ตามรอยนกเขาป่า สู่ต้นเสียงคนต้นน้ำ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"โพะ ออ แค เหราะ มา ฝะ หยะ ฮะ เธอ ด๊ะ กี ผะ มี วิ ตะ มี ม่าย ต้อ กี ขอ แพ"

เสียงเพลง "เด็กดอยใจดี" ดังขึ้นในหัวสมอง พร้อมๆ กับที่ผมนึกถึงภาพของชาวเขาที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ อย่างเช่นในรายการ "คดีเด็ด" หรือไม่ก็หนังเรื่อง "แจ๋ว" ก็ตามที เรามักจะมองภาพของชาวเขาเพียงแค่ด้านของการพูดไทยไม่ชัดที่กลายเป็นมุขตลกให้เราๆ ท่านๆ นำมาล้อเลียนเท่านั้น

เห็นแล้วก็คิดถึงสมัยก่อนๆ ที่ภาพของชาวไทยเชื้อสายจีนถูกนำเสนอผ่านสื่อในลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ก็โชคดีที่ในเวลาต่อมาชาวจีนโพ้นทะเลได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน อาจจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจละกระมัง

แต่จริงๆ แล้วตัวตนของชาวเขาเป็นอย่างไรกันล่ะ?

ในขณะที่ผมกำลังสงสัยอยู่นั้น พี่เปี๊ยก - ลูกพี่ใหญ่แห่งกองบรรณาธิการ "ประชาไท" ก็ส่งหมายข่าวชิ้นหนึ่งมาให้ผม นั่นคือกำหนดการของงาน "เสียงเผ่าชน คนต้นน้ำ" ที่จัดขึ้น ณ บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

แน่นอนครับ…ผมไม่ปฎิเสธแน่ๆ

ในค่ำคืนของอีกวัน-สองวันต่อมา (25 ก.พ. 48)… ผมก็เป็นหนึ่งในคณะสื่อมวลชนขนาด 1 แพคเล็กและพี่ๆ น้องๆ จากกลุ่มดินสอสีที่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่แม่ฮ่องสอนในวันรุ่งขึ้น

ในระหว่างทาง ผมก็นั่งคุยกับสา-เพื่อนจากกลุ่ม "ดินสอสี" ถึงได้ทราบว่างาน "เสียงเผ่าชน คนต้นน้ำ" ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยในสองครั้งแรกถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ คล้ายกับเป็นการนำเสียงจากชนเผ่ามาให้คนเมืองได้รับรู้ แต่ในงานครั้งนี้ คือการนำดนตรีปกากะญอมาเล่นในถิ่นกำเนิด เพื่อคนพื้นถิ่นและเพื่อนจากต่างแดนเข้ามาชม

สายังเล่าให้ผมฟังถึงเตหน่า-เครื่องดนตรีประเภทดีดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะของปกากะญอว่า
เตหน่าแต่ละตัวจะมีลักษณะเฉพาะของเสียงที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนเครื่องดนตรีในระบบอุตสาหกรรมทั่วๆ ไปที่ทุกชิ้นจะออกมาเหมือนกันหมด

"เตหน่าเป็นเครื่องดนตรีที่เรียบง่าย ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป อย่างไม้ก็ไปหาเอาจากในป่า สายเบรกรถจักรยาน กระป๋องแป้งตรางูหรือกระป๋องปี๊บ แต่มันก็สามารถสร้างเสียงอันไพเราะได้ ยิ่งถ้าได้เข้าไปสัมผัสมันอย่างใกล้ชิด จะรู้ถึงความไพเราะของมัน" สาบอกกับผม

เราเดินทางกันจนเช้าตรู่ เราก็มาถึงที่ทำการของกลุ่ม "ชุมชนคนรักป่า" เพื่อกินข้าวเช้า และรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จากหลายๆ ที่ เพื่อร่วมเดินทางสู่บ้านห้วยห้อม ซึ่งกว่าเราจะถึงจุดหมายปลายทางก็ปาเข้าไปในช่วงบ่ายแก่ๆ ซะแล้ว

