เด็กยากจนทุกคนต้องได้ทุนการศึกษาและค่าครองชีพอย่างเป็นระบบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำอภิปราย เรื่อง โอกาสเข้าถึงการศึกษาของประชาชน ภายใต้นโยบายพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร, เลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล ต่อรัฐสภา วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๘ เวลา ๙.๓๐ น.

--------------------
ท่านประธานที่เคารพ ตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผมสนใจเป็นพิเศษ และตั้งใจที่จะส่งเสริมเรื่องสิทธิและโอกาสของประชาชนที่จะเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานแห่งคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข

รัฐบาลที่แล้วของท่านนายกรัฐมนตรีได้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคเข้ามาเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นผลงานที่ดีเด่น แม้ว่าคุณภาพอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในเรื่องของหลักประกันด้านสุขภาพ

แต่เรื่องที่ผมเป็นห่วงในขณะนี้ คือ เรื่องหลักประกันทางด้านการศึกษาของประชาชน ซึ่งผมได้ศึกษาในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคมของวุฒิสภา และข้อมูลที่ได้มา ได้มาจากผู้บริหารกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และได้มาจากบันทึกการประชุมหารือเรื่องการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษาเมื่อวันที่ ๓ มีนาคมนี้เอง ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม และมีรัฐมนตรีทุกคนที่เกี่ยวข้อง

มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องการเข้าถึงการศึกษาอยู่ ๔ ประเด็น

ประเด็นแรก เรื่องการยกเลิกการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในระดับมัธยมปลาย ซึ่งจะเริ่มต้นในปีการศึกษา ๒๕๔๙ แม้ว่าจะมีการทดแทนโดยทุนให้เปล่าสำหรับการศึกษาในระดับมัธยมปลาย แต่ยังไม่ชัดว่า ทุนจะมาจากที่ไหน ยังไม่ชัดว่าจะให้กี่คน และจะมีระบบการคัดเลือกอย่างไร ผมขอยืนยันอันหนึ่งนะครับ สำหรับเด็กยากจน เด็กชนบท แม้จะเรียนฟรีในระดับมัธยม แต่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงมากมาย ถ้าหากว่าไม่ได้ทุนค่าครองชีพ โอกาสการเรียนจะมียาก เพราะผู้ปกครองจะให้ออกไปทำงาน

ประเด็นที่สองที่น่าเป็นห่วง คือ การลอยตัวของค่าเรียน ค่าหน่วยกิต ของระดับมัธยม
ศึกษา
ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเมษายนปีที่แล้ว มีแนวโน้มค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาจะลอยตัวขึ้นไป แม้จะมีการควบคุม แต่คาดว่าจะขึ้นไปไม่ต่ำกว่า ๒ - ๓ เท่าโดยเฉลี่ย

แม้จะสามารถผ่อนโดยการกู้ยืมเงิน ซึ่งคืนตามอัตรารายได้ในอนาคตก็ตาม แต่ค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นสร้างความเดือดร้อนแก่นิสิตนักศึกษา และทำให้แทนที่นิสิตนักศึกษาที่ยากจนจะเอารายได้จากการทำงานไปช่วยเหลือครอบครัว ก็จะต้องผ่อนหนี้

ประเด็นที่สามที่สำคัญ คือ การกู้ยืมเงินในระบบใหม่ เป็นการกู้เฉพาะค่าเล่าเรียน ค่าหน่วยกิตเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมค่าครองชีพ เช่น ค่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งในปัจจุบันสามารถกู้ยืมค่าที่พักได้เดือนละ ๑,๕๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ถึง ๒,๕๐๐ บาท เรื่องนี้สำหรับนักศึกษายากจนที่จะเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่สามารถกู้ยืม ค่าครองชีพจะได้มาจากที่ไหน อันนี้ยังมีความไม่ชัดเจน

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงเรื่องที่สี่ คือ เรื่องการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวนมาก ขณะนี้สร้างความเดือดร้อน ยกตัวอย่างนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ต้องออกกลางคันจำนวนหลายคน เพราะค่าหน่วยกิตเพิ่มขึ้นและกู้ยืมได้ไม่เท่าค่าเรียน

สิ่งที่ควรจะเป็น ผมเห็นว่าในระดับมัธยมปลาย เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนทุกคนต้องได้รับทุนการศึกษาที่รวมถึงค่าครองชีพอย่างเป็นระบบ นี่เป็นเรื่องที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้ระดับหนึ่ง

เรื่องที่สอง ในระดับอุดมศึกษา เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือรายได้ต่ำทุกคน ควรได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน ไม่ใช่ให้กู้ค่าเล่าเรียน หรือไม่ก็ควรได้รับการลดค่าเล่าเรียนตามฐานะ ยากจนที่สุด เรียนฟรี ยากจนปานกลางก็เสียส่วนหนึ่ง พร้อมกับทุกคนควรได้รับทุนกู้ยืม แต่ไม่ใช่ค่าเรียน ควรได้ทุนกู้ยืมเพื่อค่าครองชีพ ค่าหอพัก ค่าใช้จ่ายส่วน
ตัว ซึ่งจะคืนในภายหลังเมื่อมีงานทำ และถ้าทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ เช่น ทำงานให้ท้องถิ่นอันห่างไกลก็ควรจะได้รับการยกเว้นทุนกู้ยืมดังกล่าว ขอบคุณครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท