Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 มี.ค. 48 คดีกบฎไอทีวียังหาข้อสรุปไม่ได้ หลังจากมีการประชุมตกลงกันอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ที่ตึกชินวัตร 3 โดยฝ่ายพนักงานทั้ง 21 คน ไม่พอใจข้อเสนอ และจะยื่นจดหมายขอคำชี้แจงไปยังบริษัทฯ กรณีค่าเสียหายถูกหักภาษี ด้านทนายฝ่ายโจทก์เตรียมยื่นเรื่องขอคำวินิจฉัย "ค่าเสียหาย" ใหม่

หลังไอทีวีประกาศรับพนักงานทั้ง 21 คนเข้าทำงาน และสัญญาว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะ
กรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) ทุกประการในวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมนัดหารือร่วมกันอีกครั้งในวันนี้เพื่อหาข้อยุติ

ผลจากการประชุมหาข้อตกลงร่วมกันกับผู้บริหารไอทีวี ในช่วงเช้า นายสกลเดช ศิลาพงษ์ หนึ่งในพนักงานที่ได้รับค่าเสียกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางไอทีวียังไม่มีข้อเสนอที่ดีพอที่จะทำให้กลับเข้าไปทำงาน สิ่งที่ทางบริษัทฯ ให้ก็เป็นไปตามที่ ครส.ระบุไว้เท่านั้น ไม่มีค่าเสียโอกาสใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคิดว่าไม่คุ้มกับเวลา 4 ปีที่เสียไป หลายคนไม่อยากกลับก็เพราะได้งานตรงตามที่ชอบแล้ว ถ้าจะมาเริ่มต้นใหม่ที่นี่ในตำแหน่งเดิม เงินเดือนเท่าเดิมก็ไม่ไหว

"ตัวผมเองจะชอบทำข่าวแบบเจาะลึก ซึ่งผมมองว่าตอนนี้ทางไอทีวีไม่มีในตรงนี้แล้ว แม้ทางบริษัทฯ จะบอกว่ามี แต่ในความรู้สึกผมในฐานะที่เป็นคนทำสื่อมันยังไม่ใช่ โครงสร้างของบริษัทฯ มันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนคนดูไอทีวีเพื่อจะดูข่าว แต่ปัจจุบันโครงสร้างกลายเป็นบันเทิงมากขึ้น คนที่ดูไอทีวีเปลี่ยนกลุ่มไปแล้ว " อดีตพนักงานกล่าว

ด้าน น.ส.ภัทราพร สังข์พวงทอง กล่าวว่า ไม่ค่อยพอใจในข้อเสนอของไอทีวีเช่นกัน ในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่การงานที่ได้รับมา เพราะไม่เข้าใจว่าถูกย้ายตำแหน่งไปเป็นผู้ประกาศข่าวตั้งแต่เมื่อใด โดยส่วนตัวแล้วอยากทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวเหมือนเดิมมากกว่า ในเรื่องของเงินค่าเสียหายก็มีข้อข้องใจว่าทำไมทางไอทีวีต้องหักภาษีด้วย ในเมื่อค่าเสียหายไม่ใช่เงินเดือน แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนการเลิกจ้างที่ถูกละเมิดเมื่อ 4 ปีก่อน

นายนคร ชมพูชาติ หัวหน้าคณะทนายความ คดีอดีตพนักงานไอทีวีทั้ง 21 คน ฟ้องร้องบมจ. ไอทีวี ในกรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม กล่าวว่า ตามเนื้อความเดิมนั้น ครส.สั่งให้บมจ. ไอทีวี รับลูก
จ้างกลับมาทำงานทั้ง 21 คน ภายใน10 วัน นับตั้งแต่วันที่ครส.รับเรื่อง และให้ทางบริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายทดแทนตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงที่รับกลับเข้าทำงาน(8 มี.ค.48) โดยให้อัตราเงินเดือนและตำแหน่งงานสุดท้ายที่ถูกเลิกจ้าง

หัวหน้าคณะทนายความ คดีอดีตพนังงานไอทีวีฯ กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบในข้อตกลงของวันนี้ทางไอทีวีมีการหักภาษีค่าเสียหายของลูกจ้าง ซึ่งในทางกฎหมายแล้วไม่น่าจะทำการหักภาษี เพราะในกรณีนี้จะเหมือนกับค่าสินไหมทดแทนมากกว่า แต่ทางไอทีวีกลับวินิจฉัยและนำไปเทียบเคียงกับเงินเดือนตกเบิกของข้าราชการที่มีการหักภาษีได้ตามปกติ โดยจะทำการหักภาษีในลักษณะที่เป็นรายได้จากเงินเดือนและเฉลี่ยหักเป็นปี ๆ ไป

"กรณีฟ้องร้องค่าเสียหายในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดมาก่อน ผมคิดว่าทางไอทีวีจึงไปยึดถือคำของสรรพากร เขต กทม.5 เป็นหลักในการวินิจฉัย คำว่าค่าเสียหายนี้ ที่จริงแล้วทางไอทีวีน่าจะรู้อยู่ว่าเงินตรงนี้ไม่ใช่เงินในลักษณะของเงินเดือน อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องหารือกับอธิบดีกรมสรรพากรและท้วงติงคำวินิจฉัยของไอทีวีในเรื่องจ่ายค่าเสียหายไม่ครบตามคำสั่งของครส.อีกครั้ง" นายนครกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านฝ่ายบริหารของสถานีโทรทัศน์ไอทีวียังไม่พร้อมแถลงผลการประชุมต่อสื่อมวลชน และยืดเวลาให้กับพนักงานทั้ง 21 คน ในการตัดสินใจและเคลียร์ตัวเองให้พร้อมในกรณีที่จะกลับเข้ามาทำงาน.

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net