@#@#@#@#@

เมื่อเราถึงที่หมาย ก็พบว่าเวทีคอนเสิร์ตตั้งอยู่บนที่นาขั้นบันไดที่เก็บเกี่ยวแล้ว และเจ้าขั้นบันไดนี่แหละ ที่ที่ทำหน้าที่เหมือนอัฒจรรย์โดยอัตโนมัติ เมื่อมองไปอีกด้านหนึ่งก็จะพบกับหมู่บ้านเต็นท์-ฝูงเต็นท์ที่อาคันตุกะจากต่างถิ่นใช้เป็นที่พักชั่วคราว

อยู่ดีๆ ผมก็คิดถึง บก. พี่เปี๊ยก ที่เรียกชื่องานนี้เล่นๆ ว่า "วู๊ดสต็อก" ประกอบกับบรรยากาศงานที่ผมเห็น ทำให้อยู่ดีๆ ผมก็คิดถึงเพลง WOODSTOCK ขึ้นมาในทันที...

"ให้ฉันร่วมเดินทางไปพร้อมกับท่านได้ไหม
ฉันมาที่นี่เพื่อหลีกหนีหมอกควันพิษ
ฉันรู้สึกตัวเองเป็นเพียงฟันเฟือง
ในบางสิ่งบางอย่างที่กำลังหมุนไป
มันอาจเป็นกาลเวลาแห่งปี หรือมันอาจเป็นกาลเวลาของมวลมนุษย์
ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันเป็นใคร
แต่ชีวิตก็ย่อมมีการเสาะแสวง...เรียนรู้

เราเป็นละอองดาว เราเป็นธุลีทอง
เราจะพาตัวเองกลับไปสู่อุทยานแห่งมวลมนุษย์

เราเป็นละอองดาว
เป็นธาตุถ่านเก่าแก่นับล้านล้านปี
เป็นเหยื่อการเอาเปรียบของพวกปีศาจร้าย
เราจะพาตัวเองกลับสู่อุทยานแห่งมวลมนุษย์"

(คัดมาจากหนังสือ "ผีเพลง: ดนตรีขบถที่เปลี่ยนแปลงโลก" โดยสิเหร่)

จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมรู้สึกก็คงเป็นแค่จริตแบบคนเมือง ที่อาจจะเห็นว่าภาพที่เห็นมันแปลกตา เลยทำให้รู้สึกตื่นเต้น ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ผิดอะไรเลยที่จะรู้สึกแบบนั้น แต่มันคงเป็นเรื่องแย่ ถ้าเรารู้สึกได้เพียงเท่านั้น

เมื่อเรียวมือแห่งรัตติกาลและความหนาวเย็นเริ่มเคาะประตูบ้านห้วยห้อม เวลาของการแสดงก็เริ่มขึ้น เสียงเพลงมากมายเข้าสู่โสตสัมผัสของผม ทั้งเสียงของเครื่องดนตรีพื้นถิ่นอย่างเตหน่า ที่ผมไม่เชื่อว่าวัสดุเหลือใช้ต่างๆ จะสามารถสร้างเสียงดนตรีได้ไพเราะ หรือเครื่องดนตรีที่เราคุ้นตาอย่างกีตาร์ เบส กลองชุดก็ตามที

แต่เกือบทั้งหมด ถูกถ่ายทอดด้วยภาษาปกากะญอ แม้จะมีภาษาไทยแซมบ้างในหลายๆ เพลง แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับผู้ที่ฟังเพลงแบบนี้เป็นครั้งแรกแบบผม ก็เหมือนกับการได้ชิมอาหารที่ไม่คุ้นลิ้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะลิ้มรสมัน "เป็น" (แม้กระทั่งตอนนี้ ผมก็ยอมรับว่าผมยังไม่เข้าใจดนตรีปกากะญอมากนัก ซึ่งก็คงเป็นเหตุให้ผมไม่ยอมพลาดงานๆ หนึ่งที่กำลังจะถูกจัดขึ้นในเดือนเมษายนนี้…เดี๋ยวผมจะมาบอกตอนท้ายบทความแล้วกันครับว่ามันคืองานอะไร)

@#@#@#@#@

นอกจากจะมีดนตรีปกากะญอแล้ว ยังมีการแสดงละครเวที "หน่อหมื่อเอ" ที่คณะละครมะขามป้อมร่วมกับเยาวชนในพื้นที่นำเพลงทา (เพลงพื้นบ้าน) มาทำให้เป็นละคร ซึ่งก็ต้องยอมรับเหมือนกับที่เขียนไว้ในย่อหน้าที่แล้วแหละครับ ว่าตอนแรกๆ ผมดูไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ ด้วยอุปสรรคทางภาษา แต่ก็โชคดีที่หลังจากวันงาน ผมบังเอิญพบหนังสือ "เพลงภูเขา เสียงชนเผ่า คีตกวีแห่งโลก" เขียนโดยคุณหญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง (นามปากกาของคุณสุวิชานนท์ รัตนภิมล ศิลปินจากดินแดนด้ามขวานที่หลงเสน่ห์ดนตรีชนเผ่า จนถึงขนาดเคยทำอัลบั้มร่วมกับลีซะ-ศิลปินป่าจากบ้านแม่แฮคี้มาแล้ว) ที่ร้านเล่า-ร้านหนังสือ "แนวๆ" กลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในนั้นก็มีคำแปลของ "ทา" หน่อหมื่อเออยู่ด้วย

"ฟืนเจ็ดกอง นับเตรียมไว้ให้
น้ำเจ็ดไห ฉันเตรียมไว้ให้
ฉันจะไปตีตุ้มหูให้เธอ
เธออย่าออกไปนอกบ้าน ฉันรู้สึกไม่ดี
นางหมื่อเอไม่เชื่อฟังผัว
ปล่อยหมูออกคอกร่อนเร่ป่าเขา
นางหมื่อเอตามหาหมู
ถูกงูใหญ่ฉุดร่างนางไป
นกเขาเอ๋ย เจ้าจงไปบอกเจาะสู่ลอวา
หน่อหมื่อเองูใหญ่ฉุดไป
นกเขาบินไปส่งข่าวที่เซอกูกรูฮ่อกูๆ
งูใหญ่ฉุดนางหมื่อเอไป
กลับมาไวไว คูหน่อเล…"

นิทานเรื่องนี้เสมือนเป็นคำทำนายอนาคตว่าต่อไปงูยักษ์จะชุกชุม และกัดกินชาวบ้านจนบ้านเรือนรกร้าง และความลำบากยากแค้นจะมาพร้อมกับเจ้างูใหญ่

คล้ายกับว่างูตัวนั้นคือความเจริญที่กำลังตามมาคุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าปกากะญอในปัจจุบัน…

@#@#@#@#@
แสงอาทิตย์ลับหายไปนานแล้ว ความหนาวเย็นปรากฎกายขึ้นแทน คนที่อยู่ไม่ไหวก็กลับที่พักหรือกลับเต็นท์ ที่ยังอยู่กันต่อก็นั่งก่อไฟเพื่อขอความร้อนจากไฟ หรือไม่ก็ขดตัวใต้เสื้อกันหนาวขนาดหนาเพื่อซุกไออุ่นจากตัวเอง การแสดงบนเวทีก็ยังดำเนินต่อไป

เสียงดนตรีก็ยังดังไม่ขาดสายจากฝีมือของนักดนตรีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลีซะ-สุวิชานนท์, ตือโพ (ที่มีคนขนานนามให้เขาเป็น "เบิร์ด-ธงไชยของคนกระเหรี่ยง" ), ชิ สุวิชาน ฯลฯ รวมถึงวงใต้สวรรค์ (อาคันตุกะจากดินแดนด้ามขวาน ที่นำจังหวะดนตรีแบบรองเง็งประกอบการเชิดหนังตะลุงมาถึงดินแดนหุบเขา) และวง "สุดสะแนน" ที่มีดีกรีถึงขนาดเคยได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดดนตรีเพื่อชีวิต "คีตตุลากาล" เมื่อคราวงาน 30 ปี 14 ตุลาฯ โดยมีกองไฟถูกจุดขึ้นที่หลังเวทีเป็นเครื่องบรรเทาความหนาว

