Skip to main content
sharethis

วันที่ 21 มีนาคม 2548 คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญสื่อมวลชนเข้าฟังคำชี้แจงกรณีการแก้ปัญหาโครงการที่เกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าประเด็นโครงการที่เกี่ยวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้น มีเหตุผล 2 ประการ ที่กรรมการสิทธิต้องให้ความสนใจคือ

ประการแรก การไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง มีข้อร้องเรียนจำนวนมาก

และกรรมการสิทธิต้องการความร่วมมือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังยาวนานของชาวบ้านที่ถูกละเมิดโดยการไฟฟ้า

"จากการตรวจสอบ คิดว่าการไฟฟ้ามีข้อร้องเรียนหลายกรณีมากที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ" สุนี ไชยรส กล่าวพร้อมอธิบายว่า การดำเนินการของกฟผ. มีข้อขัดแย้งของชุมชนในประเด็นการมีส่วนร่วมเรื้อรังต่อเนื่อง และทุกเรื่องมีมาก่อนคณะกรรมการสิทธิก่อตั้งทั้งสิ้น

"เพราะฉะนั้นเมื่อค้นพบแล้วเราก็พยายามประสานหารือ พยายามเข้าพบรัฐมนตรี เข้าพบบอร์ดการไฟฟ้า มีการจัดเสวนากันหลายรอบ เพราะฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้ กรรมการสิทธิหวังว่า ตัวแทนของกระทรวง หรือตัวแทนของบอร์ดการไฟฟ้า แม้แต่ภาครัฐบาลจะช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ เพราะเป็นเรื่องเรื้องรังในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านทั้งสิ้น"

ทว่า ภายหลังการเจรจาหลายต่อหลายครั้ง กรรมการสิทธิพบว่า ผู้บริหาร กฟผ. มีมติให้ดำเนินการต่างไปจากที่ตกลงกันไว้

แนวทางต่อไปของกรรมการสิทธิฯ ก็คือ การเจรจากับองค์กรที่สามารถควบคุมดูแล กฟผ. ซึ่งได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กฟผ. ซึ่งหากการเจรจายังคงไม่มีความชัดเจนใด ๆ แนวทางสุดท้ายของกรรมการสิทธิก็คือ การนำข้อเท็จจริงเข้าสู่รัฐสภาให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกในรัฐสภาอภิปรายกันต่อไป

3 กรณี ที่กรรมการสิทธิฯ ยกมา เป็นกรณีตัวอย่างของการเจรจาที่ไม่เป็นผล คือตกลงกันไม่สำเร็จ และหรือตกลงกันอย่างหนึ่ง แต่ไปดำเนินการอีกอย่างหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net