Skip to main content
sharethis

สงขลา-24 มี.ค.48 นายบัญชา สมบูรณ์สุข ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบบเกษตรทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการนากุ้งและผู้ได้รับผลกระทบ : กรณีจัดระเบียบนากุ้งในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการรับฟังความคิดเห็นฯ อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ คาดว่าจะส่งมอบได้ภายในเดือนเมษายน 2548

นายบัญชา เปิดเผยต่อไปว่า ข้อมูลจากการศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากำลังวิกฤตอย่างหนัก จากหลายสาเหตุโดยเฉพาะน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่นากุ้งเองก็มีส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาด้วย โดยทางโครงการฯ ได้ศึกษาพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งหนาแน่นในเขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย อำเภอเมืองสงขลา อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอระโนด อำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

นายบัญชา เปิดเผยกระบวนการทำงานว่า นอกจากเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์แล้ว ยังเน้นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เวทีย่อยที่ลงลึกถึงปัญหาและเทคนิคต่างๆ การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้เข้าร่วมล้วนเป็นผู้ประกอบการนากุ้ง ผู้ได้รับผลกระทบ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการทำนากุ้งรวม 17 เวที มีผู้เข้าร่วม 2,286 คน

"ผลการศึกษาสรุปออกมาเป็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหานากุ้ง ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประ
กอบด้วย โครงการที่ควรได้รับการผลักดันทั้งสิ้น 123 โครงการ วงเงินประมาณการ 3,699.5 ล้านบาท ตัวเลขนี้ได้จากชาวบ้านที่เข้าร่วม หากจะทำโครงการเหล่านี้จริงๆ จะต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง" นายบัญชากล่าว

นายบัญชา เปิดเผยว่า โครงการศึกษาชิ้นนี้ฯ ตนได้รับการว่าจ้างจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสัมพันธ์ ในคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นเงิน 2 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2548

ตอนนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสัมพันธ์ ได้ผ่านร่างแผนและโครงการพัฒนาที่นำเสนอแล้ว รอเพียงคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาประชุมรับทราบอีกครั้ง ก็สิ้นสุดโครงการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนและโครงการตามยุทธศาสตร์การแก้ปัญหานากุ้งที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ มีโครงการเขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่มีการคัดค้านกันมาตลอดกว่าสิบปีรวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ โครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อำเภอระโนดถึง 28 โครงการ วงเงินสูงถึง 3,508.4 ล้านบาท ตามด้วยอำเภอควนเนียง 8 โครงการ วงเงิน 80.9 ล้านบาท, อำเภอกระแสสินธุ์ 24 โครงการ วงเงิน 50.1 ล้านบาท, อำเภอหาดใหญ่ 7 โครงการ วงเงิน 27.5 ล้านบาท, อำเภอบางแก้ว 5 โครงการ วงเงิน 18 ล้านบาท, อำเภอสิงหนคร 7 โครงการ วงเงิน 15.7 ล้านบาท, อำเภอสทิงพระ 13 โครงการ วงเงิน 15.5 ล้านบาท, อำเภอปากพะยูน 24 โครงการ วงเงิน 10.2 ล้านบาท, อำเภอเมืองสงขลา 3 โครงการ วงเงิน 7 ล้านบาท และอำเภอบางกล่ำ 3 โครงการ วงเงิน 1.2 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net