เวทีกลางป่าในค่ำคืนนั้นปิดท้ายด้วยการแสดงของทองดี ตุ๊โพ - ศิลปินที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นพงษ์เทพ กระโดนชำนาญแห่งชาวปกากะญอ ที่มาปิดท้ายค่ำคืนด้วยเพลงสามช่าโจ๊ะๆ ที่ปลุกผู้ฟังที่ยังโต้ลมหนาวด้วยกันได้อย่างชะงัดนัก

ในจังหวะโจ๊ะๆ นั่นเอง ก็มีเนื้อเพลงทั้งภาษาปกากะญอและไทยแหวกว่ายอยู่ในนั้น...

"เจ้าไปศึกษาเล่าเรียน เจ้ามีวิชาความรู้
ชนเผ่าบ้านป่าบ้านดอย ยินดีถ้าเจ้าจะมา
เจ้าก็อย่าหลงกรุง บ้านป่าคือบ้านเกิดเมืองนอน
เจ้าเป็นธิดาบนดอย เจ้าคือความหวังชนเผ่า

เจ้าต้องรักประเพณี เจ้าต้องรักการแต่งกาย
เจ้าต้องเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู เจ้าต้องพูดภาษาตัวเอง
เจ้าต้องเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู เจ้าต้องพูดภาษาปกากะญอ..."

@#@#@#@#@

ผมและเพื่อนร่วมทางกำลังนั่งคุยกับศิลปินชนเผ่าที่บ้านหลังหนึ่งข้างๆ โบสถ์คริสต์ประจำหมู่บ้าน ในเช้าวันหลังงานคอนเสิร์ต เหมือเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ไม่เข้าใจ อันเนื่องมาจากอุปสรรคด้านภาษา

"สมัยก่อนกระแสสังคมบอกว่าชาวเขาทำลายป่า บ้างก็บอกว่าชาวเขามีผลต่อความมั่นคงของประเทศ เราจึงต้องการใช้เสียงเพลงเพื่อเล่าเรื่องราวของเราให้คนได้เข้าใจ แต่ก็มีกำแพงบางอย่างกั้นอยู่ เพลงที่เราทำจึงเผยแพร่ในวงจำกัด ต่อมาน้องนนท์ (สุชานนท์ รัตนภิมล) ก็เดินทางมาตามหา และก็พาศิลปินชาวเขาไปเล่นที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นเราจึงรู้สึกว่ากำแพงที่เคยมีอยู่ได้พังทลายไปแล้ว เราเลยตั้งใจสร้างเพลงต่อไป งานเสียงเผ่าชนฯ ก็เป็นเหมือนกับช่องทางในการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเรา เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนเมืองถึงวิถีชีวิตของพวกเรา" ทองดี ตุ๊โพ เล่าให้เราฟัง

ทองดียังเล่าให้เราฟังต่อว่า "ปัจจุบันศิลปินปกากะญอรุ่นแรกๆ ตั้งแต่สมัยงานเสียงเผ่าชนฯ ครั้งแรกก็เริ่มจะโรยรากันแล้ว เราจึงเริ่มเสาะหาศิลปินรุ่นใหม่ๆ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมต่อไป"

"รากเหง้าของศิลปินปกากะญอเกิดจากความรัก และความรู้สึกดีๆ โดยมีรากเหง้ามาจากเพลงพื้นบ้านและความเชื่อต่างๆ เป็นพื้นฐานในการเขียนเพลง เพลงเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา ในการร้องเล่นในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อหวังจะออกเทป ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสวยงาม" สุวิชานนท์ รัตนภิมล ผู้ที่เริ่มนำเสียงจากคนต้นน้ำเข้าสู่เมืองพูดถึงแรงที่ทำให้เขาประทับใจในเพลงจากป่า

