Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 มี.ค.48 "ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าถามว่าจะแก้อย่างไร ผมไม่อยากแก้ในระดับบุคคลว่าไม่ดีก็ย้าย แต่ผมอาจจะสนใจว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร แล้วมีเกณฑ์อื่นไหมนอกจากหามือปราบฝีมือดี เช่น การเคารพด้านสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกเจ้าหน้าที่อย่างนี้ก็เป็นการเปลี่ยนในระดับโครงสร้างอย่างหนึ่ง" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิจัยสันติภาพกล่าวในงานประชุมทางวิชาการครั้งที่ 4 "วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง" จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ นักวิจัยสันติภาพแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ คือ ความรุนแรงเชิงบุคคล ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมซึ่งเป็นระดับที่ลึกที่สุด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนมนุษย์ ในระดับของการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างดังที่ยกตัวอย่างน่าจะสำเร็จมากกว่าระดับบุคคล ส่วนระดับของวัฒนธรรม ที่ทำให้สังคมยอมรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เป็นธรรม จนกลายเป็นการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงยาก แต่ใช่จะเปลี่ยนไม่ได้ โดยรศ.ดร.ชัยวัฒน์ได้ยกตัวอย่างงานศึกษาหลายชิ้นของสังคมที่พยายามสร้างสันติภาพจนประสบความสำเร็จ และงานวิจัยบางส่วนพบว่าสังคมที่มีสันติสูง เป็นสังคมที่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน

รศ.ดร.ชัยวัฒน์อธิบายความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม โดยยกตัวอย่างกรณีข่าวของเด็กที่ถูกพ่อมัดทรมานไว้ในบ้านเป็นเวลากว่าปี เพื่อแก้แค้นแม่ที่ไปมีชู้ พร้อมกันนั้นเขาตั้งคำถามว่าเด็กร้องโหยหวนเป็นปี เหตุใดเพื่อนบ้านจึงไม่ทำอะไรบางอย่าง อะไรทำให้เพื่อนบ้านละเลย หรือกรณีของการที่ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง โดยคนภายนอกไม่เข้าช่วยเหลือ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา การสร้างคุณค่าเช่นนี้ในระบบวัฒนธรรมและผู้คนยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถือเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ต้องตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลง

"ถ้าความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม เป็นตัวให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในสังคม สันติวัฒนธรรมก็คือตัวทำลายความชอบธรรมของความรุนแรงนั้น นักวิจัยสันติภาพนั้นได้ตัดสินแล้วว่าจะต้องต่อสู้กับความรุนแรง เพราะเชื่อว่าความรุนแรงไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ และต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อหาทางเลือกอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์ในโลกน่าจะมีชะตากรรมที่ดีกว่านี้ได้" นักวิจัยสันติภาพกล่าว

สำหรับกรณีของภาคใต้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐทุกวันนี้ก็ไม่เข้าใจระบบวัฒนธรรมของชาวบ้าน มีอคติและรู้สึกว่าการเป็นมุสลิมอาจทำให้การเป็นพลเมืองมีปัญหา กระทั่งเจ้าหน้าที่อาจจะรู้สึกมีความสุขมากหากคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเป็นมุสลิมน้อยลง หากเห็นมุสลิมเดินออกมาจากบาร์ กับมุสลิมที่ออกมาจากสุเหร่า คนที่ต้องสงสัยคือพวกออกมาจากสุเหร่า ดังนั้นปอเนาะซึ่งเป็นสถาบันสำคัญสร้างความเป็นมุสลิมจึงถูกจัดการ ทำอย่างไรรัฐจึงจะมองเห็นปอเนาะเป็นสถาบันทางวัฒนธรรม

สุดท้าย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังตั้งคำถามกับการศึกษามานุษยวิทยาว่า มานุษยวิทยาซึ่งทำการศึกษามนุษย์และวัฒนธรรมแต่ละแห่งโดยไม่เข้าไปแทรกแซง นอกจากการศึกษาเพื่อบอกเล่าหรือวิพากษ์วิจารณ์แล้ว จะเข้าไปมีส่วนสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net