Skip to main content
sharethis

"โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2" ชื่อนี้น่าจะยังไม่คุ้นหูผู้คนมากนัก เนื่องจากเป็นโครงการที่กำลังจะลงเสาก่อสร้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซขนาด 1,468 เมกกะวัตต์ แห่งใหม่ของเมืองไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

โดยแทบไม่ต้องเดา เมื่อโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าที่ใดก็มักจะต้องมี "2 ข้อ" หลักเกิดขึ้นในพื้นที่คือ ข้อสงสัย และ ข้อขัดแย้ง แม้จะ "เป็นข่าว" หรือไม่ก็ตาม

สำหรับกรณีของแก่งคอยนี้ ความขัดแย้งส่อเค้ามาตั้งแต่บริษัท กัลฟ์ พาวเวอร์เจเนอเรชั่น จำกัด เพิ่งเข้าไปประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่เมื่อราวกลางปีที่แล้ว โดยกลุ่มหลักๆ ที่ออกมาคัดค้านได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย ซึ่งได้นำเรื่องร้องเรียนกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ วุฒิสภา ด้วยเกรงว่าโรงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่อยู่ค่อนข้างใกล้ชุมชนจะมีผลกระทบต่อชุมชน ทั้งจะยิ่งเพิ่มมลภาวะให้แก่พื้นที่และแม่น้ำป่าสัก

อย่างไรก็ตาม มองในแง่ "การมีส่วนร่วม" ของประชาชนในพื้นที่โครงการนี้ก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันอยู่พอสมควร โดยมีรูปแบบที่พอจะเรียกได้ว่า "ก้าวหน้า" คือ มีทั้งการทำประชาคมก่อนหน้าก่อสร้างโครงการถึง 15 ครั้งใน 11 ตำบล เพื่อให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนขึ้นมา 4 ชุด เพื่อตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ตลอดเวลา 25 ปีที่ดำเนินโครงการ

แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปพบว่า ยังมีปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก กระบวนการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้น ริเริ่มและดำเนินการโดยผู้ประกอบการ ทำให้มีโอกาสเกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสได้ ประการที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม( EIA) ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ถูกละเลยกล่าวคือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ในฐานะหน่วยงานพิจารณาEIA ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณา EIA โดยตรง หากแต่สังเกตการณ์ข้อวิตกกังวลของชาวบ้านผ่านการทำประชาคมของเจ้าของโครงการ

การพิจารณาโครงการกลับกลายเป็นหน้าที่จำเพาะแต่ในคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ไม่กี่คนของ สผ. และความคิดเห็นหรือข้อวิตกกังวลของประชาชนก็เป็นเพียงข้อมูลที่ผู้ประกอบการบรรจุไว้ในรายงาน EIA ตามรูปแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งหากชาวบ้านนำ EIA มาเปิดอ่านก็จะพบคำตอบเชิงเทคนิคมากมาย โดยไม่มีคำตอบที่ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป

กระนั้นก็ดี หากจะให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดผลแท้จริง อันที่จริงควรเริ่มตั้งแต่กระบวนการศึกษา FS (Feasibility Study) ซึ่งเป็นการตัดสินใจในเชิงความคุ้มประโยชน์ของโครงการ รวมไปถึงการตัดสินใจเลือกพื้นที่โครงการนั่นเลยทีเดียว เพราะ EIA ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆ แล้ว

ส่วนของภาพที่ใหญ่กว่านั้น คือ การทำ Strategic Environmental Assessment (SEA) ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ว่า พื้นที่นั้นๆ น่าจะเอื้อต่อการพัฒนาแบบใด และให้มีการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของนโยบายการพัฒนาที่สำคัญ เป็นที่น่าเสียดายว่าถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดผลักดันให้เกิดขึ้น

ด้วยข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่แม้เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้า จะสร้างการมีส่วนร่วมขึ้นมาแล้ว แต่ "การไม่ยอมรับ" ของชาวบ้านบางส่วนก็ยังดำรงอยู่ และยิ่งกลายเป็นความขัดแย้งเด่นชัดขึ้น เมื่อมีกลุ่มชาวบ้านสนับสนุนโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงหลัง

แม้สถานการณ์ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่กำลังคืบหน้าไปด้วยการจัดตั้ง "สมัชชา" เพื่อสรรหา "คณะกรรมการภาคประชาชน" ที่จะตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าดังที่พีระพันธ์ ศรีสุโข ผู้จัดการทั่วไปของกัลฟ์ให้ข้อมูลแล้วก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเวทีคัดค้านคู่ขนานไปด้วย ซึ่งแม้แกนนำบางคนจะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์เบื้องหน้าเบื้องหลัง กระนั้น คำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนก็ยังมีความสำคัญโดยตัวมันเอง

"ตอนนี้กำลังคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านหมู่ละ 5 คนในตำบลบ้านป่า ซึ่งจะไปโหวตให้เหลือหมู่ละ 1 คนรวมทั้งตำบลก็ 11 คน เพื่อเป็นคณะกรรมการที่จะกำหนดกรอบบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการประชาชนที่จะตรวจสอบโรงไฟฟ้า" ทรงเดช บุญเฉลียว แกนนำชาวบ้านที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าให้ข้อมูล พร้อมทั้งระบุว่ากระบวนการสรรหาในตำบลใกล้เคียงทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในต้นเดือนพฤษภาคม ศกนี้

ขณะที่ผู้จัดการทั่วไปของกัลฟ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นทางโรงไฟฟ้าจะตั้งตุ๊กตาเกี่ยวกับการตรวจสอบโรงไฟฟ้าในมิติต่างๆ ตามที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้ และประชาชนมีสิทธิ์จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เหล่านั้น

โดยคณะกรรมการภาคประชาชนทั้ง 4 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการภาคประชาชนตำบลบ้านป่า และ 2. คณะกรรมการภาคประชาชนพื้นที่ข้างเคียงรวม 8 ตำบล 3. คณะกรรมการภาคประชาชน (เฉพาะกิจ) ตำบลสองคอน-เตาปูน 4.คณะกรรมการภาคประชาชนตำบลตาลเดี่ยว-เตาปูน

มีอำนาจโดยรวมดังนี้ ตรวจสอบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าตลอดอายุโครงการ,ตรวจสอบโรงไฟฟ้าได้ 24 ชม.ในด้านสิ่งแวดล้อม, บริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับอุดหนุนจากโรงไฟฟ้า กำกับตรวจสอบการก่อสร้างของผู้รับเหมา, กำหนดมาตรการในการก่อสร้างเพื่อลดผล กระทบต่อชุมชน, กำหนดค่าชดเชยกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้น, ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกที่บ่อบำบัดในโรงไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทำรายงานประจำปีต่อสาธารณะ

แม้จะเป็นความพยายามของผู้ประกอบการในการจัดรูปแบบการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการยอมรับจากภาคประชาชน แต่ก็ยังเป็นเพียง "ปลายน้ำ" โดยที่ " ต้นน้ำ" หรือในระดับโครงสร้างใหญ่ยังมีช่องโหว่ที่สำคัญ

ดังที่ "ปาริชาต ศิวรักษ์" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระบุไว้ว่า "การขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งระบบ ทั้งในขั้นตอนการกำหนดนโยบาย การคิดและตัดสินใจเลือกแนวทางการพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาโครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบ การจัดทำและการพิจารณารายงาน EIA "

"ปัญหาเรื่องกฎหมายและกระบวนการดำเนินการยังไม่รับรองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเป็นปัญหาเชิงสถาบันด้านหนี่ง ปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือ การขาดกลไกและวิธีการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และการขาดทักษะการจัดการมีส่วนร่วม การขาดความจริงใจในการจัดการมีส่วนร่วม และการใช้การมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาเมื่อปลายเหตุ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังทำให้กลไกการมีส่วนร่วมต่างๆ ถูกระแวงสงสัยและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน"

บทสรุปนี้น่าจะสะท้อนภาพรวมของปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 หากแต่เป็นปัญหาสากลของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net