ย้ายชุมชนป้อมมหากาฬยังไม่สรุป

ประชาไท-24 มี.ค. 48 สืบเนื่องมาจากในวันที่ 8 มี.ค. 2548 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาตัดสินให้ทางกรุงเทพฯ มีสิทธิ์รื้อถอนบ้านเรือนชุมชนป้อมมหากาฬได้ วันนี้ชุมชนฯ ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) จัดเวทีความลวงของความจริง ตอนชุมชนแถลง กำแพงฯ พูด ขึ้นเพื่อหาความเป็นธรรมให้กับชาวป้อมมหากาฬ โดยการเสวนาในครั้งนี้ยังได้บทสรุปที่เป็นเพียงคำสัญญาของที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เท่านั้น

นายอัภยุทธ์ จัทราภา ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าวว่า การต่อสู้ของชาวป้อมมหากาฬ คือภาพสะท้อนการทำงานที่ชาวบ้านพยายามขอมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการ "เมือง" เพราะในพื้นที่แห่งนี้ชาวบ้านอยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน พวกเขามีรากมีวัฒนธรรมที่จะต้องปกป้อง

"หากมองพื้นที่ที่ใช้ทำสวนแล้ว ก็จะเห็นแต่หญ้าที่ขาดชีวิตชีวาแต่กลับมองไม่เห็นชุมชนที่มีชีวิต ภาพระบบของชุมชนที่พยายามนำเสนอระบบดูแลสวน สวนที่มีชุมชนอยู่ด้วย คือสิ่งที่ชุมชมป้อมฯ ขอต่อราชการ คือความกระตือรือร้นที่จะขอมีส่วนร่วมกับการจัดการ ซึ่งมันเป็นมิติของการมีส่วนร่วมที่ลึกซึ้ง และน่าจะเป็นด่านทบทวนที่สำคัญของผู้บริหารเมือง" ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าว

นายประเสริฐ ฤทธิ์สำเริง สถาปนิกชุมชน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เมืองนั้นต้องจำเป็นต้องมีคนไม่ใช่เป็นเมืองร้างหรือป่าช้า แต่ในขณะนี้ ชาวบ้านกำลังถูกไล่รื้อตามกฎหมายเวนคืน นับว่าเป็นการพัฒนาเมืองที่ผิดรูปแบบ วิถีชีวิตที่ดำเนินมายาวนานของชุมชนป้อมมหากาฬจะหายไป ทั้งนี้เป็นเพราะคนกรุงเทพคิดเพียงว่าป้อมฯ เป็นเพียงวัตถุ ทั้ง ๆ ที่หลังป้อมมีชุมชนอยู่

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องการรักษามีแค่เพียงบ้านตึกเท่านั้นหรือ แล้วบ้านไม้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทางภาครัฐไม่ต้องการใช่ไหม การสร้างพื้นที่สวนต้องใช้เงินเท่าไรและต้องทำลายอะไรบ้าง เหล่านี้คือสิ่งที่ราชการมองไม่เห็น ชาวป้อมฯ พร้อมยืนหยัดอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ติดเพียงกฎหมายที่ชี้ขาด ด้านกทม.เองก็ขาดการเข้ามารับฟังชาวบ้าน หากมองมาที่ป้อมฯ และพัฒนาป้อมฯ ร่วมกับชาวบ้านน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
นางตรึงใจ บูรณสมภพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวรับปากชาวบ้านว่า หากโครงการสวนกึ่งพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ใช่สวนเปล่า ๆ แต่มีชุมชนรวมอยู่ด้วยนี้เป็นโครงการที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงดังเช่นสวนที่วัดอนงค์แล้ว ชาวบ้านไม่ต้องเป็นห่วง เพราะการที่เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้ามาตรงนี้แล้วก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด

"ถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับสวนกึ่งพิพิธภัณฑ์นี้ เพราะพื้นที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จะกลาย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่แสดงความเป็นอยู่ของคน บ้านที่มีคุณค่าจะสามารถนำมาแสดงได้ มีเสียงไก่ร้อง เป็นภาพวิถีที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี" ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กล่าว

นายธวัชชัย วรมหาคุณ แกนนำชาวป้อมมหากาฬ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ความจริงแล้วทางชุมชนป้อมมหากาฬได้เรียนเชิญผู้ว่าฯ กทม. มาลงพื้นที่หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ซึ่งในครั้งนี้นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทางภาครัฐส่งตัวแทนมารับฟังปัญหาของชาวบ้าน
แม้จะไม่บรรลุผลที่ตั้งไว้ก็คือ อยากให้คุณอภิรักษ์มาเองมากกว่า แต่ก็เป็นที่น่าพอใจว่าสื่อหลายแขนงสนใจ และจะเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้สึกของชาวป้อมฯ ได้.

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท