Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 มี.ค.48 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีการถ่ายทอดสดช่อง 11 ในวันนี้ มีการพิจารณาร่างแผนพัฒนากฎหมายแห่งชาติ ประจำปี 2548 เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยมีการนำเสนอกฎหมายที่ต้องพัฒนาปรับปรุงของแต่ละกระทรวง แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการพัฒนาสังคม ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างแผนดังกล่าว ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายก
รัฐมนตรี เป็นประธานเสนอ โดยจะมีการพัฒนาหลักการ เนื้อหาและการใช้บังคับกฎหมายหรือกฎระเบียบ จำนวน 377 ฉบับ รวมทั้งพัฒนากระบวนการออกกฎหมายและบุคลากรทางกฎหมายด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนคิดมานานแล้ว เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความเป็นระบบและการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐจะมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้อยู่ร่วมกันมีสันติ ในประเทศประชาธิปไตย หากเสรีภาพของประชาชนมีมาก จะทำให้รัฐอ่อนแอ จึงควรคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนบ้าง เพื่อให้การทำงานไปสู่ความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้เสนอความเห็นว่า ควรให้มีการนำกฎหมายที่ทำเสร็จขึ้นเว็บไซต์ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนอความเห็นที่หลากหลาย หรือแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

นายเฉลิมเดช ชมพูนุท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพัฒนาระบบกฎหมายครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเกริ่นในที่ประชุมว่าปีนี้ครบ 200 ปีที่กฎหมายตราสมดวงพัฒนาขึ้นมา จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาระบบกฎหมายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับเลือกมาแล้ว น่าจะคืนอะไรให้กับประชาชน

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดทำร่างดังกล่าวระบุว่า เพื่อแก้ไข เพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือจัดทำกฎหมายใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด ลดและเลิกกฎหมายที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็นให้แก่ประชาชนและทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันการทุจริต รวมทั้งพัฒนาระบบและกระบวนการในการบัญญัติกฎหมายให้เป็นไปตามบริบทของหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการตั้งกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย มีนายกฯ เป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมาย รวม 10 คณะ เพื่อพิจารณากฎหมายต่าง ๆ โดยการพิจารณาแบบพัฒนากฎหมายจะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ OUT SIDE IN คือ ให้บุคลากรภายนอกพิจารณากฎหมายจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีและนำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา และแนวทางที่ 2 คือ IN SIDE OUT มองจากคนใช้กฎหมาย โดยให้แต่ละกระทรวงตั้งคณะกรรม การระดับกระทรวงเพื่อสำรวจกฎหมายในความดูแลว่ากฎหมายใดควรปรับปรุง โดยทั้งสองแนวทางจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net