อำนาจหน้าที่ กก.สมานฉันท์แห่งชาติ

อำนาจหน้าที่

1.หน้าที่ ให้คณะกรรมการอิสระ เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1.1 เสนอแนะนโยบาย มาตรการ กลไก และวิธีการสร้างสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมไทยโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างความยุติธรรม ลดความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ขจัดเงื่อนไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงและสร้างสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ

1.2 ศึกษา วิจัย และตรวจสอบสาเหตุ และขอบเขตของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบริบทของการก่อปัญหา ตลอดจนบทบาทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในและนอกพื้นที่ดังกล่าว

1.3 พัฒนากระบวนการฟื้นคืนสมานฉันท์ในสังคม กระบวนการป้องกันและแกไขปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรง รวมทั้งเผยแพร่กระบวรการดังกล่าวให้แพร่หลายในหมู่สาธารณชน

1.4 ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชน โดยให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง ตลอดจนความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง พร้อมกับส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมอันเป็นพลังสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยเคารพความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม

1.5 เสนอรายงานและคณะกรรมการต่อนายกรัฐมนตรี รายงานดังกล่าวเมื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ทันที

2.อำนาจ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีอำนาจดังนี้

2.1 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด

2.2 เชิญข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลมาให้ข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานหรือให้ส่งข้อมูลหรือความเห็นเป็นหนังสือมาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน

2.3 เรียกให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ส่งเอกสารหรือวัตถุที่เป็นของหรืออยู่ในความครอบครองของหน่วยงานนั้นๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ หรือ คณะทำงาน

2.4 จัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือหาข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

2.5 จัดการประชุม สัมมนา เวทีสาธารณะ การสานเสวนา และการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลทั้งในและนอกพื้นที่สามจังหวัดดังกล่าว

2.6 ขอความร่วมมือในการสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อสารมวลชนของรัฐ

2.7 ดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่บรรลุผล

ค.วิธีดำเนินการ

1. เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการได้โดยอิสระ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกคนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือไม่ก็ตาม แสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระปราศจากอาณัติผูกพันของหน่วยงานที่สังกัดอยู่

2. ในการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะ ให้คณะกรรมการดำเนินการสังเคราะห์ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง และสามารถให้บุคคลต่างๆจากทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อคณะกรรมการ

3. ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ให้นำปัญหาของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นปัญหาของผู้ก่อความรุนแรง เหยื่อความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ได้รับผลกระทบอื่นมาคำนึงโดยรอบด้าน

4. ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้คณะกรรมการให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ให้กรรมการและเลขานุการแจ้งให้ประธานกรรมการทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

5. ในกรณีที่ประธานกรรมการเห็นสมควรที่จะเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีก่อการเสนอรายงานตาม 1.5 ให้กรรมการและเลขานุการนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

6. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ และให้มีหน่วยธุรการของคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานอื่นอีกตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

7. เบี้ยประชุมประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการและเลขานุการ กรรมการและเลขานุการร่วมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

8. ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้เพียงพอกับการปฏิบัติของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2548
ลงชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท