุ่มเห็ดเช่น เห็ดหอมแห้ง ปริมาณนำเข้า 70.35 ตัน มูลค่า 6,946,353.68 บาท ชิ้นส่วนเห็ดหอมแห้ง 17.53 ตัน มูลค่า 498,570.00 บาท เห็ดหลินจือแห้ง 1.65 ตัน มูลค่า 76,496.00 บาท เห็ดหัวลิง 0.93 ตัน มูลค่า 60,528.00 บาท เห็ดหูหนู 1.74 ตัน มูลค่า 96,353.00 บาท และเมล็ดทานตะวัน นำเข้ามา 323.00 ตัน มูลค่า 2,107,852.00 บาท รวมปริมาณการนำเข้าทั้งสิ้น 52,781.78 ตัน มูลค่ารวม 638,142,060.09 บาท

สำหรับชนิดสินค้าในกลุ่มผักผลไม้ที่ไทยส่งออกไป ได้แก่ ลำไยอบแห้ง 25,360.00 ตัน มูลค่า 972,088,878.68 บาท กล้วยอบแห้ง 209.75 ตัน มูลค่า 5,305,065.00 บาท รวมปริมาณที่ส่งออกทั้งสิ้น 25,569.75 ตัน มูลค่า 977,393,943.68 บาท

นายหวล กล่าวด้วยว่า จากที่เคยสอบถามผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าผักผลไม้จากจีน พบว่าส่วนใหญ่มีเป้าหมายตลาดกระจายสินค้าอยู่ในตลาดค้าส่งแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ และห้างสรรพสินค้า ส่วนตลาดในภาคเหนืออย่างที่จังหวัดเชียงรายแทบจะไม่มีการวางจำหน่าย เพราะยังมีการบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ภายในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่

หวั่นผักผลไม้เมืองหนาวเดี้ยง
จีนยึดตลาดโครงการหลวงเบ็ดเสร็จ

รศ.นิพนธ์ ไชยมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า จากการศึกษาวิจัยผลกระทบหลังการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน โดยฝ่ายวิจัยผัก มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งตนได้มีส่วนเป็นผู้ศึกษาผลกระทบดังกล่าว พบว่าหลังการเปิดเขตการค้าเสรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 พืชผักหลายชนิดมีการนำเข้าสูงมาก ปริมาณนำเข้าเฉพาะช่วง 3 เดือนคือเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2546 มีปริมาณการนำเข้ามากกว่าช่วง 9 เดือนแรกของปี 2546 เช่น ถั่วลันเตา แครอท เซเลอรี บร็อคโคลี คะน้าฮ่องกง คื่นไช่

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชผักเมืองหนาวจากจีนแถบมณฑลยูนนาน สามารถตีตลาดพืชผักบนที่สูงในภาคเหนือและของโครงการหลวงได้คือ เรื่องราคาที่ถูกกว่าหลายเท่า เช่น บร็อคโคลีของจีนราคาเพียงกิโลกรัมละ 11.67 บาท ของโครงการหลวงราคากิโลกรัมละ 40.95 บาท ถั่วลันเตาจีนกิโลกรัมละ 11.85 บาท โครงการหลวงกิโลกรัมละ 53.45 บาท ผักกาดหอมห่อของจีนกิโลกรัมละ 9.07 บาท ของโครงการหลวงกิโลกรัมละ 16.22 บาท คะน้าฮ่องกงจีนกิโลกรัมละ 12.26 บาท โครงการหลวงกิโลกรัมละ 60.00 บาท

นอกจากนี้มณฑลยูนนาน มีจุดได้เปรียบประเทศไทยเรื่องพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสำหรับการปลูกผักเมืองหนาว มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีความสะดวกในเรื่องการขนส่งผักมายังประเทศไทย โดยการบรรทุกสินค้าลงเรือขนส่งจากเมืองเชียงรุ้งแล่นมาตามกระแสน้ำโขงเข้าสู่ท่าเรือเชียงแสน ใช้เวลาในการเดินทางเพียง 8 - 9 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบผักของจีนที่มีช่วงเวลาการผลิตตรงหรือไม่ตรงกับไทย อย่างบร็อคโคลีของจีนที่มีช่วงเวลาผลผลิตไม่ตรงกับไทยคือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2547 มีการนำเข้า 655 ตันเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2546 ที่นำเข้าเพียง 64 ตันเท่านั้น ส่วนผักอื่นๆของจีนที่มีช่วงเวลาผลิตตรงกับไทย เช่น ถั่วลันเตา แต่กลับมีการนำเข้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้นระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2547 สูงถึง 496 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่นำเข้าเพียง 15 ตัน เช่นเดียวกับผักกาดหอม นำเข้าสูงถึง 63 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนนำเข้าเพียง 2 ตัน

