ชินวัตร - ณ เชียงใหม่ เลือดจางเมื่อการเมืองเข้ม

เหตุการณ์หนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ ถึงการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองของนักการเมืองเชียงใหม่ว่า ในปี 2548 มีการลากไส้ ไล่ประวัติ ดึงศักดิ์ศรีของตระกูลมาประเดิมกันอย่างถึงพริกถึงขิงกันยุคสมัยหนึ่ง

บนเวทีปราศรัย อะไรก็เกิดขึ้นได้ … มากไปกว่านโยบาย สิ่งที่จะถึงดูดความสนใจผู้ฟังได้ คือสีสันและการห้ำหั่นด้วยคารม

จึงไม่แปลก ที่กระแสของ "ศึกตระกูล"จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ ตระกูลชินวัตร กับ ณ เชียงใหม่ ที่ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาความร้อนแรงชวนติดตามอยู่ที่ ศักดิ์ศรีของตระกูลที่คนเหนือต่างรู้ซึ้งว่าล้วนเป็นตระกูลเก่าแก่ และคร่ำหวอดทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หรือรู้แต่ลืมเลือนไปแล้ว นั่นคือ สองตระกูลนี้แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกันมาในอดีต

สายเลือดได้จืดจางไป เพราะยึดติดกับการเมืองที่เข้มข้นร้อนแรงเกินไปหรือเปล่า ??

-----------------------------

ความเกี่ยวข้องระหว่างสกุล ณ เชียงใหม่ , ชินวัตร และ ระมิงวงศ์
พ.ต.ท.อนุ เนินหาด

ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของคนเชียงใหม่ทั่วไป คือ ความเกี่ยวพันระหว่างสกุล "ชินวัตร" กับสกุล "ณ เชียงใหม่" ที่ต่อมาเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีเชื้อสายเดียวกัน

โดยโยงมาจากรุ่นทวดเดียวกัน คือ เจ้าไชยสงคราม

เจ้าไชยสงคราม เป็นบุตรของเจ้าน้อยรถ ซึ่งเจ้าน้อยรถเป็นรุ่นหลานของเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๒ คือ เจ้าธรรมลังกา เจ้าไชยสงครามเป็นเจ้าฝ่ายเหนือยุคแรกๆ ที่เริ่มต้นอาชีพรับราชการ หลังจากที่รัฐบาลสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารของเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบการปกครองที่เรียกว่า "มณฑล" และนำระบบราชการมาใช้ในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ

ชื่อเดิม คือ เจ้าสมพมิตร ณ เชียงใหม่ ตั้งบ้านอยู่ที่ถนนท่าแพ เยื้องกับวัดมหาวัน คนรุ่นเก่าๆ มัก จะทันได้ดูลิเกที่บ้านเจ้าไชยสงคราม จึงมักเรียกว่า ลิเกบ้านเจ้าไชย เริ่มเข้าทำงานในคุ้มสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ ต่อเนื่องมาถึงเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ ๙ หลังจากนั้นเข้ารับราชการเป็นตำรวจ เคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการที่จังหวัดเชียงราย ผู้กำกับการเชียงใหม่และผู้กำกับการมณฑลพายัพยศพันตำรวจเอก หลังเกษียนแล้วได้ปฏิบัติภารกิจครั้งใหญ่ คือ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ มีการเสาะหาผู้ที่จะทำหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ทำหน้าที่เป็นควาญช้างสำหรับพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ และ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม รับหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่ง

พ.ต.อ.เจ้าไชยสงครามเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓

ด้านครอบครัวนั้น พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม มีภรรยา ๓ คน คือ เจ้าศรีนวล , เจ้าคำใส และเจ้าอุษา
กับเจ้าคำใส มีบุตรธิดารวม ๕ คน คือ เจ้าข่ายแก้ว , เจ้าไชยมงคล , เจ้าไชยณรงค์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ , เจ้าไชยสุริวงศ์และเจ้าไชยชนะ ณ เชียงใหม่

บุตรคนหนึ่งของเจ้าไชยสุริยวงศ์ คือ นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งสมรสกับนางกิ่งกาญจน์ โกศัยกานนท์

ส่วนกับเจ้าอุษา มีบุตรธิดา ๓ คน คือ เจ้าน้อยอินทร์ , เจ้าหมอกและเจ้าจันทร์ทิพย์(หญิง) ณ เชียงใหม่(หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่,๒๕๔๗)

ธิดาคนหนึ่งของ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม คือ เจ้าจันทร์ทิพย์ ณ เชียงใหม่ มาแต่งงานกับชาวจีนที่อำเภอสันทราย ต่อมาใช้สกุล "ระมิงวงศ์"

เจ้าจันทร์ทิพย์ มาแต่งงานกับนายเจริญ ระมิงวงศ์ สกุลเดิม ทุ่งซิ้ว หลังแต่งงานแล้วเจ้าจันทร์ทิพย์ย้ายไปอยู่ที่อำเภอสันทราย อีกทั้งรับเจ้าอุษา มารดามาอยู่ด้วย (เจ้าอุษา เสียชีวิตปี พ.ศ.๒๕๐๔)

นายเจริญและเจ้าจันทร์ทิพย์ มีบุตรธิดารวม ๙ คน คือ นายเมืองใจ , นางยินดี , นายกิมเฮียง , นายกิมเฮง , นางกิมฟอง , นายบุญร่อน (บุตรคนหนึ่ง คือ นายธงชัย ระมิงวงศ์ อดีตเทศมนตรีนครเชียงใหม่) , นายสมคิดและนางมยุรี

สกุล "ระมิงวงศ์" เริ่มต้นจากนายเจริญ ทุ่งซิ้ว อพยพจากประเทศจีนมาสร้างฐานะที่ตลาดอำเภอสันทราย เป็นเจ้าของตลาดสันทราย ในยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายป้องกันภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์มีการเนรเทศชาวจีนที่สงสัยว่าฝักใฝ่ทางลัทธิคอมมิวนิสต์ออกจากประเทศไทย นายเจริญเป็นผู้หนึ่งที่ถูกรัฐบาลผลักดันกลับประเทศจีน ในครั้งนี้นายเจริญ ได้พาลูกชายกลับไปศึกษาที่ประเทศจีนด้วย

บุตรชายคนที่ ๖ คือ นายบุญร่อน ระมิงวงศ์ เล่าเหตุการณ์สมัยนั้นว่า

"ตอนที่เตี่ย(นายเจริญ)แต่งกับแม่ (เจ้าจันทร์ทิพย์) แม่แทบจะตัดจากตระกูล ณ เชียงใหม่เลยเพราะต้องมาอยู่กับครอบครัวเตี่ยที่เป็นคนจีน อาชีพค้าขาย แต่ก็น่าจะพอใจเพราะเตี่ยมีฐานะดีเป็นเจ้าของตลาดสันทรายและเป็นเจ้าของโรบ่มยาสูบอีกส่วนหนึ่ง ต่อมาชาวบ้านมาตั้งสหกรณ์ขายของ แต่ขายสู้เตี่ยไม่ได้ มีผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ไปยังรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีนโยบายไม่ชอบคนจีนอยู่แล้ว ก็ถูกส่งกลับเมืองจีน ตอนนั้นผมยังเด็ก เตี่ยพาไปเมืองจีนด้วยพร้อมกับพี่ชายอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นผมอายุ ๗ ขวบ(ประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๒) ไปเข้าเรียนโรงเรียนจีนตอนนั้นใส่เสื้อผ้าจากประเทศไทยซึ่งต่างจากเด็กจีนก็ถูกด่าว่า ฮวงนั้ง หมายถึงคนป่าคนเถื่อน เราโกรธ ถึงขั้นชกกันเราได้เปรียบเพราะเป็นมวยไทย ตอนหลังไม่กล้าล้ออีก อยู่เมืองจีนประมาณ ๕ ปี เริ่มมีข่าวว่าคอมมิวนิสต์จะเข้าครอบครองจีน จึงหนีกลับมาเชียงใหม่ ตอนนั้นเตี่ย เปลี่ยนชื่อนามสกุลเป็นไทย ก็เป็นการเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ระยะแรกๆก็ไม่เป็นไร ตอนหลังไปขัดแย้งกับนายอำเภอทำให้เตี่ยถูกตรวจสอบและถูกจับดำเนินคดี ทางญาติต้องวิ่งเต้นและขอให้เจ้าราชบุตร (เจ้าวงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ - โอรสของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย) ช่วยเหลือ เพราะแม่เรามีเชื้อสาย ณ เชียงใหม่ เจ้าราชบุตรคุ้นเคยกับจอมพลประพาส จารุเสถียร รัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ทำหนังสือไปถึงและต่อมาได้รับอนุมัติให้เป็นคนต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนคนต่างด้าวทั่วไป"

"ต่อมาครอบครัวของเราย้ายจากอำเภอสันทรายมาอยู่ถนนเจริญเมือง ย่านสันป่าข่อย ซื้อบ้านและค้าขายโชหิ่วย(ของชำ) เจ้าของเดิม คือ เจ้าแม่กาบแก้ว ตอนนั้นเจ้าแม่กาบแก้ว เสียชีวิตแล้ว กรรมสิทธิ์ตกเป็นของรุ่นลูก และลูกเขยคนหนึ่งเป็นทนายความอยู่จังหวัดลำพูน ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๘ เริ่มรื้อเรือนแพไม้ สร้างเป็นตึก"

เจ้าจันทร์ทิพย์ ภรรยาของนายเจริญเสียชีวิต ปี พ.ศ.๒๕๑๘

ผู้ที่โยงมาเกี่ยวข้องกับสกุล "ชินวัตร" คือ แม่ยินดี ระมิงวงศ์ ธิดาของเจ้าจันทร์ทิพย์และนายเจริญ ระมิงวงศ์

นางยินดา ชื่อจีน คือ กิมลี คำว่า "กิม" หมายถึงทอง ส่วน "ลี" หมายถึงปลายเงินปลาทอง เล่ากันว่าช่วงที่เกิดนางกิมลี นั้นครอบครัวของนายเจริญ ร่ำรวยจากการค้ามาก

แม่ยินดี มาพบรักและแต่งงานกับนายเลิศ ชินวัตร

นายเลิศ ชินวัตร นั้น เป็นรุ่นที่ ๓ ของสกุล ชินวัตร เดิมชื่อ นายบุญเลิศ แซ่คู เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายเชียงและนางแสง ชินวัตร เกิดปี พ.ศ.๒๔๖๒ ที่อำเภอสันกำแพง

สกุล "ชินวัตร" รุ่นแรกนั้นเริ่มต้นจากนายอากรเส็งและคุณนายทองดี ปักหลักสร้างฐานะจากบ้านบางกระจะ ตำบลบางกระจะ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บุตรธิดา คือ นายเชียง , นางมุ้งเซียน , นายเบี้ยว , นายเล็ก ต่อมาครอบครัวของนายอากรเส็งโยกย้ายเข้ากรุงเทพฯระยะหนึ่ง ต่อมาจึงย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ย่านวัดเกตการาม ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ อีก ๒ ปีต่อมาจึงโยกย้ายไปอยู่ที่อำเภอสันกำแพง ที่นั่นนายเชียง ชินวัตร บุตรชายของนายอากรเส็งได้แต่งงานกับสาวสันกำแพงนามว่า นางสาวแสง สมณะ สร้างฐานะจากการค้าขายและอุตสาหกรรมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม

นายเชียงและนางแสง ชินวัตร มีบุตรธิดารวม ๑๒ คน คือ นางเข็มทอง , พันเอกศักดิ์ , นายสม , นายเลิศ , นายสุเจตน์ , นางจันทร์สม , นางสมจิตร์ , นางเถาวัลย์ , นายสุรพันธุ์ , นายบุญรอด , นางวิไล ฯ และนางทองสุด (เพ็ชรลานนา,ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง,๒๕๓๘)

นายเลิศ ชินวัตร เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายเชียงและนางแสง ชินวัตร เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ต่อมาออกมาช่วยกิจการของครอบครัว

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อเลิศ ชินวัตร ปรากฏข้อมูลด้านความรักและชีวิตสมรสว่า "…เมื่ออายุได้ ๒๔ ปี นายเลิศก็พบรักกับนางสาวยินดี ระมิงวงศ์ คนพื้นเพอำเภอสันทราย ซึ่งขณะนั้นอายุ ๒๐ ปี โดยวันหนึ่งนางสาวยินดีนึกครึ้มอกครึ้มใจออกมาทำขนมครกขายเล่นๆ อยู่หน้าบ้านซึ่งอยู่ติดถนนที่อำเภอสันทราย ระหว่างนั้นนายเลิศขับรถผ่านไปเห็นเข้าพอดีก็เกิดความรู้สึกประทับใจในความน่ารักของนางสาวยินดี จึงเข้าไปทำความรู้จัก และสนิทสนมจนกระทั่งได้แต่งงานกันในปี พ.ศ.๒๔๘๖ จากนั้นนายเลิศได้พาภรรยาไปอยู่ที่บ้านตนเองในอำเภอสันกำแพง

