Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 17 มี.ค.48 "ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเมืองของโลกและของไทยที่เปลี่ยนไป ความไม่แน่นอนมันมีเยอะ ทุกกลุ่มพยายามจะอยู่รอดโดยการปีนเขาสูง หลีกหุบเหว แต่เรามองเห็นได้เพียงระยะใกล้ และไม่ชัดเจนว่าเขาสูงนั้นเป็นของจริงหรือเปล่า ยั่งยืนหรือเปล่า ปีที่แล้วเกือบทั้งปี รัฐบาลบอกอันนี้ขึ้นเขาสูง สื่อมวลชนบอกอันนี้ลงเหว ภาวะแบบนี้ทุกฝ่ายถอนอคติออกให้มากที่สุด แล้วเปิดกว้างรับฟังกัน อย่าแน่ใจของตัวเองมากนัก" นายอนุช อาภาภิรม หัวหน้าโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทยกล่าวในการนำเสนองบทวิเคราะห์เรื่อง "ประเทศไทย 2547 : ภูมิทัศน์ทางการเมืองโลกที่เปลี่ยนไป"

นายอนุช กล่าวว่า หลังจาก "ระบอบทักษิณ" ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง งานจับกระแสข่าวสารทำยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลสร้างโครงการต่างๆ ขึ้นมาจำนวนมากจนตามไม่ทัน และเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลนี้ทำได้ ก็เพราะได้ปฏิรูประบบราชการและระบบงบประมาณให้รองรับนโยบายของรัฐบาลเอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณคิดเป็นระบบแต่ทำเป็นจุดๆ จนคนมองไม่เห็นภาพใหญ่ จึงคาดหวังว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลอีกสมัยจะทำอย่างเป็นระบบ เช่น ปฎิรูปการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน

"อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เลือกยาก เราเปิดประเทศมานาน ทุนเข้ามาเยอะ ไม่ไปข้างหน้าไม่ได้ ไปช้าก็ไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจะให้เกิดความระมัดระวัง และทำให้การแข่งขัน กับความยั่งยืน ซึ่งไม่ค่อยจะไปด้วยกันไปด้วยกันให้ได้ รวมทั้งไม่ให้การตลาดครอบงำสังคมไทยมากเกินไป" นายอนุชกล่าว

พร้อมกันนั้นเขานำเสนอว่า สังคมไทยควรที่จะมีศูนย์ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่สภาพัฒน์ ท่ามกลางภาวะที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เนื่องจากอเมริกาเริ่มลดถอยความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวลง โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 และมีประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับการเมืองและเศรษฐกิจไทยก็เปลี่ยนไปอย่างมากหลังเกิดระบอบทักษิณ

นายอนุชกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันส่วนของการเมืองภาคประชาชนในอนาคตก็จะมีความหลากหลายขึ้น เนื่องจากประชาชนหลายพื้นที่เข้มแข็งขึ้นและดำเนินการต่างๆ ด้วยตนเอง ขณะภาคธุรกิจก็มีส่วนลงไปหนุนเสริมการเมืองภาคประชาชน ในรูปของการตั้งมูลนิธิและสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ

ส่วนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศนั้นนายอนุชชี้ว่า กลุ่มประเทศมุสลิมกำลังพยายามพัฒนาบท
บาทให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายจนยากจะผนึกกำลังนั้น ควรสร้างแกนที่ประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศมุสลิม พุทธ และสังคมนิยม

ด้านนายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศที่เข้าร่วมอภิปรายกล่าวว่ารัฐบาลทักษิณให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศมาก โดยทุกกระทรวงล้วนมีองค์ประกอบด้านต่างประเทศอยู่ด้วย ทำให้ขับเคลื่อนไปอย่างมีเอกภาพ ประกอบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างเจ้าภาพที่มีภาวะผู้นำชัดเจน ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมา ในเวทีสากลไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้รับเป็นหุ้นส่วน

นายวิทวัส วิเคราะห์ต่อว่า การเจรจาในองค์การการค้าโลก (WTO) กับการเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) จะต้องคู่ขนานกันไปอีกหลายปี ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลทักษิณขีดเส้นใต้แต่แรกว่าต้องทำ FTA ให้มากที่สุด และไวที่สุดเพื่อชิงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แต่ถ้ามีทีท่าว่าประเทศจะเสียประโยชน์ก็สามารถแขวนเป็นประเด็น หรือแขวนข้อตกลงทั้งฉบับเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการรองรับการสร้างชุมชนอาเซียนไว้ด้วย โดยภายใน 5-10 ปีไทยจะเป็นผู้มีบทบาทนำ

"ส่วน 4 ปีข้างหน้า ต้องมีการศึกษาเรื่องโลกมุสลิมให้มากขึ้นในทุกด้าน เพราะเรามีองค์ความรู้เรื่องนี้ไม่มาก ความรู้เหล่านี้สำคัญมากทั้งในแง่ความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ" นายวิทวัสกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net