รศ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า หากดูจากตัวเลขสถิติมูลค่าการส่งออกผักผลไม้ของไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อาจดูเหมือนจะไม่กระทบ เพราะได้นำมูลค่าการส่งออกผักผลไม้ไปรวมเข้ากับการส่งออกมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูงประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ในข้อเท็จจริงเมื่อแยกให้ชัดเฉพาะมูลค่าส่งออกผักผลไม้ไปจีนกลับพบว่าไทยส่งออกไปเพียง 16 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่จีนส่งผักผลไม้เข้ามาไทยมากถึง 1,400 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะในส่วนผักผลไม้ที่มีการเปิดเสรีคงพูดไม่ได้ว่าสินค้าไทยเกินดุล

สำหรับผักที่จีนส่งมาขายไทยเป็นจำนวนมากในช่วงกว่า 1 ปีได้แก่ แครอท มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และกระเทียมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ซึ่งหากพืชผักผลไม้ของจีนเข้ามาทุ่มตลาดของไทยมากขึ้น อนาคตโครงการหลวงอาจต้องเปลี่ยนการส่งเสริมปลูกพืชผักบางชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันสินค้าราคาถูกจากจีน และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้สูงขึ้น การพัฒนามาตรฐานสินค้าปลอดสารพิษ รวมถึงการพัฒนาต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งปรับในหลายๆส่วน ทั้งต้องพัฒนาชนิดของพืชผักให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้โครงการหลวงมีพืชผักผลไม้ประมาณ 125 ชนิด ซึ่งอนาคตถ้าเร่งปรับตัวและไม่หยุดนิ่ง เชื่อว่าผลกระทบที่โครงการหลวงจะได้รับคงมีน้อยมากและจะรับมือได้ทัน

แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรโดยทั่วไปค่อนข้างน่าเป็นห่วงในระยะยาว ที่เห็นผลชัดคือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมในภาคเหนือและภาคอื่นๆของไทย ซึ่งขณะนี้คนไทยบริโภคกระเทียมจากจีนมากกว่ากระเทียมที่คนไทยผลิตเอง รวมถึงหอมหัวแดง แนวทางการแก้ปัญหาคือภาครัฐต้องเข้ามาวางระบบและปรับโครงสร้างการเกษตรไทยครั้งใหญ่ แต่มิใช่ให้เกษตรกรเปลี่ยนเส้นทางไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือทำอาชีพอื่น เพราะเกษตรกรมีความชำนาญเฉพาะด้าน การปรับเปลี่ยนปลูกพืชชนิดอื่นขายได้ไม่ง่ายดังคิด ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิต การให้เงินอุดหนุนพัฒนาการผลิตทั้งระบบ เน้นการพัฒนาเรื่องต้นทุน การพัฒนาสายพันธุ์ และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น สามารถหลีกหนีการแข่งขันจากจีนได้ ที่สำคัญคือการพัฒนาด้านสุขอนามัยให้เหนือชั้นกว่าจีน

อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ผักผลไม้จากจีนไหลทะลักเข้าสู่ไทยมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบสารตกค้างของไทยค่อนข้างทำแบบเร่งด่วน และระบบระเบียบการตรวจ สินค้าไม่ละเอียดเท่ากับประเทศจีนที่ตรวจสอบสินค้าไทยอย่างเข้มข้น มีการใช้เครื่องมือการตรวจสอบที่ทันสมัย ใช้เวลานานถึง 3 ชั่วโมง ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่ตรวจแบบเร่งด่วน โดยใช้ชุดทดสอบหรือ test kit ที่ใช้เวลาเพียง 30 นาที ซึ่งวิธีของไทยไม่สามารถตรวจสอบสารตกค้างชนิดที่ทำลายระบบไตและตับได้ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันพบว่าจีนยังคงใช้สารอันตรายที่ไทยเลิกใช้ไปเป็นเวลานานแล้ว เช่น อลามอล เป็นชื่อการค้าของสารเฮ็บตาคลอ สารกำจัดแมลงที่มีพิษตกค้างยาวนาน 20 - 30 ปี โดยไทยประกาศเป็นสารเคมีต้องห้ามตั้งแต่เดือนกันยายน 2531

ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งทบทวนเรื่องการใช้มาตรการด้านสุขอนามัย มาเป็นข้อกีดกันทางการค้าและตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่จีนนำเข้ามาอย่างเข้มงวดเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลต้องยอมลงทุนซื้อเครื่องตรวจสอบคุณภาพสารพิษตกค้างที่มีเทคโนโลยีระดับสูง เพราะอนาคตเมื่อเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนเริ่มต้นขึ้น ประเทศไทยจะได้รับมือได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันในอนาคตอันใกล้ หากเส้นทางคมนาคมทางบกที่เชื่อมโยงระหว่างไทย-จีนทางตอนเหนือของไทยแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นช่องทางสำคัญเอื้อให้สินค้าจากจีนทางตอนใต้ไหลทะลักเข้ามามากและสะดวกยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไทยต้องเตรียมมาตรการด้านต่างๆในการตั้งรับให้เร็วที่สุด

ภาคเหนือขาดดุลจีนเพิ่มขึ้น

นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้บริหารส่วน ส่วนวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า ผลทางการค้าจากการเร่งลดภาษีสินค้าผักผลไม้ ไทย-จีน ภายใต้กรอบ Early Harvest ของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในปี 2547 ที่ผ่านมาพบว่ามูลค่ารวมการค้าผักผลไม้ (07-08) ระหว่างไทย-จีนในด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 40.3 เป็น 11,540.3 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 ระยะเดียวกันปีก่อน แยกเป็นการส่งออกผักเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.1 เป็น 8,599.7 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.2 เป็น 2,940.6 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่ส่งออกมากคือ มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.1 เป็น 8,581.1 ล้านบาท

สำหรับภาคเหนือกับจีนตอนใต้ ในปี 2547 มูลค่าการส่งออกผักผลไม้ผ่านด่านภาคเหนือที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 89.3 ได้แก่ ลำไยอบแห้ง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 92.7 ของการส่งออกผักผลไม้ในภาคเหนือปี 2547 มีสัดส่วนลดลงร้อยละ 89.8 เหลือ 142.9 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนเส้นทางไปส่งออกผ่านลาว พม่า และฮ่องกงมากขึ้น ส่วนผลไม้แห้งอื่นๆ ลดลงร้อยละ 82.4 เหลือ 5.7 ล้านบาท รวมถึงกล้วยแห้งลดลงร้อยละ 48.4 เหลือ 2.2 ล้านบาท ส่วนสับปะรดแห้งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวเป็น 2.6 ล้านบาท

ด้านการนำเข้าในปีที่ผ่านมาพบว่า การนำเข้าผักผลไม้ระหว่างไทย-จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 เป็น 4,145.7 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 110.9 ในปี 2546 แยกเป็นมูลค่าการนำเข้าผัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.7 เป็น 1,442.5 ล้านบาท และมูลค่านำเข้าผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เป็น 2,703.2 ล้านบาท สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดคือ แอปเปิ้ลและสาลี่คิดเป็นร้อยละ 54 ของการนำเข้าผักผลไม้ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็น 2,237 ล้านบาท

ด้านการนำเข้าระหว่างภาคเหนือกับจีนตอนใต้ในปี 2547 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 43.9 เหลือ 225.7 ล้านบาท เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.1 ในปี 2546 เนื่องจากมีการเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้าแอปเปิ้ลจากท่าเรือเชียงแสนไปนำเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพแทน เพราะใกล้ตลาดค้าส่งสำคัญของไทยคือตลาดไทยและตลาดสี่มุมเมือง กับอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาแอปเปิ้ลจากจีนในปี 2547 อยู่ที่ 20.8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าปีก่อนคือ 24.4 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ สินค้าผักผลไม้สำคัญที่นำเข้าผ่านด่านเชียงแสน ได้แก่ แอปเปิ้ลสดลดลงร้อยละ 39.7 เหลือ 115.9 ล้านบาท แพร์และควินซ์สด (สาลี่) ลดลงร้อยละ 47.9 เหลือ 85.3 ล้านบาท โดยแอปเปิ้ลและสาลี่มีสัดส่วนนำเข้าถึงร้อยละ 89.1 ของการนำเข้าผักผลไม้ของภาคเหนือในปี 2547 นอกจากนี้กระเทียมสดลดลงร้อยละ 69 เหลือ 8 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการนำเข้าเห็ดหอมสดเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัว แต่ยังมีมูลค่าไม่มากนัก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ดุลการค้าผักผลไม้ไทย-จีนในปี 2547 ยังเกินดุลการค้า 7,394.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่เกินดุล 4,909.4 ล้านบาท ในปีก่อน ส่วนดุลการค้าผักผลไม้ภาคเหนือ-จีนตอนใต้ ขาดดุล 71.5 ล้านบาท เทียบกับที่เกินดุล 1,041.3 ล้านบาท ในปีก่อน

กระเทียมจีนตีตลาดกระจุย

"พลเมืองเหนือ" ได้ทำการสำรวจสภาพการค้าขายในตลาดเมืองใหม่ ซึ่งเป็นตลาดสดค้าส่งค้าปลีกแหล่งใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ากระเทียมหัวใหญ่และหอมแดงจากประเทศจีนถูกนำมาวางขายในตลาดแห่งนี้เป็นจำนวนมากมหาศาล

พ่อค้ารายหนึ่ง กล่าวว่า ที่ร้านของเขาจะขายสินค้าประเภทของแห้งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนด้วย โดยมีพ่อค้าคนกลางนำมาส่งให้ ทั้งกระเทียม หอมแดง เห็ดหอมแห้ง เป็นต้น ซึ่งนำมาขายมากขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระเทียมจีนเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด เพราะมีราคาถูกกว่ากระเทียมของไทยหลายเท่าตัว ราคากระสอบละ 190 ต่อ 20 กิโลกรัม ขณะที่กระเทียมไทยมีราคากระสอบละ 240 บาทขึ้นไป

จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าที่ขายผักสดและผลไม้ ส่วนใหญ่จะรับสินค้ามาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อหนึ่งจึงไม่แน่ใจว่าผักผลไม้ที่ขายอยู่นั้นมาจากจีนหรือไม่ อย่างแครอทและบร็อคโคลี บางร้านระบุว่ามาจากบนดอยในเชียงใหม่ ซึ่งชาวเขาเป็นผู้ปลูกและนำมาส่งให้

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันการรุกเข้ามาของสินค้าผักและผลไม้จีนเริ่มเข้าสู่การครอบครองตลาดไทยเป็นส่วนใหญ่แล้ว เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทางด้านราคา ตัวเลขที่ยืนยันชัดเจนว่าประเทศไทยขาดดุลด้านการค้าพืชผักผลไม้อย่างเต็มประตูแม้ตัวเลขรวมจะเกินดุล เนื่องจากรวมมูลค่าส่งออกมันสัมปะหลังเข้าไปด้วยซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 80 - 90% สัญญาณอันตรายที่จะเกิดกับเกษตรกรโดยทั่วไปค่อนข้างน่าเป็นห่วงในระยะยาว สินค้าที่นำเข้าจากจีนหลายตัวคนไทยหันไปบริโภคมากกว่าผลผลิตที่คนไทยผลิตเอง ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวเตรียมการป้องกัน ทั้งการทบทวนการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า และตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่จีนนำเข้ามาอย่างเข้มงวดเช่นกัน เพราะอนาคตเมื่อเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนเริ่มต้นขึ้น ประเทศไทยจะได้รับมือได้ทันท่วงที และป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อภาคการผลิต ภาคการเกษตร และการลงทุนของไทย ที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางการตลาดจากจีนไม่ได้อย่างแน่นอน.
**************************

รายงานพิเศษ
สุธิดา สุวรรณกันธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net