ตือโพ-ศิลปินปกากะญอที่น่าจะเป็นที่รู้จักที่สุดเล่าถึงจุดเริ่มต้นของวิถีศิลปินของเขาว่า "ตั้งแต่เด็กๆ ก็มีความรู้สึกอยากจะร้องเพลง เล่นดนตรี แต่ว่าก็จะใช้เตหน่าบรรเลงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงแบบใดก็ตาม เพราะถ้าเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์หรืออิเล็กโทนพัง เราไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ แต่เราสามารถสร้างเตหน่าขึ้นเองได้"

"เสียงที่หลายๆ คนบอกว่าอยากให้อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านเอาไว้ ก็เป็นแรงที่ทำให้ทำงานต่อไป อย่างทุกวันนี้ก็พยายามสร้างคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อสืบสานเตหน่าให้คงอยู่ต่อไป ตอนนี้ก็มีลูกศิษย์ที่เป็นมือเตหน่ารุ่นใหม่ๆ ฝีมือดีอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 คนที่กำลังฝึกหัดอยู่ ซึ่งก็อยากให้เขาอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมต่อไป" เตหน่าพูดถึงสิ่งที่เขาทำอยู่

ด้านลีซะ-ศิลปินปกากะญอที่ร่วมงานกับสุวิชานนท์มาตลอด เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มต้นทำเพลงว่า "สมัยนั้นความเหลื่อมล้ำในสังคมมีอยู่เยอะ ทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเรื่องชาวเขา เลยอยากจะใช้ดนตรีเป็นเครื่องมีอในการเล่าเรื่องราวให้คนเมืองได้มีโอกาสฟัง"

"อย่างในปัจจุบัน การที่เราได้ลงไปเล่นให้คนเมืองฟัง ประกอบกับการที่สื่อมวลชน และผู้คนจากหลายๆ ฝ่ายให้ความสนใจ ทำให้ดนตรีชนเผ่าเติบโตมากขึ้น สำหรับเรื่องความเข้าใจนั้น ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะสร้าง แม้กระทั่งกับคนชนเผ่าด้วยกันเอง เวลามาเล่นดนตรีก็จะถูกสงสัยว่ามาเคลื่อนไหวอะไรหรือเปล่า หรือตอนที่มาเล่นในงานเสียงเผ่าชนฯ ครั้งก่อนๆในกรุงเทพฯ ก็มีคนมาถามว่าได้เงินมาเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มาทางสายมายา เคยมีร้านอาหารใหญ่ๆ ในเมืองมาจ้างพวกเราให้ไปเล่นประจำด้วยค่าจ้างเดือนละหลายหมื่นบาท แต่ก็ไม่มีใครไป เพราะว่าไปเล่นให้คนเมาฟังไม่ออก เราอยากจะเล่นให้คนที่ตั้งใจมาฟังเราจริงๆ" ลีซะเล่าให้พวกเราฟัง

สำหรับศิลปินปกากะญอหนุ่มรุ่นใหม่อย่างชิ-สุวิชาน พัฒนไพรวัลย์ ที่เติบโตมาท่ามกลางโลกที่กำลังหมุนเปลี่ยนจากสมัยที่ศิลปินรุ่นแรกๆ ถางทางเอาไว้ เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เขาพบจากการเข้าไปเรียนในสังคมเมืองว่าว่า "โรงเรียนในเมืองแยกออกจากชุมชน ไม่ได้มีการสอนเรื่องชุมชนเลย คนเมืองก็มักจะมองว่าเราแปลกแยกออกจากคนอื่นๆ ด้วยการที่เกิดมาในสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องใช้ความพยายามในการค้นหาตัวตน แต่การได้เติบโตในพื้นที่ป่าสนวัดจันทร์ ที่มีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในช่วงปี 2532-2536 ทำให้ได้เห็นพลังของคนพื้นถิ่น และภูมิปัญญาต่างๆ ก็ปรากฏออกมาในช่วงนี้ เหมือนตะกอนที่เคยนอนก้นในน้ำถูกคนจนลอยขึ้นมาอีกครั้ง"