"…ปี พ.ศ.๒๔๙๕ ขณะที่อายุได้ ๓๓ ปี นายเลิศก็พาภรรยาและลูกปลีกตัวออกจากอาชีพที่สืบทอดกันมาของตระกูล มองหาโอกาสที่ดีจากธุรกิจอื่นๆ โดยเริ่มจากเปิดร้านขายกาแฟและอาศัยอยู่ในห้องแถวซึ่งเป็นเพียงเรือนไม้ ๒ คูหาที่หน้าตลาดสันกำแพง โดยนายเลิศเป็นผู้ขายกาแฟ โม่กาแฟด้วยตนเอง ขณะที่นางยินดีผู้เป็นภรรยาได้นำเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆ มาวางขายในตลาด มีบุตรสาวและบุตรชาย คือ เด็กหญิงเยาวลักษณ์ อายุ ๗ ขวบ และเด็กชายทักษิณ ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ ๓ ขวบ มาช่วยบิดาเฝ้าร้าน ล้างแก้ว โม่กาแฟ ขายโอเลี้ยง บางวันก็นั่งบนรถเข็นล้อไม้ที่มารดาใช้เข็นนำเสื้อผ้าไปขายและช่วยเฝ้าแผงเสื้อผ้าในตลาดสันกำแพง…"

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ แสดงสาแหรกตระกูลชินวัตร นายเลิศและนางยินดี ชินวัตร มีบุตรธิดารวม ๑๐ คน คือ นางเยาวลักษณ์ คล่องคำนวณการ , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร , นางเยาวเรศ วงศ์นภาจันทร์ , นางปิยนุช ลิ้มพัฒนาชาติ , นายอุดร ชินวัตร(เสียชีวิต) , นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ , นายพายัพ ชินวัตร , นางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล , นางทัศนีย์ (เสียชีวิต)และนางยิ่งลักษณ์ อมรฉัตร

ดังจะเห็นการเชื่อมโยงของสกุล "ณ เชียงใหม่" ที่เริ่มจาก พ.ต.อ.เจ้าไชยสงคราม มายังสกุล "ชินวัตร" รุ่นของนายเลิศ ชินวัตร โดยมีสกุล "ระมิงวงศ์" เชื่อมโยงจากนางยินดี ระมิงวงศ์ ที่มีเชื้อสาย "ณ เชียงใหม่" จากรุ่นแม่ คือ เจ้าจันทร์ทิพย์ ณ เชียงใหม่(ธิดาของ พ.ต.อ.เจ้าไชยสงครามกับแม่อุษา)

การเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันระหว่างสกุล "ณ เชียงใหม่" กับสกุล "ชินวัตร" จะเป็นไปในลักษณะใดนั้น ยากที่จะมีผู้คาดเดาได้ ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับทฤษฎีหลักๆ ๒ ทฤษฎีที่ยังขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงและคงยากที่จะหาข้อสรุปว่าทฤษฎีใดเหมาะสมกว่ากัน

ทฤษฎีแรก คือ เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ สายเลือดเดียวกันย่อมมาก่อน ด้านตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมทั้งการเมืองเปรียบได้ดังหัวโขนที่เมื่อถอดทิ้งแล้วก็กลับกลายเป็นคนสามัญ ย่อมต้องมาละลายปนในเลือดดั้งเดิม ทฤษฎีนี้หลายคนบอกว่าเป็น "นามธรรม" เกินไป ยากที่จะปฏิบัติหรือยากที่จะหาจุดแห่งความเหมาะสมได้

ทฤษฎีที่สอง คือ การเมืองย่อมไม่เกี่ยวกับสายเลือดหรือญาติพี่น้อง การเมืองคือ การแข่งขัน ด้านผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ด้านการเงินทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงเกียรติยศชื่อเสียงบริวารด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างแยกครอบครัวย่อมให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าสิ่งอื่นใด จุดเด่นของทฤษฎีนี้ คือ มุ่งด้านการแข่งขัน มุ่งให้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งหวังความก้าวหน้าด้านการเมือง ระบบการปกครองที่พ้นจากระบบพรรคพวกเครือญาติ

แต่อย่างน้อย คำกล่าวที่ว่า "เราญาติกัน" ในวิถีของพลเมืองเหนือ น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างเสริมหรือแบ่งเบาภาระอันหนักหน่วงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังอึมครึมอยู่ในขณะนี้ได้บ้าง.

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท