Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2548 รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล 22 มีนาคม นายโสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันบางจาก ออกมาทวง "ค่าโง่น้ำมัน" จำนวน 6,600 ล้านบาทจากส่วนต่างราคาน้ำมัน

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ออกมาแก้ข้อกล่าวหาทันทีว่า "ค่าโง่" ที่นายโสภณ ทวงถามนั้นเป็นจำนวนสูงเกินจริง แท้จริงแล้วหากมีผู้ได้กำไรจากส่วนต่างของราคาครั้งนี้จริง ก็น่าจะอยู่ที่ 3,300 ล้านบาทเท่านั้น

"ถูกกล่าวหาว่าขโมยของไป กลับมาบอกว่าพูดไม่ถูกต้องไม่ได้ขโมยมากอย่างนั้นเสียหน่อย ขโมยนิดเดียว คำพูดแบบนี้ผมไม่เคยคิดว่าจะได้ยิน" นายโสภณ แสดงความรู้สึกภายหลังได้ฟังคำตอบ

อะไรคือค่าโง่ และจำนวนนับพันล้านบาท มาจากไหน ฯลฯ

ก่อนวันที่ 22 มีนาคม คนไทยเป็นหนี้ค่าน้ำมันลิตรละ 6 บาท

ก่อนวันที่ 22 มีนาคม 2548 คนไทยซื้อน้ำมันในราคาลิตรละ 15 บาท ทั้งที่ราคาจริงของน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 21 บาท เท่ากับว่า คนไทยจ่ายค่าน้ำมันไม่ครบตามราคาจริง โดยจ่ายสดที่ปั๊มน้ำมันจำนวน 15 บาท และติดหนี้ผู้ค้าน้ำมันไว้ลิตรละ 6 บาท

คำอธิบายของรัฐคือ รัฐบาลใช้กองทุนน้ำมัน ค้ำประกันเงินกู้ไว้โดยจ่ายแทนประชาชนไปก่อน เป็นจำนวนประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ ที่สุดแล้ว ประชาชนจะต้องเป็นผู้จ่ายในที่สุด ด้วยการขึ้นราคาน้ำมันในอนาคต และวันที่ประชาชนจะต้องจ่ายหนี้ค่าน้ำมันก็มาถึง...

หลังวันที่ 22 มีนาคม คนไทยจ่ายคืนหนี้ค่าน้ำมันลิตรละ 3 บาท เหลือหนี้ค้างอยู่อีกลิตรละ 3 บาท
รัฐบาลประกาศขึ้นค่าน้ำมันเท่ากันทั่วประเทศหลังเที่ยงคืนของวันที่ 22 มีนาคมจากราคาลิตรละ 15 บาท เป็นลิตรละ 18 บาท

หมายความว่า คนไทยจ่ายค่าน้ำมันเป็นเงินสด 18 บาท ยังติดหนี้เอาไว้อีก 3 บาท

ถามเข้าประเด็น 3,300 ล้าน มาจากไหน
ตัวเลขที่คนไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 3 บาทนั่นเองคือ ที่มาของเงิน 3,300 ล้านบาท จากคำอธิบายข้างต้นก่อนหน้านี้ คนไทยจ่ายเงินสด 15 บาทต่อลิตร และติดหนี้ ไว้ 6 บาท เมื่อรัฐบาลประกาศไม่อุ้มราคาน้ำมันแทนแล้ว ให้ประชาชนจ่ายเอง 3 บาท ประชาชนจึงต้องจ่ายค่าน้ำมันที่ปั๊มในราคา 18 บาท

ประเด็นคือ น้ำมันที่นำมาขายในวันที่ 22 มีนาคม เป็นน้ำมันที่ค้างสต็อกอยู่จำนวนอย่างต่ำ 1,100 ล้านลิตร ซึ่งต้องขายในราคา 15 บาทต่อลิตร เพราะประชาชนติดหนี้ไว้ 6 บาทซึ่งจะต้องติดตามคืนจากประชาชนด้วยการขึ้นราคาน้ำมัน

การเอาน้ำมัน อย่างน้อย 1,100 ล้านลิตร ออกมาขายในราคา18 บาท โดยเป็นน้ำมันจำนวนที่ประชาชนจะต้องจ่ายหนี้คืน 6 บาทในอนาคต เท่ากับผู้ค้าน้ำมันจะได้ค่าน้ำมันรวม 18 +6 = 24 บาท ทั้งที่ราคาน้ำมันจริงอยู่ที่ 21 บาท จึงเป็นกำไรเกินควร 24-21 = 3 บาท

น้ำมันค้างสต็อก1,100 ล้านลิตร คูณ 3 บาท = 3300 ล้านบาท

น้ำมันค้างสต็อกจำนวน 1,100 ล้านบาทจริงหรือ
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกมายอมรับว่า น้ำมันค้างสต็อกอยู่ 1,100 ล้านลิตร ฉะนั้นผู้ค้าที่มีน้ำมันค้างสต็อกอยู่จึงได้กำไรรวม 3,300 ล้านบาท

นายโสภณ ให้ข้อมูลว่าสต็อกน้ำมันทั่วประเทศมีประมาณ 2,000 ล้านลิตร แยกประเภทดังนี้

ผู้ค้า 141 บริษัท
แบ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ 30 บริษัท ผู้ค้ารายย่อย 111 บริษัท
ปั๊มน้ำมัน 18,947 ราย
จ็อบเบอร์ 40-50 ราย
รถบรรทุก 2,000 ราย
เรือน้ำมัน ไม่ทราบจำนวน

ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่น้ำมันค้างสต็อกจะมีค้างอยู่มรแหล่งเก็บน้ำมันเหล่านี้

คำถามถัดมา ราคาน้ำมันอยู่ที่ 21 บาทจริงหรือ
นายโสภณ อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมัน ผู้เปิดประเด็นทวงเงินค่าโง่น้ำมัน อธิบายว่า ค่าน้ำมันจำนวน 21 บาทนั้น ประกอบด้วย
ค่าน้ำมันจริง ๆ 16 บาท
กำไรของผู้ค้าน้ำมัน 1 บาท
รายได้และภาษีของผู้ค่าน้ำมัน 4 บาท (ประกอบด้วย เงินชดเชยให้แก๊สหุงต้ม ลิตรละ 50 สตางค์ รวม 12000 ล้านบาทต่อปี, ค่าสรรพสามิต ลิตรละ 2.54 บาท,ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มลิตรละ 99 สตางค์, และจ่ายให้กับสำนักนโยบายและแผนพลังงานลิตรละ 4 สตางค์)

"ราคาน้ำมัน ณ วันนี้ 16 บาท แต่ที่มันต้องขึ้นมาอีก 5 บาท มันก็คือกำไร ที่บอกว่าประชาชนติดหนี้กองทุนชดเชยค่าน้ำมันอยู่ 75,000 กว่าล้าน ที่เราต้องชดเชยราคาน้ำมันทั้งหมดในปีที่ผ่านมา มันไม่ใช่ราคาน้ำมันครับ เป็นกำไรของคนพวกนี้ แต่ 20,000 ล้าน เรายังจ่ายเขาไม่ครบ ไม่ใช่เรื่องน้ำมัน แต่เป็นเรื่องกำไรที่เราจ่ายเขาไม่ครบ" นายโสภณ สรุป พร้อมวิพากษ์ว่า โครงสร้างราคาที่ผลักภาระของผู้ค้าให้กับผู้บริโภคเช่นนี้ เกิดจากการกำหนดราคาโดยยึดผู้ค้าเป็นหลัก ไม่ได้ยึดถือประชาชนซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเป็นหลัก

เราจะพบว่าโครงสร้างราคาผิด เพราะกำหนดราคาโดยยึดผู้ได้รับเงิน ไม่ได้ยึดประชาชนซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินเป็นตัวหลักในการตั้งราคา

ราคาน้ำมันจาก 15 บาทเป็น 18 บาท ภายใน 1 คืน ไม่ใช่การลอยตัว

เวลาน้ำมันลอยตัว ปรากฏการณ์มันจะเกิดอย่างนี้ เช่น มีน้ำมันราคา 15 บาท มีของใหม่ราคา 18 บาท ก็จะมีของเก่าด้วยเขาก็จะผสมกันขาย อาจจะขาย 15.50 บาท 15.60 หรือ 15.70 เพื่อแข่งขันทางตลาด เพราะถ้าขึ้นราคาสูงคนจะไม่ซื้อ

สมมติ มีน้ำมันราคา 15 บาทค้างสต็อกอยู่สำหรับขายประมาณ 1 เดือน ตรมทฤษฎีก็จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน น้ำมันจึงจะขึ้นไปอยู่ที่ราคา 18 บาทเท่ากันหมด

แต่การขึ้นราคาเป็น 18 บาทเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ใช่การลอยตัว แต่เป็นการสั่งให้ขึ้นราคา

"คำพูดเขาไม่ตรงกับสิ่งที่เขาทำเลย ถ้าลอยตัวมันต้องค่อย ๆ ขึ้น ไม่ใช่ขึ้นทีเดียว 3 บาท"

แล้วอย่างไรต่อ

หลังจากขอคืน3,300 ล้านบาทแล้ว ก็ต้องติดตามต่อไปว่ายังมีน้ำมันค้างสต็อกอยู่ที่ไหนบ้าง

เป็นข้อเสนอของนายโสภณ ผู้เปิดประเด็น ซึ่งมีสมมติฐานว่า ค่าโง่น้ำมันครั้งนี้ไม่ใช่แค่ 3300 ล้านบาทเท่านั้น

"ประการแรกคือแจ้งจำนวนสต็อกไม่หมด ประการที่สองคือ นายกปฏิเสธ บอกว่ามีผู้ได้ประโยชน์จากส่วนต่างเพียง 3300 ล้านบาทเท่านั้น ก็ต้องเอา 3300 ล้านบาทนั้นมาคืนก่อน แล้วที่เหลือก็ไปตามมาจากสต็อก" นายโสภณ เสนอ

ใครรับผิดชอบ

สำหรับการตรวจสอบสต็อกน้ำมัน และเรียกเงินคืนนั้น ผู้มีอำนาจในการสั่งตรวจสอบคือนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน

ประเด็นสุดท้าย ใครตุนน้ำมัน

"ทีนี้มีอีกประเด็นหนึ่งที่คุณเมตตาพูดโดยบังเอิญซึ่งน่าตกใจมาก คือคุณเมตตา เขาตอบว่า สต็อกที่คุณโสภณว่าสต็อกที่คุณโสภณว่ามาจะมีได้อย่างไร เวลานี้สต็อกมันต่ำกว่าธรรมดาตั้งเยอะ เพราะมีคนซื้อเอาไปกักตุน

เป็นการสร้างอีกเรื่องขึ้นมาเลย คือมีการปล่อยให้คนซื้อจนน้ำมันในสต็อกมีจำนวนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

เท่าที่ทราบ ปตท. ต้องมีน้ำมันไม่ต่ำกว่า 260 ล้านลิตร และคนที่มีน้ำมันควรมีน้ำมันอยู่ในสต็อกไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน คำถามคือ มันหายไปไหน" อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมัน ผู้เปิดประเด็นค่าโง่น้ำมัน โยนประเด็นต่อเนื่องให้สังคมติดตามต่อไป

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net