Skip to main content
sharethis

นราธิวาส-31 มี.ค.48 นายนิเดร์ วาบา นายกสมคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรณีองค์กรนะห์ดอตุล อูลามา จากอินโดนีเซียจะส่งครูสอนศาสนามาสอนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนไม่ทราบว่า จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่ออินโดนีเซียเองก็ยังมีความวุ่นวายอยู่ ปัจจุบันครูสอนศาสนาในชายแดนภาคใต้มีเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องส่งมา มีมากพอถึงขั้นไปสอนที่อินโดนีเซียก็ยังได้

"ก่อนที่รัฐบาลจะส่งใครมา ควรต้องถามประชาชนในพื้นที่ก่อน แต่การมาของผู้นำองค์กรด้านศาสนาของอินโดนีเซียครั้งนี้ กลับไม่ถามอะไรกันก่อนเลย ผมห่วงว่าคนที่เขาส่งมาสอน จะเป็นสายลับ หรือเป็นคนของหน่วยสืบราชการลับสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามาล้างสมองมากกว่า" นายนิเดย์ กล่าว

นายอับดุลอาซิส ยานยา ประธานชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้อง ถ้านายอะหมัด อาชิม มูซาดี ประธานคณะกรรมการองค์กรนะห์ดอตุล อูลามา จากอินโดนีเซีย จะส่งคนมาช่วยสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเห็นว่า นายอะหมัด อาชิม มซาดี มาไทยด้วยท่าทีเป็นมิตร มีความจริงใจ และเป็นข้อเสนอกว้างๆ เท่านั้น

"ข้อเสนอนี้ แตกต่างจากวิธีการที่รัฐบาลมาเลเซีย จัดการกับครูสอนศาสนาและผู้นำศาสนา ที่มีแนวคิดรุนแรงและต่อต้านรัฐบาล ด้วยการใช้วิธีถอดถอนออกจากตำแหน่ง แล้วเอาคนของตนเข้าไปแทน ประเทศไทยทำแบบนั้นไม่ได้ รัฐบาลต้องฟังความเห็นของโต๊ะครูก่อน" นายอับดุลอาซิส กล่าว

นายอับดุลอาซิส เปิดเผยว่า ในสมัยที่นายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เคยเสนอตั้งคนของรัฐบาลเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกแห่ง ตนเป็นผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่า โรงเรียนบางแห่งไม่เคยมีปัญหา ไม่น่าจะต้องตั้งที่ปรึกษา ควรจะเลือกเฉพาะโรงเรียนบางแห่งที่มีปัญหาเท่านั้น ขณะนี้ทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อ โดยเลือกเฉพาะบางห่ง เช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เป็นต้น

นายอับดุลรอแม เจ๊ะแซ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และรองนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่องค์กรนะห์ดอตุล อูลามา จากอินโดนีเซีย จะส่งครูสอนศาสนามาสอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องผ่านรัฐบาล เพราะเป็นแนวทางที่โปร่งใสไม่เป็นที่หวาดระแวงของประชาชน หรือหน่วยงานราชการ อีกทั้งองค์กรนี้เป็นองค์กรใหญ่ มีหลายมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับ ทำให้การเรียนการสอนศาสนามีคุณภาพ จึงต้องการเข้ามาพัฒนาการเรียนการสอนด้านศาสนาในพื้นที่ภาคใต้ ตนเชื่อว่าองค์กรนี้เข้ามา เพราะรัฐบาลไทยต้องการจับตาครูสอนศาสนา ที่จบจากอินโดนีเซีย

นายอับดุลรอแม กล่าวอีกว่า การส่งครูสอนศาสนามามีความเป็นไปได้มาก โดยตนคิดว่าจะต้องเดินทางไปที่ประเทศอินโดนีเซียอีกครั้ง เพื่อดูรูปแบบการดำเนินงานขององค์กร องค์กรนะห์ดอตุล อูลามา ซึ่งตนจะหารือกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส อีกครั้ง

นายจรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า องค์กรนะห์ดอตุล อูลามา ได้ความไว้วางใจจากรัฐบาลไทยเพราะยึดทางสันติ สถานะขององค์กรนี้สำคัญมากในประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ ดังนั้น จึงอาจจะเป็นสะพานเชื่อมปรับความเข้าใจระหว่างไทยกับโลกมุสลิมได้ ในช่วงที่ความสัมพันธ์ไม่ค่อยจะสู้ดี หลังจากเกิดเหตุรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ และกรณีสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อปี 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net