ชิยังเล่าให้ฟังถึงเหตุที่ทำให้เขาใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องราวของพวกเขา "มีคนจำนวนมากสนใจเรื่องราวของปกากะญอ แต่ก็มีความเข้าใจไม่ถูกต้องนัก จึงต้องใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องราว โดยเดินตามทางที่นักดนตรีรุ่นพี่ๆ ถางทางเอาไว้ เพราะถ้าไม่มีใครก้าวต่อไป สิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ทำไว้ก็จะไม่มีความหมาย" ชิยังเล่าถึงเพลงของเขาว่า "เพลงเกือบทั้งหมดมาจากสิ่งที่ได้ฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่ได้มาจากตัวผมเอง ผมไม่ใช่นักแต่งเพลง เป็นแค่คนบอกเล่าเรื่องราวเท่านั้น"

"ถ้าเรามีความเข้าใจกัน ความเห็นอกเห็นใจในวิถีชีวิตที่ต่างกันก็จะตามมาด้วย แต่ถ้าจะให้คนเมืองขึ้นมาบนป่าเพื่อให้มาเข้าใจชีวิตคนป่าก็คงเป็นไปไม่ได้ เราจึงทำหน้าที่เหมือนกับนกเขาป่าที่จะบินข้ามพรมแดนป่าไปบอกเล่าเรื่องราวสู่คนภายนอกได้รู้ว่าเราคิดอย่างไร" ชิบอกกับเราถึงสิ่งที่เขาคิด

@#@#@#@#@

"โพะ ออ แค เหราะ มา ฝะ หยะ ฮะ เธอ ด๊ะ กี ผะ มี วิ ตะ มี ม่าย ต้อ กี ขอ แพ"

เสียงเพลงๆ เดิมที่ดังตอนต้นบทความดังมาในหัวของผมอีกครั้ง พร้อมกับการคิดถึงฟองสบู่ความเกลียดชังที่ถูกมือชื่อ "ชาตินิยมแบบลืมหูลืมตา" ตีจนฟูฟ่องเมื่อช่วงเหตุการณ์ทางภาคใต้

ดูเหมือนน้องมายด์กับเหตุการณ์ทางภาคใต้มันเป็นคนละเรื่องกันนะครับ แต่ถ้าคิดดีๆ ผมรู้สึกว่าภาพของคนหลายกลุ่มหลายพวกในสังคมที่เราเป็นสมาชิกอยู่กำลังถูกมองด้วยภาพเพียงภาพเดียว ทั้งๆ ที่โลกไม่ใช่รูปถ่ายที่เรามองเห็นแค่มุมเดียว หากมันเป็นภาพหลากมิติที่หากมองในมุมที่ต่างกัน ภาพที่เห็นก็คงต่างกันไป

เพลงของน้องมายด์ หรือความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ภาคใต้ที่ถูกเทไปยังมุมใดมุมหนึ่งนั้นไม่ได้ผิดหรอกครับ แต่มันผิดตรงที่ว่ามันมีภาพให้เราเห็นแค่นั้น

เราคงต้องหาทางมองสังคมเราให้กว้างขึ้น เพื่อความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจจะเกิดขึ้นตามมาครับ

ปล. ประตูแห่งการรับรู้เรื่องของเพื่อนร่วมสังคมของเรากำลังจะถูกเปิดอีกครั้งที่งาน "มหกรรมห้องเรียนชุมชน" ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 เมษายน ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในงานนี้จะมีละครนิทาน "หน่อหมื่อเอ" ให้ได้ชมกันด้วยครับ

เด็กใหม่ในเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท